สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
พิธีเปิด “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ณ อุทยานนวัตกรรม NIA
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิด “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ณ อุทยานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี โดยปกติจะจัดขึ้นในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคมของทุกปี แต่ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิค-19 ที่อยู่ในช่วงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาด จึงได้เลื่อนการจัดงานไปเป็นเดือนพฤศจิกายน ระหว่างวันที่ 13-23 พฤศจิกายน 2563 ที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี พร้อมจัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid Event "On Ground - Online" ที่ผสมผสานระหว่างการเข้าชมงานในฮอลล์ On Ground Platform หรือเลือกรับชมจากที่บ้านผ่านช่องทางออนไลน์ ในแบบ Virtual Science Fair เสมือนอยู่ในฮอลล์จริง ตอบโจทย์การใช้ชีวิตวิถีใหม่ New normal โดยงานมหกรรมวิทย์ฯ ในปีนี้ ได้สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ และนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก 88 หน่วยงาน จาก 11 ประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ นำไปสู่การต่อยอดความคิดสู่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ของประเทศในอนาคต ตลอดจนโชว์ศักยภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริง ตามกรอบนโยบายของ อว.
ในบทบาทของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ได้มุ่งมั่นในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ ทั้งยังส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของเยาวชน โดยในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติปีนี้ ทาง NIA มาพร้อมกับบูธ STEAM4INNOVATOR ACADEMY ได้มีการจัดกิจกรรมที่น้อง ๆ จะได้เป็นนวัตกรจิ๋ว ที่สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม ผ่านด่านต่างๆ ใน LEARNING STATION ที่มีเนื้อหากระบวนการ 4 ขั้นตอน ของ STEAM4INNOVATOR ซึ่งเป็นกระบวนการพื้นฐานในการเป็นนวัตกร เพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ซึ่งจะต้องมีการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อก่อให้เกิดคุณค่า นอกจากกิจกรรมภายในนิทรรศการแล้ว ยังมีกิจกรรมออนไลน์ Virtual Reality (VR) ที่จำลองภาพเสมือนจริงภายในนิทรรศการ น้องๆทางบ้าน สามารถเล่นผ่านได้ทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เพื่อสร้างโอกาสให้น้องๆ ได้ศึกษาเพิ่มเติมและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา โดยกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะที่สำคัญของเยาวชนสู่การเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมได้ในอนาคต