สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เปิดโลกมองเทรนด์ธุรกิจยุคหลังโควิด ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดแบบยั่งยืน

บทความ 15 กรกฎาคม 2564 12,652

เปิดโลกมองเทรนด์ธุรกิจยุคหลังโควิด  ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดแบบยั่งยืน


55% ของผู้บริหารองค์กรทั่วโลกยอมรับว่า... โรคระบาดครั้งนี้ทำให้ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์องค์กรที่มีไปอย่างสิ้นเชิง


ในมุมมองโลกธุรกิจ โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบอย่างไม่ประนีประนอม ต่อให้องค์กรปรับตัวให้พร้อมแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าผู้บริหารส่วนใหญ่คงเหนื่อยล้าสะสมเต็มที ทั้งจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องและการวางแผนระยะสั้น


อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งที่จะช่วยให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางศึกไวรัสร้ายที่ยังไม่เห็นทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ก็คือการวางแผนกลยุทธ์องค์กรระยะยาว เพื่อที่จะพาธุรกิจก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง


วันนี้ NIA ได้รวบรวม 3 เทรนด์สำคัญที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนกลยุทธ์องค์กรระยะยาว มาสรุปให้ฟังกัน

Digital transformation is the future #เทคโนโลยีดิจิทัลคืออนาคต

เพราะโควิด-19 เร่งเร้าให้องค์กรต้องโอบรับ Digital Transformation อย่างฉับพลัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่การประชุมออนไลน์วันละหลายๆ นัดเท่านั้น แต่หมายถึงการที่องค์กรต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานการทำงานใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญ เพื่อตอบรับกับการทำงานวิถีใหม่ “แค่ออนไลน์ก็ทำงานได้ ทุกที่ ทุกเวลา”


เพราะต่อให้วิกฤตจบลง นโยบาย Work from Home ก็จะยังคงอยู่ต่อไป และหนึ่งในเทคโนโลยีดิจิทัลที่แทบทุกองค์กรหันมาใช้ก็คือ Cloud Technology ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของซอฟต์แวร์ด้านบัญชี หรือแอปพลิเคชันฝ่ายบุคคล ก็สามารถช่วยสร้างประสบการณ์การทำงานออนไลน์ที่ไร้รอยต่อได้ แถมยังช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการด้านไอทีอีกด้วย


มากกว่า 65% ของผู้บริหารทั่วโลกระบุว่า พวกเขาจะนำการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ อย่าง Cloud, AI, IoT, Blockchain ขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา แม้ว่ามันจะดูเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก จนบางครั้งผู้บริหารเองอาจกังวลว่าบุคลากรจะรับมือกับเทคโนโลยีดิจิทัลไหวมั้ย? แต่ในยุค Disruption แบบนี้ การไม่เริ่มลงมือคงจะเสี่ยงกว่า

Empathy is necessary #ความเห็นใจคือสิ่งจำเป็น

นับเป็นเวลากว่า 17 เดือนแล้ว ที่คนทำงานส่วนใหญ่ต้องปรับรูปแบบการทำงานเพื่อรับมือกับโควิด-19 หลายองค์กรประกาศนโยบาย Work from home 100% โดยไม่ทันได้เตรียมพร้อมในเรื่องของ Process การทำงานที่จะเปลี่ยนไป รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่องค์กรจัดหามาให้ และไม่ได้จัด Training ให้พนักงานพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ผลสำรวจของ IBM Institute for Business Value พบว่า 74% ของนายจ้าง มองว่าตนมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำงานรูปแบบใหม่ แต่พนักงานที่รู้สึกแบบนี้มีเพียง 38% เท่านั้น ระดับความคาดหวังที่แตกต่างกันขององค์กรและพนักงานถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข หากปล่อยไว้ในระยะยาวอาจส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการทำงานได้


โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่หลายองค์กรจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน และบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอดเช่นนี้ อาจส่งผลให้คนฝีมือดีรู้สึกเครียดและกดดันจากงานที่ Overload และต้องใช้ทักษะที่หลากหลายกว่าที่เคย กลยุทธ์การซัพพอร์ตพนักงานทั้งในแง่ Functional และ Emotional อย่างจริงจัง จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่ายุคไหนๆ

Sustainability is the new safety #ความยั่งยืนคือความปลอดภัย

จริงๆ แล้วกระแสรักษ์โลกและใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมีมาก่อนหน้าที่โควิด-19 จะระบาดแล้ว แต่ความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากไวรัสส่งผลทางอ้อมให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่การลดการใช้ Single-use plastic  การบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการจัดการ Carbon Footprint ในระดับองค์กร


เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะกลายมาเป็นปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขอนามัยของพวกเราในภายภาคหน้า ผู้บริโภคจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้า หรือมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ที่แสดงออกถึงการให้คุณค่ากับความยั่งยืนอย่างจริงใจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ที่ได้เห็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่วัยเด็ก


นอกจากเรื่องรักษ์โลกและใส่ใจสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้บริโภคยังมองหาความปลอดภัยในโลกออนไลน์อีกด้วย โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค ถือเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องระมัดระวังอย่างมากในการจะนำไปใช้ ความชัดเจนและโปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจทุกชนิดเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคหลังโควิด-19 อาจถามหามากกว่าแต่ก่อน


การปรับตัวครั้งนี้ถือว่าเป็นวาระสำคัญ ซึ่งต้องมองทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ธุรกิจถึงจะขับเคลื่อนไปได้ เพราะในอนาคตก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดวิกฤตหรือปัญหาอะไรเข้ามากระทบกับธุรกิจอีก ผู้บริหารองค์กรรวมถึงพนักงานทุกคนจึงมีความจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงไว้เสมอ 


ข้อมูลอ้างอิงจาก : 

https://www.forbes.com/sites/jeroenkraaijenbrink/2021/03/04/four-essential-trends-for-every-post-covid-19-business-strategy/?sh=22189e46c4a0 

https://www.ibm.com/thought-leadership/institute-business-value/report/covid-19-future-business