สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ทุเรียนไทย: อัญมณีแห่งรสชาติและและสารอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม

25 มีนาคม 2568 1,066

ทุเรียนไทย: อัญมณีแห่งรสชาติและและสารอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม

ทุเรียนไทย: อัญมณีแห่งรสชาติและและสารอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม

ทุเรียนไทยไม่เพียงมีรสชาติยอดเยี่ยม แต่ยังเต็มไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องจะช่วยรักษาตำแหน่งในตลาดโลกและเพิ่มมูลค่าการส่งออกในอนาคต

 

คุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการของทุเรียนไทยเทียบกับทุเรียนจากจีน

จากผลงานวิจัยจาก Hainan Academy Agricultural Sciences [1] พบว่า ทุเรียนที่ปลูกในจีนมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่าทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเช่น ทุเรียนพันธุ์หมอนทองในจีนไม่มีสาร เควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการอักเสบและการติดเชื้อ อีกทั้งยังช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายจากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจและมะเร็ง [2] ในขณะที่ทุเรียนก้านยาวจากจีนมีเควอซิทินต่ำกว่าทุเรียนจากไทยถึง 520 เท่า และต่ำกว่าทุเรียนหมอนทองจากไทยถึง 540,000 เท่า

 

สารสำคัญอีกชนิดที่มีประโยชน์ในทุเรียน คือ กรดแกลลิก (Gallic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูง พบในทุเรียนหมอนทองไทยมากกว่าทุเรียนจีนถึง 906 เท่า [1] สารนี้ช่วยลดความเสื่อมสภาพของเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยปกป้องเซลล์จากการเสื่อมสภาพ และลดการอักเสบของผิวหนัง

 

ทุเรียนไทย: แหล่งสารอาหารที่สำคัญ

งานวิจัยชี้ชัดว่า ทุเรียนไทยมีเควอซิทินสูงสุดถึง 2,549.30 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และยังมีสารอาหารที่หลากหลายและมีปริมาณสูง ดังนั้นการบริโภคทุเรียนไทยไม่เพียงแต่ให้รสชาติที่ดีเยี่ยม แต่ยังเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีคุณค่าทางสุขภาพอีกด้วย

 

ตลาดทุเรียนไทยในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

ไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าใน 6 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิรไทย และในปี 2566 จีนบริโภคทุเรียนถึง 91% ของตลาดโลก ข้อมูลจากสมาคมตลาดสินค้าเกษตรจีน (CAWA: China Agriculture Wholesale Market) [4] ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับทุเรียนไทยในปัจจุบัน โดยทุเรียนไทยยังได้เปรียบเรื่องรสชาติ รวมทั้งคุณภาพและสารอาหารที่โดดเด่น

 

ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกทุเรียนไปจีนในตอนนี้ได้แก่ เวียดนาม และมาเลเซีย โดยมีการคาดการณ์ว่าในอนาคต อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะเป็นผู้เล่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในการแข่งขันตลาดทุเรียนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมตัวและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด อย่างไรก็ตามการส่งออกทุเรียนไปจีนยังคงมีข้อจำกัดที่สำคัญ โดยเฉพาะข้อกำหนดที่เข้มงวดของจีนเกี่ยวกับการนำเข้าทุเรียน เช่น ผู้ปลูกและโรงบรรจุต้องมีการแสดงหลักฐานและเอกสารที่ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัยและคุณภาพที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังต้องมีการบันทึกการควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ [5] ซึ่งทำให้การส่งออกไปจีนเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ส่งออกรายใหม่ที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับข้อกำหนดเหล่านี้

 

สตาร์ทอัพด้านการเกษตรพัฒนาทุเรียนไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ดำเนินการบ่มเพาะและมอบทุนสนับสนุนให้สตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และสร้างตลาดใหม่ ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยมี 7 ทีมที่มีเทคโนโลยีโดดเด่นในด้านการปลูกและตรวจสอบคุณภาพทุเรียน [7-11] ได้แก่

สตาร์ทอัพด้านการเกษตรพัฒนาทุเรียนไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิต ความแข็งแรงและทนต่อโรค

1. Pureplus: หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้รับการปรับปรุงด้วยลำแสงไอออนพลังงานต่ำ (low-energy ion beam modified microbiial strains) สำหรับการยับยั้งและป้องกันเชื้อโรคในพืชเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพสูง โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มความสามารถของจุลินทรีย์ในการต้านทานเชื้อโรค และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีในการเกษตรและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

2. Morena: สารเสริมประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับพืชด้วยเทคโนโลยีนำส่งระดับนาโน ส่งผลให้พืชสามารถดูดซึมสารได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยในกลุ่มผู้ปลูกทุเรียน สามารถแก้ปัญหาโรคต่างๆ และสามารถฟื้นฟูต้นพร้อมออกลูกได้

3. Biom: เทคโนโลยีจุลินทรีย์คึกคักได้รับการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยฟื้นฟูคุณภาพดินจากสารเคมีตกค้าง พร้อมทั้งส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงสำคัญของการปลูกทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นทุเรียนมักเกิดอาการอ่อนแอและใบเหี่ยวเฉา จุลินทรีย์คึกคักสามารถช่วยฟื้นฟูต้นทุเรียนให้กลับมามีใบเขียวสดใส เสริมสร้างความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของต้น ส่งผลให้การเจริญเติบโตในฤดูกาลถัดไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิต ความแข็งแรงและทนต่อโรค

การบริหารจัดการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. DURICO: ระบบบริหารจัดการฟาร์มทุเรียนเพื่อประเมินปริมาณและคุณภาพของทุเรียนโดยใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและจัดการผลผลิต ลดต้นทุนแรงงาน และเพิ่มความแม่นยำในการประเมินผลผลิต พร้อมทั้งให้ข้อมูลเชิงลึกสำหรับการตัดสินใจในการบริหารฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ

5. FarmConnect Asia: ระบบบริหารจัดการการให้น้ำและปุ๋ย (Precision Irrigation) ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็นสมองอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในกลุ่มผู้ปลูกทุเรียน ที่ประกอบด้วยชุดเซ็นเซอร์สถานีดิน สถานีอากาศ ชุดควบคุมการให้น้ำให้ปุ๋ย พร้อมแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการให้น้ำและปุ๋ยอย่างแม่นยำให้ตรงตามความต้องการของทุเรียน ทำให้เพิ่มอัตราการเจริญเติบโต ลดต้นทุนพลังงาน ระยะเวลาทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปุ๋ย และเพิ่มกำไรได้เพิ่มมากขึ้น

6. Insecto: กับดักแมลงโซล่าเซลล์อัตโนมัติ พร้อมระบบคาดการณ์การระบาดแมลงศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยส่งข้อมูลภาพชนิดและจำนวนแมลงศัตรูพืชแจ้งเตือนผ่านไปยังสมาร์ทโฟน เพื่อให้เกษตรกรเตรียมตัววางแผนและป้องกันการระบาดของแมลง ส่งผลให้เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีที่เกินความจำเป็น ช่วยลดต้นทุนในการผลิต ลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี และปัญหาทางสิ่งแวดล้อม

การบริหารจัดการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การควบคุมคุณภาพผลทุเรียน

7. Durian AI: ระบบอัตโนมัติสำหรับคัดเกรดคุณภาพทุเรียนส่งออก โดยใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงและปัญญาประดิษฐ์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกให้รวดเร็วและแม่นยำ ลดความเสียหาย ลดต้นทุน และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

การควบคุมคุณภาพผลทุเรียน

เอกสารอ้างอิง

  1. https://www.scmp.com/news/china/science/article/3291480/scientists-find-key-nutrient-missing-china-grown-durian?module=perpetual_scroll_0&pgtype=article 
  2. Azeem M., Hanif M., Mahmood K., Ameer N., Chughtai F.R.S., Abid U. An Insight into Anticancer, Antioxidant, Antimicrobial, Antidiabetic and Anti-Inflammatory Effects of Quercetin: A Review. Polym. Bull. 2023;80:241–262. doi: 10.1007/s00289-022-04091-8.
  3. Badhani, B.; Sharma, N.; Kakkar, R. Gallic Acid: A Versatile Antioxidant with Promising Therapeutic and Industrial Applications. RSC Adv. 2015, 5, 27540–27557.
  4. https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Fruit-Export-ebr4036-2024-02-16.aspx 
  5. https://thaipublica.org/2024/07/asean-weekly-roundup-257/Aziz, N., Mhd, J.A., 2019. Bioactive Compounds, Nutritional Value, and Potential Health Benefits of Indigenous Durian (Durio Zibethinus Murr.) A Review. Foods.,8(3) :96. doi: 10.3390/foods8030096.
  6. Tran, H.K., Nguyen, N.P.N., Nguyen, T.T.T.et al. (2024). Extraction of flavonoids from durian (Durio zibethinus) fruit rinds and evaluation of their antioxidant, antidiabetic and anticancer properties. International Journal of Food Science & Technology, 59, 1409–1420. https://doi.org/10.1111/ijfs.16886.
  7. https://www.nia.or.th/bookshelf/view/243 
  8. https://www.nia.or.th/bookshelf/view/244 
  9. https://www.nia.or.th/AgBioTech-trends 
  10. https://www.morena.co.th/th 
  11. https://www.farmconnectasia.com/ 

 

บทความโดย
จุฑามาศ บุญชัย (กวาง)
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)