สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ทะยานแบบ “เต่าบิน” ถอดความสำเร็จการออกแบบ Robotic Barista ที่ทำกำไรได้วันละล้านบาท

18 พฤศจิกายน 2565 5,230

ทะยานแบบ “เต่าบิน” ถอดความสำเร็จการออกแบบ Robotic Barista ที่ทำกำไรได้วันละล้านบาท

คิดสิ คิดสิ คาปูชิโน่ เอสเปรสโซ่ อาราบิก้า..

ที่ต้องคิดเยอะแบบนี้ก็เพราะว่า “ตู้เต่าบิน” หรือตู้ Robotic Barista นั้นเปรียบเหมือนคาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ที่มีเมนูให้เลือกมากมาย แถมไม่ต้องช็อตฟิลรอบาริสต้าชงนาน เพราะแค่ไม่กี่วินาทีก็จะได้เครื่องดื่มทั้งร้อนและเย็นให้ได้ลิ้มลองในเวลาเร่งรีบ ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์สุดไวรัลจนใครๆ ก็ต้องมาต่อแถวซื้อกัน กระแสที่แรงเช่นนี้ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นบริเวณคอนโด ศูนย์กลางค้า หรืออาคารต่างๆ ที่มีผู้สัญจรเป็นจำนวนมาก ก็มักจะมีตู้เต่าบินตั้งอยู่เสมอ

ด้วยเมนูที่หลากหลายนับร้อยเมนู ราคาที่ย่อมเยา การบริการที่รวดเร็ว สะอาดปลอดภัย แถมรองรับการจ่ายเงินในหลายช่องทาง ทำให้ “เต่าบิน” ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบันสามารถทำรายได้มากถึง 2.47 แสนล้านบาท หรือถ้าคิดเป็นกำไรต่อวันสูงถึงหลักวันละล้านบาทเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นอีกนวัตกรรมของคนไทยที่น่าจับตา แต่กว่าจะมาเป็นตู้เต่าบินที่ทุกคนรู้จัก เคยสงสัยกันไหมว่าไอเดียนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และใครคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้

จากไอเดียตู้ขายน้ำกระป๋องที่มีอยู่ทั่วตลาด สู่ตู้ทำน้ำอัตโนมัติที่มีจำนวนสิทธิบัตรมากถึง 35 รายการ

เริ่มมาจากการล้มแล้วลุก เพราะตู้เต่าบินคือหนึ่งในผลงานจาก บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยพัฒนานวัตกรรมตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือที่ตั้งอยู่ทั่วทุกที่ทั่วไทย อย่าง “ตู้บุญเติม” มาแล้ว แต่สำหรับตู้เต่าบินนั้นเริ่มมาจากการที่บริษัทต้องการทำตู้ขายน้ำกระป๋อง ซึ่งทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดี แต่ก็ต้องล้มเลิกไป เพราะพอหักลบต้นทุน ค่าแรงก็ไม่คุ้มทุน แถมมีคู่แข่งหลายรายที่อยู่ในตลาดนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จดังใจหวัง

ผู้นำองค์กรรวมถึงทีมวิศวกรจึงร่วมกันหาแนวทางใหม่ โดยนำสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วซึ่งก็คือตู้จำหน่ายสินค้าแบบเกลียวหมุน (Spiral Vending Machine) มารื้อและพัฒนาระบบเครื่องใหม่จนกลายมาเป็นตู้เต่าบินเวอร์ชันแรกขึ้นมา โดยสิ่งที่ทำให้ไม่เหมือนใครเลยก็คือ การตั้งระบบให้เครื่องใส่ผงลงแก้วแล้วชงในแก้วได้เลย ต่างกับเครื่องชงกาแฟทั่วไปที่ต้องทำความร้อนก่อนเพื่อละลายจนเป็นน้ำให้เราดื่ม ทำให้ได้อรรถรสเหมือนได้มาจากมือบาริสต้า ซึ่งในปัจจุบันตู้เต่าบินสามารถทำได้มากถึง 170 เมนู และมีสิทธิบัตรในเครื่องมากถึง 35 รายการ

“คนต้องการคาเฟ่แบบ 24 ชั่วโมง” เข้าใจ Pain Point ลูกค้า แล้วพัฒนามาเป็นบริการที่ครองใจคน

แค่ที่มาที่ไปก็ว่าปังแล้ว! แต่การจะมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ครองใจคนและยืนระยะได้เป็นเวลานานไม่ใช่เรื่องง่าย อีกหนึ่งส่วนที่ทำให้เต่าบินครองใจลูกค้าได้จำนวนมากได้ นั้นมาจากแนวคิด “Customer Centric” ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง อะไรที่เป็น Pain Point เต่าบินก็เข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

ตั้งแต่ ความต้องการคนในปัจจุบันที่ต้องการคาเฟ่ที่เปิดแบบ 24 ชั่วโมง ตู้เต่าบินก็สามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมงแบบไม่มีวันหยุด จะมีช่วงพักแค่ช่วงพนักงานมาเติมวัตถุดิบหรือซ่อมบำรุงเท่านั้น หรือลูกค้าโดยส่วนใหญ่มีทั้งคนที่ชอบเครื่องดื่มแบบหวานและไม่หวาน ก็มีเมนูให้เลือกระดับความหวานได้ ไม่มีเงินสดก็สามารถสแกนจ่ายผ่านตู้หรือตัดผ่านบริการทางการเงินอื่นๆ ได้สะดวก แถมมีระบบคูปองและสมาชิก ที่เป็นการเก็บกระดองแล้วสามารถนำมาแลกน้ำฟรีได้ในภายหลัง ก็ยิ่งทำให้เกิดความ Royalty ต่อแบรนด์มากขึ้น และอีกหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับใครหลายคนก็คือ การออกแบบ User Experience ที่อธิบายในแต่ละขั้นตอนแบบเข้าใจง่าย ทำให้ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นใหญ่ก็สามารถเข้ามาใช้บริการตู้เต่าบินได้

“Made in Thailand” สร้างทีม สร้างนวัตกรรม โดยคนไทยเพื่อคนไทย ในทุกรายละเอียด

ในความสำเร็จทั้งหมดนี้ สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ “คน” หรือ “นวัตกร” ที่ได้สร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นมา ตู้เต่าบินนับเป็นอีกนวัตกรรมที่ทำโดยคนไทยเองทั้งหมด โดยทีมผู้บริหารให้ความเป็น Ownership สูงมากกับทีมผู้พัฒนา ทุกกระบวนการวิจัยและพัฒนา (R&D) เกิดขึ้นจากทีมวิศวกรภายในบริษัทเองทั้งหมด และมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบออกเป็นส่วนๆ ได้ชัดเจน

ตั้งแต่กระบวนการเตรียมวัตถุดิบอย่างการดูแลชุดผง ไซรัป ไปจนถึงส่วนที่เป็นอุปกรณ์จักรกล การดูแลหัวชง แขนชั่งแก้วและการล้าง แม้แต่ถาดกันมดก็ผ่านวิธีคิดมาเป็นอย่างดี ส่วนไหนที่ต้องจดสิทธิบัตร ก็ให้สิทธิ์ผู้พัฒนาลงชื่อของตัวเองไว้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำ Data ที่ได้มาจากการซื้อขายมาวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมออีกด้วย ทำให้เต่าบินสามารถสร้างการเติบโตขึ้นไปได้เรื่อยๆ จนมีการประเมินกันว่า ในไตรมาส 3 ของปี พ.ศ. 2565 มีจำนวนตู้กว่า 3,572 ตู้ และภายใน 3 ปีนี้ (พ.ศ. 2565-2667) บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าจะมีตู้เต่าบินมากถึง 20,000 ตู้ ทั่วประเทศไทย

นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จและสร้างปรากฏการณ์ได้เช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ “ตู้เต่าบิน” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ประเภท การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ในการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2565 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มาครองได้ในที่สุด

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.brandbuffet.in.th/2022/05/tao-bin-cafe-is-planning-for-an-ipo/
https://thestandard.co/tao-bin-a-robotic-barista-suscess/
https://capitalread.co/taobin/
https://futuretrend.co/taobin-customer-centric/