สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ถอดแนวคิดของ “Refik Anadol” ศิลปินผู้เปลี่ยนผืนผ้าใบเป็นอัลกอริทึมที่มีชีวิต

บทความ 24 กันยายน 2564 3,078

ถอดแนวคิดของ “Refik Anadol” ศิลปินผู้เปลี่ยนผืนผ้าใบเป็นอัลกอริทึมที่มีชีวิต 


จะเป็นอย่างไรเมื่อ AI และ Machine Learning กำลังสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมกับศิลปิน 


จากภาพอันสวยงามที่ทุกคนได้เห็น เชื่อกันไหมว่าผลงานเหล่านี้ศิลปินแค่เป็นคนคิดโดยไม่ต้องลงมือทำเอง เพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีที่กำลังมีอิทธิพลอย่างมากกับแทบทุกอุตสาหกรรมอย่าง AI และ Machine Learning เข้ามาช่วยสร้างสรรค์งานศิลปะแทน เป็นความท้าทายใหม่สำหรับวงการศิลปะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งใครจะไปคิดว่า เทคโนโลยีก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ซับซ้อนที่สุดอย่างศิลปะได้เช่นกัน


ศิลปินที่บุกเบิกการใช้นวัตกรรมนี้ก็คือ “Refik Anadol” เป็นหนึ่งในศิลปินที่เห็นความสำคัญและนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์อยู่เสมอ โดยเขายังได้ทำงานร่วมกับนักออกแบบ สถาปนิก นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา เพื่อทำการเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาถ่ายทอดความรู้สึกในแทบทุกกระบวนการ  


Refik Anadol คือใคร ทำไมต้องทำความรู้จัก?


กว่าเขาจะเดินทางมาถึงในจุดนี้ก็ผ่านเส้นทางการทำงานศิลปะมาอย่างยาวนาน Refik Anadol เป็นศิลปินชาวตุรกีที่เกิดและเติบโตในเมืองอิสตันบูล โดยจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี-โท ด้านภาพถ่ายและวิดีโอจาก Istanbul Bilgi University จากนั้นก็ได้ย้ายมาที่สหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาปริญญาโทใบที่สองด้านมีเดียอาร์ตใน University of California in Los Angeles (UCLA) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปลุกปั้นให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงในวงการศิลปะและเปิดโลกการสร้างสรรค์ในมุมมองใหม่ๆ ผ่านเทคโนโลยี จนปัจจุบันเขาได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ Microsoft Research's Best Vision Award, German Design Award, SEGD Global Design Awards, Google's Art and Machine Intelligence Artist Residency Award ฯลฯ


งานของ Refik Anadol ให้สำคัญกับความสัมพันธ์ของพื้นที่ สิ่งมีชีวิตและเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากกับคนในปัจจุบัน แต่คนจำนวนมากก็ยังไม่เห็นมิติด้านสุนทรียศาสตร์ที่เกิดจากเทคโนโลยี เขาจึงได้สร้างนิยามใหม่ในการสร้างสรรค์ว่า “Post-digital Architecture” หรือสถาปัตยกรรมหลังยุคดิจิทัล เป็นสุนทรียภาพแบบใหม่ที่สิ่งมีชีวิต อัลกอริทึมเครื่องจักรสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างงดงาม ด้วยการใช้เทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ อาทิ Immersive Technology, Machine Learning รวมถึง AI เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันสวยงามจากข้อมูลมหาศาลที่เรียกว่า ศิลปะสาธารณะเสมือนจริง (Public Immersive Art) และเมื่อได้รู้จักตัวตนและแนวคิดในการทำงานของเขาแล้ว เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นเราจึงได้หยิบยกผลงานสำคัญมาให้รู้จักเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ 


Wind of Boston: Data Paintings


ผลงานสร้างชื่อของ Refik Anadol ชิ้นแรกบนเวทีโลกมีชื่อว่า “Wind of Boston: Data Paintings” และยังเป็นผลงานอันดับต้นๆ ที่นำ Data มาใช้ในกระบวนการสร้างสรรค์งาน โดยแนวคิดของงานชิ้นนี้มาจาก การทำให้ลมเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผ่านเรื่องราว 4 บทในรูปแบบจิตรกรรมข้อมูล ได้แก่ Hidden Landscapes, Porcelain Memories, Sea Breeze และ Gust in the City ซึ่งเป็นการจับคลื่นกระแสลมจริง จากในบรรยากาศต่างๆ ในบอสตันมาทำให้ปรากฏเป็นภาพผ่านการพัฒนาซอฟต์แวร์ของทีมเอง ปัจจุบันงานชิ้นนี้ตั้งอยู่ใน 100 Northern Avenue ซึ่งติดอยู่กับบริเวณท่าเรือในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมี The Fallon Company เป็นผู้ดูแลงานชิ้นนี้ 


Quantum Memories


ก่อนหน้านี้เราได้รู้จักผลงานที่บุกเบิกทางในวงการกันมาแล้ว ถัดมาเราจึงอยากให้ทุกคนรู้จักงานที่ใช้นวัตกรรมอย่าง Machine Learning หรือ AI เข้ามาสร้างสรรค์งานศิลปะกันบ้าง หนึ่งในงานที่น่าสนใจคืองานที่มีชื่อว่า “Quantum Memories” เป็นงานที่ใช้ข้อมูลวิจัยการคำนวณควอนตัมและอัลกอริทึมที่ล้ำสมัยที่สุดของ Google AI เพื่อนำมาประมวลผลภาพธรรมชาตินับ 200 ล้านรูป แล้วมาแสดงผลให้เป็นภาพที่สวยงามจากฝีมือของ AI เอง ซึ่งกระบวนการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้มาจากแนวคิดที่พยายามทำความเข้าใจว่า เทคโนโลยีมีความรู้สึกหรือจิตวิญญาณในการสร้างสรรค์เหมือนกับมนุษย์หรือไม่ เป็นคำถามใหญ่ที่กำลังถูกพิสูจน์ด้วยผลงานศิลปะของเขาเอง 


Sense of Space and Molecular Architecture


ผลงานชิ้นล่าสุดของเขาที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับวงการศิลปะอีกครั้งคืองานที่มีชื่อว่า “Sense of Space and Molecular Architecture” งานนี้เป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านเทคโนโลยีการแพทย์และศิลปะเข้ามาผสมผสานกันได้อย่างสวยงาม โดยเขาได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยด้านชีววิทยาเพื่อค้นหาโครงสร้างข้อมูลในร่างกายที่มีความซับซ้อนมาสร้างเป็นผลงานศิลปะ ด้วยการผสมผสานข้อมูลที่มาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ อย่าง microscopy (FIB-SEM) หรือ fMRI scans มาให้ AI เรียนรู้และประมวลผลภาพออกมาเป็นงานในรูปแบบ Molecular Architecture หรือสถาปัตยกรรมโมเลกุล ซึ่งเป็นงานที่มีทั้งรูปแบบ 2 มิติ 3 มิติและวีดีโอ เพื่อให้เห็นทั้งความงามและความไม่สมบูรณ์ของร่างกายมนุษย์ โดยงานชิ้นนี้ยังได้จัดแสดงที่งาน Venice Architecture Biennale ในปี 2021 และยังเป็นหัวข้อสำคัญในการเสวนาอีกด้วย เพราะถือว่าเป็นก้าวสำคัญของวงการศิลปะที่ได้ใช้นวัตกรรมเข้ามาสำรวจร่างกายของตัวเอง 


เต็มอิ่มกันอย่างแน่นอน สำหรับใครที่ชื่นชอบผลงานศิลปะที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างสรรค์ จากทั้งหมดที่ได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่า แม้แต่วงการศิลปะที่ใครๆ ก็ต่างคิดกันว่าเป็นจิตวิญญาณของมนุษย์ ในเวลานี้เราอาจต้องทบทวนวิธีคิดกันใหม่ เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันก็พร้อมที่จะเรียนรู้จิตวิญญาณในการสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา 


ถ้าคุณอยากรู้จัก Refik Andol เพิ่มเติม สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์รวบรวมผลงานของเขาได้เลย  > https://refikanadol.com/


ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://refikanadol.com/
https://www.wired.com/story/artist-refik-anadol-turns-data-art-help-ai/


ภาพจาก : refikanadol.com