สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA โดยศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย นำ 13 กลุ่มสตาร์ทอัพหารือร่วม รมว.อว.ระดมแนวทางช่วยเหลือและฟื้นฟูจากโควิด-19

News 8 พฤษภาคม 2563 3,737

NIA โดยศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย นำ 13 กลุ่มสตาร์ทอัพหารือร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ระดมแนวทางช่วยเหลือและฟื้นฟูสตาร์ทอัพช่วงวิกฤตจากโควิด-19


NIA ในฐานะผู้ขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) ระดับประเทศ เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้มีการหารือร่วมกับผู้แทน 13 กลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อจัดทำร่างนโยบายการพัฒนาสตาร์ทอัพเพื่อให้สามารถอยู่รอดในสภาวะวิกฤตนี้ (เมื่อวันที่ 30 เมษายน) โดยมุ่งเน้นพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการพัฒนาระบบนิเวศขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดการเติบโตไปในระยะกลางและระยะยาวเกิดเป็นการสร้างโอกาสใหม่ เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่เป็น New S-Curve

สถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมหลายอย่าง ถือว่าเป็นตัวเร่งสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ (Disruption) และเร่งให้เกิดการปรับและทบทวนครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากแนวทางเดิมสู่การหาแนวทางการสร้างงานแห่งอนาคต และกฎเกณฑ์กติกาที่จะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ซึ่งเห็นตัวอย่างจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำที่ผ่านมา สามารถสร้างธุรกิจใหม่เติบโตในโลกที่มีปรากฎการณ์ใหม่ (New Normal) เกือบร้อยละ 25 - 50 เป็นวิสาหกิจเริ่มต้นที่เกิดขึ้นใหม่

สำหรับข้อเสนอ 5 แนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้สตาร์ทอัพสามารถก้าวต่อไป ได้แก่

1) แนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่สตาร์ทอัพทุกระดับตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงระดับที่ได้รับการลงทุนแล้ว ด้วยการปรับเปลี่ยนและลดเงื่อนไขให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น การสนับสนุนเงินทุนให้เกิดการใช้งานของแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพไทย รวมไปถึงการรักษากำลังคนที่มีคุณภาพและธุรกิจให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานให้กับภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของสตาร์ทอัพไทย 

2) แนวทางฟื้นฟูตลาดและการพัฒนาตลาดใหม่ เพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค และวิสาหกิจเริ่มต้น ร่วมเป็นช่องทางการตลาดแบบใหม่ ตลอดจนภาครัฐและเอกชนสนับสนุนบริการของสตาร์ทอัพไทย และลดขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้สามารถเข้าถึงได้

3) แนวทางการสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจ ผ่านมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน รวมถึงผลักดันกฎหมายเพื่อสนับสนุนการให้บริการของสตาร์ทอัพ เช่น เรื่อง Telemedicine

4) แนวทางการส่งเสริมความรู้และการพัฒนาสตาร์ทอัพ เกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กร ร่วมกับการ Re-skill และ Upskill เพื่อช่วยพัฒนาความสามารถของกำลังคนให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น

5) แนวทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและสร้างแนวทางใหม่ เช่น การรับรองสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ เพื่อ สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนและการเป็นตัวเลือกในการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรม Content

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อว. รับข้อเสนอแนวทางไว้พิจารณาอย่างเร่งด่วนในแนวทางการให้ความช่วยเหลือสตาร์ทอัพในระยะสั้น ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนเพื่อสร้างสภาพคล่องในด้านต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งสำคัญที่ควรมาร่วมคิดร่วมกันคือ แนวทางการฟื้นฟูในระยะยาวในการสร้าง “Post-COVID Startup Movement” ด้วยการสร้างให้เกิดความต้องการซื้อและการจ้างงานใหม่ โดยมีความเกี่ยวข้องใน 4 โจทย์สำคัญ ได้แก่

1) การปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐมาใช้บริการของสตาร์ทอัพที่มีอยู่แล้วในตลาดและสามารถตอบโจทย์การดำเนินงานของภาครัฐได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้เข้ามามีส่วนช่วยฟื้นฟูธุรกิจของสตาร์ทอัพ

2) ส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของวิสาหกิจเริ่มต้นในรูปแบบ Consortium เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถเข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอไอเดียใหม่ในการพัฒนาประเทศไทยที่ส่งกระทบที่สำคัญในวงกว้างกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น BCG model ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายส่วนทั้งเกษตรและอาหาร ด้านการแพทย์และสุขภาพ พลังงาน ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่สังคมไร้เงินสด ระบบการแพทย์ทางไกล การทำงาน/เรียนจากที่บ้าน หรือ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ 

3) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี หรือบริษัทขนาดใหญ่ ในการแลกเปลี่ยนหรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน ในลักษณะ Enterprise Trade Startup 

4) การส่งเสริมการพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่และการดำเนินความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ในลักษณะ Re-inventing University

ดร. สุวิทย์ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า กลุ่มสตาร์ทอัพไทยมีความสามารถ และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในโลกหลังโควิด ที่แต่ละประเทศจะเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งภายในประเทศ ดังนั้น เราต้องช่วยกันส่งเสริม เศรษฐกิจระดับภูมิภาค และเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เติมพลังให้กับส่วนล่างของปิระมิด เสริมความเข้มแข็งยกระดับไปสู่ยอดของปิระมิดต่อไป