สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับผู้บริโภค Gen Z
Gen Z คือผู้ที่เกิดในช่วงปี 2538 – 2553 ซึ่งในปัจจุบันเทรนด์ในการอุปโภคและบริโภคของกลุ่ม Gen Z มีการเปลี่ยนไป โดยให้ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ยิ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติแล้วยิ่งดูน่าสนใจ เมื่อไม่นานมานี้ มีผลการสำรวจออกมาว่า Gen Z ในประเทศไทยจำนวนร้อยละ 36 หันมาสนใจใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยังมีอีกจำนวนร้อยละ 53 ที่ยอมจ่ายเงินให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกทั้ง Gen Z ยังคาดหวังว่าตนเองจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสนับสนุนแบรนด์ที่ตัวเองเลือกซื้อและการช่วยรีวิวให้กับสินค้ากลุ่มดังกล่าวอีกด้วย
สำหรับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก็มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในด้านบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช ซึ่ง NIA ได้ให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่มีความสำคัญและตรงกับความต้องการของกลุ่ม Gen Z โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างนวัตกรรมที่ NIA ให้การสนับสนุน ดังนี้
นวัตกรรมกระดาษจากเปลือกข้าวโพดเป็นการนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาสร้างคุณค่าใหม่ โดยกระบวนการผลิตเริ่มจากการนำเปลือกข้าวโพดที่เป็นของเหลือทิ้งจากการเพาะปลูก มาผ่านกระบวนการทางกายภาพและเคมีเพื่อสกัดเยื่อกระดาษที่มีคุณภาพสูง ผลลัพธ์ที่ได้คือกระดาษที่ทนต่อน้ำ มีความหนาแน่นและผิวที่เรียบเนียน ซึ่งเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น การผลิตถุงกระดาษ ปลอกสวมแก้ว (cup sleeve) และที่รองแก้ว
กระดาษจากเปลือกข้าวโพดนี้ไม่เพียงแต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยลดปัญหาขยะจากภาคการเกษตร และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ได้เป็นอย่างดี โดยหากสนใจผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อได้ที่ Facebook Farmto แพลตฟอร์มเพื่อการเกษตร
การผลิตกระดาษจากแกนใบปาล์มน้ำมันนั้น อาศัยนวัตกรรมเครื่องขึ้นรูปกระดาษกึ่งอัตโนมัติจากเยื่อปาล์ม ซึ่งใบปาล์มน้ำมันเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีเส้นใยจำนวนมากและมีศักยภาพในการนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ กระบวนการเริ่มจากการนำใบปาล์มสดมาบดและต้มเพื่อให้ได้เยื่อกระดาษ จากนั้นจึงนำเยื่อดังกล่าวเข้าเครื่องขึ้นรูปที่ออกแบบให้ทำงานร่วมกับการใช้มือเพื่อช่วยขึ้นรูปกระดาษอย่างแม่นยำ กระบวนการนี้ช่วยให้กระดาษมีความสม่ำเสมอและมีคุณภาพดี สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์จากเยื่อปาล์ม ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ กระดาษ หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ สามารถติดต่อได้ที่ Facebook Palm Packaging
นวัตกรรมนี้ได้นำปลายข้าว ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการสีข้าว มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เส้นปราศจากกลูเตนที่มีการเสริมคุณค่าจากปลายข้าวหอมมะลิ กระบวนการผลิตนี้ผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เส้นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รับประทานง่าย และเหมาะสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพและผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงกลูเตนจากแป้งสาลี
นวัตกรรมนี้ไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์เส้นพาสต้าปราศจากกลูเตนจากปลายข้าว สามารถติดต่อได้ที่ Facebook แสงแรกฟาร์ม Sangraekfarm
นวัตกรรมการพัฒนาเต้าหู้นี้มุ่งเน้นการปรับปรุงเนื้อสัมผัสให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ โดยอาศัยเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่ทำให้เต้าหู้มีความแน่นและความยืดหยุ่นคล้ายกับการรับประทานเนื้อสัตว์จริง ๆ อีกทั้งยังมีปริมาณโปรตีนที่เพียงพอและเหมาะสมสำหรับการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ต้องการโปรตีนสูง เช่น นักกีฬา นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ผู้บริโภคในทุกกลุ่มสามารถเลือกซื้อได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์หรือหันมารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จากเต้าหู้โปรตีนสูง สามารถติดต่อได้ที่ ชุมชนนวัตวิถีบ้านเจ้าจันทร จ.พิษณุโลก
สุดท้ายนี้ NIA หวังว่าผลิตภัณฑ์ทางเลือกเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการลดภาวะโลกร้อน และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจ BCG รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) โดยนวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคปัจจุบันของกลุ่ม Gen Z ที่หันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
บทความโดย
วัชราภรณ์ แสงสว่าง (ตาล)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)