สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

รัฐฯ จับมือสตาร์ทอัพ ยกระดับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

บทความ 29 เมษายน 2562 4,296

รัฐฯ จับมือสตาร์ทอัพ ยกระดับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทขนาดเล็กมากมายเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนสามารถขึ้นมาอยู่บนแถวหน้าของวงการธุรกิจได้ บริษัทเหล่านี้ คือ กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น หรือที่เราเรียกกันว่า “สตาร์ทอัพ” ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สตาร์ทอัพสามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น รัฐบาลมองเห็นศักยภาพและความสามารถของสตาร์ทอัพจึงเปิดทางให้สตาร์ทอัพเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมุ่งเป้าไปที่การนำนวัตกรรมของสตาร์ทอัพมาพัฒนาบริการสาธารณะเพื่อประชาชนและยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย


เดิมทีสตาร์ทอัพมีข้อจำกัดด้านคุณสมบัติที่ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างเต็มที่ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดงาน สตาร์ทอัพแฟร์ “Government Procurement Transformation” ด้วยแนวคิด “ปลดล็อกข้อจำกัด พัฒนาสตาร์ทอัพ สู่ตลาดภาครัฐ” ในวันที่ 28-29 กันยายนในปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นใบเบิกทางสตาร์ทอัพสู่เส้นทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สร้างมิติใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพทางนวัตกรรมในเทคโนโลยีภาครัฐ 


7 กลุ่มสตาร์ทอัพ

งานสตาร์ทอัพแฟร์นี้จะสร้างพื้นที่ในตลาดภาครัฐให้กับสตาร์ทอัพผ่านการจัดแสดงนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจของสตาร์อัพกว่า 80 รายที่พร้อมให้บริการภาครัฐใน 7 กลุ่ม ได้แก่


1. การพัฒนากำลังคนภาครัฐและการสื่อสารนโยบายสาธารณะ 

2. การพัฒนาการท่องเที่ยวและส่งเสริมวัฒนธรรมและพื้นที่เรียนรู้ 

3. การบริการสาธารณูปโภค 

4. การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ (Ease of doing business) 

5. รัฐบาลดิจิทัล 

6. ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ 

7. การพัฒนาตลาดในประเทศ

GovTech Solution Awards


นอกจากการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้โชว์ศักยภาพผ่านนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จแล้ว ภายในงานยังจัดการแข่งขัน “GovTech Solution Awards” เพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพมืออาชีพรวมพลังสมองกันอีกด้วย โดยเหล่าสตาร์ทอัพจะต้องนำเสนอโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหา 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ รัฐบาลดิจิทัล การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และการบริการสาธารณูปโภค


ถือว่างานนี้ประสบความสำเร็จอย่างดีทีเดียว สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมงานเกิดการจับคู่ธุรกิจกับภาครัฐ และเกิดการจับคู่ซื้อขายคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท แอปพลิเคชัน Ooca ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับปรึกษาปัญหาทางจิตเวชก็เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จหลังเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยร่วมมือกับสถานทูตไทยเพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตให้กับคนไทยในต่างแดน เป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ใช้เข้าถึงจิตแพทย์ได้ง่ายขึ้นอีกทางหนึ่ง อีกตัวอย่างความสำเร็จหลังเข้าร่วมระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คือ แอปพลิเคชัน iTAX ที่จะช่วยให้เรื่องการจัดการภาษีไม่ใช่เรื่องที่น่าปวดหัวอีกต่อไป ทั้งแบบฟอร์มการยื่นภาษี การลดหย่อนภาษี พร้อมคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายหรือได้คืนให้เสร็จสรรพด้วยภาษาที่กระชับและเข้าใจง่าย


เป้าหมายในการดึงสตาร์ทอัพเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้จบลงเพียงแค่การยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่นวัตกรรมที่เป็นเหมือนตัวแปรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเป็นตัวกระตุ้นระบบการจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมภาครัฐต่อไป นอกจากนี้ ภาครัฐยังวางเป้าหมายต่อไปถึงการมุ่งมั่นพัฒนาประเทศสู่การเป็น Startup Nation อีกด้วย โดยมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพ (Startup Global Hub) ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรม ผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยขยายการลงทุนสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งตลาดเอเชียและตลาดโลกต่อไปในอนาคต




.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คุณ พรพิชา เพชรแก้วกุล นักส่งเสริมนวัตกรรม (Startup)