สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ไขข้อสงสัย! ทำไมประเทศไทย ต้องเปิดทางให้ “Space Economy” ทั้งที่เราไม่เคยปักธงในอวกาศ

26 พฤษภาคม 2566 1,606

ไขข้อสงสัย! ทำไมประเทศไทย ต้องเปิดทางให้ “Space Economy” ทั้งที่เราไม่เคยปักธงในอวกาศ

ประเทศ “ไทย” กับคำว่า “อวกาศ” อาจจะดูเป็นสิ่งที่ใครหลายคนรู้สึกว่าไกลเกินฝัน

เพราะการส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นไปบนอวกาศต้องใช้เงินมหาศาล ซึ่งหากนำเงินส่วนนี้มาแก้ไขปัญหาที่อยู่ตรงหน้า อย่างเช่น ปากท้อง การศึกษา หรือระบบสาธารณสุข ก็คงดูเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากกว่า แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วการพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศ สามารถสร้างมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อีกหลายด้าน

ซึ่งภารกิจอวกาศไม่ได้มีแค่การส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร หรือการปล่อยยานสำรวจให้ลงจอดอย่างปลอดภัยเท่านั้น ยังมีงานเบื้องหลังที่ต้องอาศัยการพัฒนาด้านนวัตกรรม เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะกินอาหาร เข้าห้องน้ำ หรือนอนหลับในสภาพที่ทุกอย่างลอยไปลอยมาแบบนั้นได้

จากข้อจำกัดบนอวกาศ ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น กล้องในโทรศัพท์มือถือ อาหารแช่แข็ง เครื่องฟอกอากาศ ระบบนำทาง GPS ฯลฯ ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะมองให้เห็นนอกเหนือจากการขึ้นไปสำรวจอวกาศเสียเอง ก็คือการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy ซึ่งมีทั้งเรื่องงานชิ้นส่วนรวมถึงโซลูชันในอุตสาหกรรมการบิน การนำข้อมูลดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ การศึกษาด้านอาหาร การผลิตยาแห่งโลกอนาคต โดยจากประมาณการของ World Economic Forum ยังได้บอกไว้ว่าอุตสาหกรรมอวกาศที่หลายคนคิดว่าไกลตัว มีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 4 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

อย่างที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมไทยเองมีศักยภาพโดดเด่นทั้งในด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหารขั้นสูง หากเราสามารถเข้าไปจับกับอุตสาหกรรมอวกาศได้มากขึ้น ก็อาจสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศได้อีกมหาศาล NIA ที่เห็นโอกาสเหล่านี้ จึงได้พัฒนาโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจอวกาศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีชื่อว่า Space Economy: Lifting Off

ในปัจจุบันแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ NIA เชื่อว่าการสนับสนุนเศรษฐกิจอวกาศ การพัฒนาระบบนิเวศ และการผลักดันขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กัน เป็นที่มาของการทูตนวัตกรรมครั้งล่าสุดรับโอกาส “ปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส” ที่ประเทศไทยจับมือกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส พัฒนา “โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยาน หรือ F1” โดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศให้เติบโตออกไปสู่ตลาดโลก และมีเป้าหมายยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านคมนาคมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่อยู่ในความสนใจของหลายๆ ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศ

โดยตั้งเป้าว่าในอนาคตประเทศไทยจะสามารถป้อนสตาร์ทอัพรายใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้ต่อเนื่องปีละประมาณ 10 ราย ดังนั้นภายในระยะเวลา 10 ปี จะมีสตาร์ทอัพด้านอวกาศของไทยมากถึง 100 ราย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ในเวลานี้อาจบอกไม่ได้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยานจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน หรือในอนาคตต่อไปจะมีนวัตกรรมอะไรเกิดขึ้นมาใหม่อีกบ้าง แต่เมื่อเรารับรู้ถึงทิศทางความต้องการของตลาด จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราถึงต้องเริ่มปรับตัว เตรียมสร้างความพร้อมสำหรับโอกาสที่อาจเข้ามาได้ทุกเมื่อ เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกขบวน หลุดออกจากวงโคจรของความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมอวกาศที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและอาจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ได้ในอนาคต

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.youtube.com/watch?v=vYYpSKNRfwo
https://www.thairath.co.th/news/tech/2624933
https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1060227
https://www.mreport.co.th/news/government-news/384-NIA-GISTDA-Starburst-joined-to-buid-space-economy-in-Thailand
https://www.weforum.org/agenda/2022/10/space-economy-industry-benefits/
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=1484&lang=EN