สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

สรุป 3 ประเด็นสำคัญจากงาน SITE 2023 ปักหมุดพัฒนาสตาร์ทอัพไทยออกสู่ตลาดโลก

25 กรกฎาคม 2566 1,843

สรุป 3 ประเด็นสำคัญจากงาน SITE 2023 ปักหมุดพัฒนาสตาร์ทอัพไทยออกสู่ตลาดโลก


สตาร์ทอัพไทยไม่หยุดนิ่ง ว่าด้วยการพัฒนา และความท้าทายที่ผู้ประกอบการควรรู้ก่อนเดินเกมต่อ

ย้อนกลับไปในปี 2016 ที่ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยค่อยๆ ก่อตัวขึ้น เริ่มจากการมีจำนวนสตาร์ทอัพเพียงแค่ไม่กี่ราย มีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านการลงทุนเฉพาะกลุ่ม และจำกัดแค่ในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยเดินหน้าผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างเต็มที่ ทำให้ปัจจุบันระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยเฉพาะในปี 2023 นี้ เรียกได้ว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก จนสามารถคว้าอันดับที่ 52 ของโลกในการจัดอันดับ Global Startup Ecosystem Index ปี 2023 โดย StartupBlink ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกถึงภาพรวมของระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยจากงาน SITE 2023 ว่าเวลานี้มีความก้าวหน้าอะไรที่เป็นประเด็นสำคัญ เราควรจะเดินหน้าไปทางไหน และมีความท้าทายอะไรในอนาคตที่รออยู่บ้าง

เริ่มที่ประเด็นแรกคือ ประเทศไทยเริ่มมีการเพิ่มจำนวนของ University Holding Company ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคการศึกษาของไทยเรานี้ มีการขานรับในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อต่อยอดนำผลงานออกไปจัดตั้งบริษัท โดยสิ่งนี้ยังได้มีการวางเป้าหมายออกมาเป็นนโยบายไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม การเร่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทให้ได้จำนวน 1,000 บริษัท และต้องการสร้าง 5 บริษัทผู้ประกอบการไทยที่จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันไปถึงระดับโลก

นอกจากนั้นเรายังเห็นการพัฒนาอีกประเด็นในฝั่งภาคศึกษา ที่เริ่มมีการเพิ่มหลักสูตรบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการขึ้นมาตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นไปที่การขยายการเติบโตไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงยังมีคอร์สพิเศษที่ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปแสวงหาความรู้ ซึ่ง NIA ก็มีโครงการ NIA Academy MOOCs แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ด้านนวัตกรรม โดยองค์ความรู้ที่เผยแพร่นั้น จะสามารถนำไปต่อยอดใช้สร้างสรรค์ธุรกิจ จนกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนที่จะช่วยเพิ่มจำนวนบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ 

🚀 ประเด็นที่สองต่อจากการปรับตัวของภาคการศึกษาที่เน้นการสร้างผู้ประกอบการตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย เราก็ยังเห็นการเปลี่ยนแปลงของสตาร์ทอัพในรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกหรือ “DeepTech” ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดในสัดส่วนเพิ่มมาถึง 65 บริษัทในระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น เมื่อสตาร์ทอัพแต่ละสาขามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจึงเกิดการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสมาคม เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริม รวมถึงเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศทั้งหมด และแต่ละสมาคมยังให้ความร่วมมือในการจัดผังกลุ่มเครือข่าย (Mapping) ซึ่งจะสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการบริหาร และเป็นภาพรวมให้นักลงทุนเห็นโอกาสในการเข้ามาให้การสนับสนุนอีกด้วย

♻ จากการพัฒนาที่เกิดขึ้น ก็มาถึง ‘โอกาสที่รอให้เราเดินหน้า’ ซึ่งหากได้ติดตามสถานการณ์ทั่วโลกก็จะเห็นว่า ทุกภาคส่วนพากันหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจด้านความยั่งยืน จึงเป็นโอกาสของเหล่าสตาร์ทอัพในการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ สอดคล้องไปกับรายงานจาก Global Sustainable Investment Alliance ที่ได้เปิดเผยไว้ว่าการลงทุนด้านความยั่งยืนในปี 2020 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 35.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนั้นในรายงานของ OECD ยังได้เปิดเผยอีกว่า แม้ทั่วโลกกำลังเดินหน้าไปยังทิศทางเดียวกัน แต่ก็ยังขาดการลงทุนตามเป้าหมาย SDGs อีกกว่า 60% โดยเฉพาะในหมวด Planet ที่เกี่ยวกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพ ภูมิอากาศ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าในอีก 6 ปีข้างหน้าจะมีเงินลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาอีกเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2030 ที่แต่ละประเทศได้ลงนามไว้ ดังนั้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Neutral Carbon และ Zero Carbon จะกลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่ยังมีช่องทางให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพเร่งสร้างนวัตกรรมช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สิ่งที่ท้าทายสุดท้ายในเวลานี้สำหรับสตาร์ทอัพไทย คือการขยายขนาด ปรับ Mindset เพื่อแสวงหาโอกาสจากตลาดต่างประเทศ โดยตอนนี้สตาร์ทอัพไทยสามารถสร้างผลงานโดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐได้มีการลงทุนไว้ ไม่ว่าจะเป็น Co-Working Space หรือเครื่องมือสำหรับทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายและมาตรการภาครัฐเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพ NIA ได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (พรบ. สตาร์ทอัพ) ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเสนอร่าง พรบ. เข้าสู่สภาฯ ต่อไป 

แม้จะมีอุปสรรคแต่การเติบโตของสตาร์ทอัพไทยก็ไม่ได้นิ่งเฉย ยังคงมีหนทางสู่การพัฒนาเพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเราได้มาลองทบทวนกันก็จะช่วยให้มีความหวังต่อไปสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเชื่อว่าปลายทางที่จะได้เห็นโอกาสเติบโตของสตาร์ทอัพทะยานไปสู่เวทีโลกคงเกิดขึ้นได้อีกไม่ช้า

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.youtube.com/watch?v=CNBgzXj3UbU&t=1016s 
https://www.startupblink.com/startup-ecosystem/thailand  
https://www.nxpo.or.th/th/wp-content/uploads/2023/06/แนวทางปฏิบัตินิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน-Holding-C.pdf 
https://moocs.nia.or.th/ 
https://urbancreature.co/yutthana-srisavat-thai-startup/#:~:text=สรุปอย่างย่นย่อให้คน,เฉิดฉายได้ในระดับสากล 
https://www.sdgmove.com/2021/07/20/sustainable-investments-account-more-than-third-global-assets-2021/ 
https://www.oecd.org/wise/The-short-and-winding-road-to-2030-Policy-Insights-September-2022.pdf 
https://www.thaipost.net/economy-news/325932/