สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“สิงคโปร์” จากแค่ฝัน สู่สมาร์ทซิตี้ที่ดีที่สุดในโลก

บทความ 28 กุมภาพันธ์ 2563 8,236

“สิงคโปร์” จากแค่ฝัน สู่สมาร์ทซิตี้ที่ดีที่สุดในโลก


แม้จะเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ เป็นเท่าตัว แต่ “สิงคโปร์” กลับสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาพัฒนาประเทศได้อย่างน่ามหัศจรรย์ หากใครมีโอกาสเดินทางไปเยือนสิงคโปร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่านอกจากมีสถานที่ท่องเที่ยวปังๆ ผุดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากแล้ว ความเจริญของการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองเองก็มีให้เห็นไปทั่วทุกหย่อมหญ้า จึงไม่แปลกเลยที่ World Economic Forum จะขนานนามสิงคโปร์ว่าเป็น “สมาร์ทซิตี้ที่ดีที่สุดในโลกแห่งปี 2019”


หากถามว่าจากประเทศไซส์มินิที่เคยมีชื่อเสียงเพียงเรื่องการทำธุรกิจและการลงทุน สามารถก้าวแซงทุกประเทศทั่วโลกในเวลาไม่ถึง 10 ปี ได้ยังไง? ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับนโยบาย “Smart Nation” ที่รัฐบาลริเริ่มประกาศใช้ในปี 2014 เพื่อขับเคลื่อนประเทศสิงคโปร์ให้กลายเป็น “พื้นที่สุดสมาร์ท” ทั่วทั้งเกาะด้วยการใช้เทคโนโลยี ซึ่งแม้จะดูเป็นแผนเชิงนโยบายที่ดูจับต้องไม่ค่อยได้ในสายตาประชาชน แต่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้นิ่งเฉยและขยันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พลเมืองได้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น


อย่างด้านการขนส่ง (Transportation) ที่สิงค์โปร์ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ อันจะเห็นได้ตั้งแต่ก้าวขา “เดินทาง” ออกจากสนามบิน เพราะสิงคโปร์มีบริการขนส่งสาธารณะ ที่ทุกคนสามารถใช้เดินทางไปไหนมาไหนได้ทั่วทั้งเกาะ และสามารถเช็กเส้นทาง ตารางเวลา และสภาพการจราจรทุกถนนในเมืองได้ผ่านแอป “MyTransport.SG” และสำหรับคนที่ขับรถยนต์ส่วนตัว ก็ยังสามารถค้นหาจุดจอดรถได้ด้วยแอป “Parking.sg” รวมถึงไม่ต้องเสียอารมณ์กับปัญหารถติด เพราะระบบสัญญาณไฟจราจรทั้งประเทศ เชื่อมกับ AI เพื่อใช้จัดการสภาพจราจรแบบเรียลไทม์


อีกหนึ่งด้านที่ก้าวหน้าไม่แพ้กัน ได้แก่ “สุขภาพและสาธารณสุข” สำหรับประชาชน นอกจากเทคโนโลยีการรักษาและยาที่มีคุณภาพ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังมี “เครือข่ายดูแลสุขภาพระยะไกล” ซึ่งคนไข้สามารถขอรับการตรวจอาการเบื้องต้นได้แบบออนไลน์ รวมถึงแอป “myResponder” ที่โรงพยาบาลต่างๆ ใช้แจ้งเตือนอาสาสมัคร เมื่อมีเหตุผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น เพื่อให้อาสาสมัครเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนรถพยาบาลจะมาถึง และยังมี “ตู้ตรวจสุขภาพ” (Healthcare Kiosk) ที่ทุกคนสามารถไปใช้ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน และตรวจน้ำตาลในเลือด ได้ฟรีตามห้างสรรพสินค้าและย่านอาคารสำนักงาน 


ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์เลือกเปลี่ยนรูปแบบ “การให้บริการภาครัฐ” ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและมีขั้นตอนซับซ้อน เช่น การแจ้งเกิด การทำบัตรประชาชน ทำพาสปอร์ต ยื่นภาษี แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ฯลฯ มาไว้บนแอปพลิเคชันแทน ซึ่งพลเมืองทุกคนสามารถติดต่องานกับราชการได้แบบออนไลน์ ง่ายๆ ใน 15 นาที จากเดิมที่ต้องเดินทางไปศูนย์ราชการเพื่อรอรับบริการนานหลายชั่วโมง รวมทั้งสิงคโปร์ยังเป็นหนึ่งประเทศต้นแบบของสังคมไร้เงินสด ที่ไม่ว่าจะจ่ายค่าอาหาร ช้อปปิ้ง หรือค่าเดินทาง ก็แค่แตะบัตรธนาคารหรือกดผ่านแอป เพราะใช้ระบบการจ่ายเงินที่มีความปลอดภัยสูงแบบเดียวกันทั้งประเทศอีกด้วย


นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการผลักดันนโยบายภาคเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงเอื้อให้กับพลเมืองที่ทำธุรกิจเท่านั้น แต่ให้สิทธิ์เปิดกว้างกับนักลงทุนต่างประเทศ เช่น การลดหรืองดเว้นภาษีให้กับบางกลุ่มธุรกิจ กฎหมายการถือหุ้นที่เท่าเทียมระหว่างนักลงทุนในและต่างประเทศ ฯลฯ จนสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และส่งเสริมให้เกิดย่านพัฒนาสตาร์ทอัพใหม่ๆ เช่น “จูล่ง” (Jurong Innovation District) ฮับการผลิตที่ใช้ทั้งนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ และระบบการขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ และ “พังกอล” (Punggol Digital District) ซิลิคอนวัลเลย์แห่งใหม่ของสิงคโปร์ ที่ประกอบไปด้วยย่านพักอาศัย ศูนย์การค้า สถาบันการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกคนเมืองครบครัน


แม้สิงคโปร์ จะใช้เทคโนโลยีและมีนวัตกรรมล้ำๆ มากมาย แต่คงจะไม่เกิดประโยชน์ หากพลเมืองเองไม่รู้จักปรับตัวก้าวทันและเรียนรู้ที่จะดึงเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ให้เป็น ซึ่งนับว่าสมญาณาม “สมาร์ทซิตี้ที่ดีที่สุดในโลก” ไม่ได้เป็นผลงานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกคนในประเทศ … NIA เชื่อว่าประเทศเล็กๆ แห่งนี้ จะยังก้าวหน้าไปได้อีกไกลอย่างแน่นอน