สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

‘มนุษย์’ กับความพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดด้านอาหาร เปิดชื่อสตาร์ทอัพที่น่าสนใจจาก SPACE - F

24 เมษายน 2567 2,996

‘มนุษย์’ กับความพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดด้านอาหาร เปิดชื่อสตาร์ทอัพที่น่าสนใจจาก SPACE - F


🍽 ไม่ว่ายุคสมัยไหน สิ่งที่มนุษย์ต้องต่อสู้ดิ้นรนกันอยู่เสมอก็คือเรื่องของ “การหาอาหาร”

🌎 ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ถึงแม้จะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่เราก็ไม่อาจหลีกหนีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนทรัพยากรหรือความมั่นคงทางอาหารได้ NIA จึงให้ความสำคัญในการส่งเสริม สตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีอาหาร ผ่านโครงการ SPACE-F ที่สนับสนุนธุรกิจให้มีการพัฒนานวัตกรรม สร้างผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงการส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจ และนักลงทุนที่มีศักยภาพจากทั่วโลก

👩‍🔬 โดยในโครงการ SPACE–F รุ่นที่ 4 นี้ มีเหล่าสตาร์ทอัพที่น่าสนใจหลายบริษัทที่เข้าร่วม เราจึงจะพาไปดูกันว่ามีใครที่น่าสนใจอยู่บ้าง โดยขอคัดเลือกตัวแทนมาให้เห็นจาก 3 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นวัตกรรมการผลิตโปรตีนทางเลือก นวัตกรรมการผลิตอาหารสัตว์ และนวัตกรรมการผลิตส่วนผสมและเครื่องดื่มในอาหาร

📈 เริ่มจากนวัตกรรม “การผลิตโปรตีนทางเลือก” ซึ่งถือเป็นภาพอาหารแห่งอนาคตที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องไม่หยุด จากข้อมูลของ The Business Research Company ได้ระบุว่าในปี 2024 มูลค่าทางการตลาดของอุตสาหกรรมนี้จะมีมากถึง 52.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งนี้ทำให้สตาร์ทอัพหลายเจ้าพากันกระโดดเข้ามาหาโอกาสให้กับตัวเอง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่สอดรับไปกับเทรนด์

⚗ สตาร์ทอัพรายแรกที่จะพาไปรู้จักคือ บริษัท MOA FoodTech จากสเปน ผู้พัฒนาและผลิตโปรตีนสกัดที่มีการชูจุดเด่นในด้านการนำวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารอื่นๆ มาเพิ่มมูลค่าเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน และในขณะเดียวกันก็มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้ MOA FoodTech ได้รับการระดมทุน เพื่อปิดรอบ Pre-Series A มาแล้วถึง 2 ล้านยูโรเลยทีเดียว 

🥚แต่ไม่ได้มีแค่เฉพาะสตาร์ทอัพต่างประเทศเท่านั้น สตาร์ทอัพไทยเองก็มีผู้เล่นในตลาดโปรตีนสกัดอยู่เช่นกัน ได้แก่ บริษัท Plant Origin ผู้ผลิตนวัตกรรมผงไข่ ที่ต่อยอดมาจากการแปรรูปน้ำมันรำข้าว สกัดออกมาเป็นโปรตีนที่มีคุณค่าทางสารอาหารเทียบเท่ากับการทานไข่ปกติในหนึ่งมื้อ พร้อมทั้งตอบโจทย์ความยั่งยืน เพราะสามารถลดการใช้น้ำลงได้ถึง 90% และลดการใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไก่ลดลง 85% โดยในการมาร่วมงานยังได้พูดคุยกับ Thai Union, Ajinomoto และ Glico เพื่อส่งสินค้าตัวอย่างในการทดลองตลาดต่อไป

🧃 ข้ามไปที่ฝั่งโปรตีนในสไตล์เครื่องดื่ม กับผลงานของบริษัท NutriCious ผู้ผลิตเครื่องดื่มโปรตีนสูงจากไข่ขาว ที่อุดมไปด้วยอัลบูมิน (Albumin) สารอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เสริมระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นแหล่งพลังงาน โดยมีจุดเด่นคือ การไม่ใส่น้ำตาล แต่ยังนำเสนอรสชาติที่อร่อย ดื่มง่าย โดยไม่รู้สึกถึงกลิ่นและรสสัมผัสของไข่ขาวที่ไม่ต้องการ

🧪 นอกจากอาหารสำหรับคน ก็มีสตาร์ทอัพที่เห็นโอกาส “การพัฒนาอาหารสัตว์” เพื่อป้องกันโรคและส่งเสริมการเจริญเติบโตของการเพาะเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพ เพราะสัตว์คือแหล่งโปรตีนสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพอาหารสัตว์ จึงเป็นการพัฒนาคุณภาพอาหารของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

🦞 บริษัท TeOra จากสิงคโปร์จึงได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงอาหารสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อป้องกันและกำจัดโรคในพืชและสัตว์ ซึ่งจะส่งผลให้มนุษย์มีอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ปราศจากสารเคมีอันตราย และเพียงพอต่อความต้องการได้ โดย TeOra เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่สามารถระดมทุนในโครงการ SPACE-F ได้สำเร็จ ได้รับทุนจากหน่วยงาน Temasek Foundation และ PeakBridgeVC นอกจากนี้ยังได้มีการหารือเรื่องเซ็นสัญญาเพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้าร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ BIOTEC และมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย

🫙 ส่วนสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ก็คือ นวัตกรรมการผลิต “ส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม” เพราะการทำอาหารจำเป็นต้องมีเครื่องปรุง โดยเฉพาะน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมสำคัญในการปรุงรสให้อร่อย 

🧬 แต่อย่างที่หลายคนรู้กันว่า น้ำตาลหากทานมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดโทษ บริษัท AmbrosiaBio จากอิสราเอล จึงได้พัฒนาและออกแบบสารให้ความหวานที่มีรสชาติดี และไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาเหมือนสารให้ความหวานอื่นๆ จึงมีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตเอนไซม์มาย่อยแป้งให้กลายเป็น Allulose โดยสารให้ความหวานนี้ยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนหรือเบาหวาน โดย AmbrosiaBio ยังได้มีการหารือกับบริษัทต่างๆ ในไทย เช่น ทิปโก้ มิตรผล ไทยรุ่งเรือง และเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ เพื่อสร้างโอกาสการร่วมมือทางธุรกิจต่อไป

🧀 ถัดจากเครื่องปรุง มาต่อกันที่ส่วนผสมในอาหารอย่าง “ชีส” ที่บริษัท Trumpkin สตาร์ทอัพไทยได้พัฒนานวัตกรรมชีสทางเลือกจากเมล็ดฟักทอง ทดแทนผลิตภัณฑ์ชีสจากนม ซึ่งสร้างความแตกต่างด้วยการมาในรูปแบบที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ปราศจากคอเลสเตอรอลและสารก่อภูมิแพ้ถึง 8 ชนิด การเข้าร่วมโครงการ SPACE-F นี้ ทำให้ Trumpkin ได้พัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจกับ Tops Supermarket ในเรื่องของการทดสอบช่องทางการจัดจำหน่ายได้สำเร็จ

☕ ปิดท้ายกันด้วยสตาร์ทอัพฝั่งเครื่องดื่มอย่าง BIRTH2022 ของไทย ซึ่งพัฒนานวัตกรรมเครื่องดื่มกาแฟสกัดเย็นจากเมล็ดกาแฟหมักด้วยโพรไบโอติกและยีสต์ที่มีส่วนช่วยในการสกัดกาแฟโคลด์บรูว์ ให้ได้รสชาติที่แตกต่าง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเก็บรักษาได้นานขึ้น ซึ่งด้วยความน่าสนใจ และรับไปกับกระแสความนิยมของ Specialty Coffee ที่มีการเติบโตในไทยอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ BIRTH2022 ได้รับทุนสนับสนุนจาก NIA และยังมีการหารือกับ Nestle Thailand เพื่อศึกษาการทดสอบนำร่องผลิตภัณฑ์หรือ Pilot Test ร่วมกันอีกด้วย

🤝 ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าโครงการ SPACE–F เป็นการปูทางเตรียมความพร้อมให้กับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารผ่านโปรแกรมการบ่มเพาะและเร่งการเติบทางธุรกิจ(Incubator and Accelerator Program) ระดับโลก ทำให้สตาร์ทอัพได้รับคำแนะนำในการพัฒนาอย่างตรงจุด และยังเพิ่มเติมความรู้ไปถึงหลักในการทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดการระดมทุน มุ่งไปสู่เป้าหมายใหญ่ในการผลักดัน ‘ประเทศไทย’ ให้เป็นศูนย์กลางด้านอาหารที่สำคัญของภูมิภาค

และในปีนี้ SPACE–F รุ่นที่ 5 กำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง มารอติดตามกันว่ารุ่นนี้จะมีสตาร์ทอัพรายไหนที่น่าสนใจ และจะมีสตาร์ทอัพไทยที่แจ้งเกิดขึ้นมาได้หรือไม่ รอติดตามอัปเดตข่าวสารจากเพจ NIA และ SPACE-F ได้เลย  

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://anontawong.com/2017/01/22/sapiens-6/ 
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1113054 
https://www.thebusinessresearchcompany.com/report/plant-based-protein-global-market-report 
https://www.space-f.co/batch-4 
https://www.moafoodtech.com/ 
https://www.plantorigin.co/ 
https://teoralife.com/resources 
https://www.ambrosia.bio/technology 
https://www.nia.or.th/SPACE-F-NIA 
https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/581698 
https://www.pbfoodtory.com/