สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

โอซาก้า อาณาจักรแห่งความรู้ พลิกพื้นที่รอบทางรถไฟให้เกิดมูลค่า

บทความ 27 มิถุนายน 2562 5,987

โอซาก้า อาณาจักรแห่งความรู้ พลิกพื้นที่รอบทางรถไฟให้เกิดมูลค่า


แผนการพัฒนาพื้นที่ให้รองรับความต้องการของประชาชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในโลกสมัยใหม่เป็นยุทธศาสตร์ที่หลาย ๆ ประเทศมุ่งดำเนินงาน หนึ่งในแนวคิดที่สำคัญต่อการพัฒนาชุมชนคือ แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) ที่มุ่งพัฒนาให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีความหนาแน่นสูง และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน พื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนจะต้องเอื้อต่อการเดินเท้าและใช้จักรยาน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อให้สะดวกและปลอดภัยต่อการเดินทางไปยังที่พักอาศัยและอาคารต่าง ๆ ในพื้นที่


ตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนที่ยกระดับกิจกรรมในพื้นที่ให้มากไปกว่าการเดินทางที่สะดวกสบายอยู่ที่เมืองโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น “อาณาจักรแห่งความรู้” ใจกลางเมืองกลายเป็นความหวังในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในช่วงขาลงมากว่า 20 ปี


ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ประชากร 1 ใน 4 มีอายุมากกว่า 65 ปี ทำให้ประชากรวัยทำงานเป็นแรงงานสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตาม คนหนุ่มสาวกลับมีแนวโน้มจะย้ายไปทำงานในโตเกียวเสียมาก (ช่วงปี พ.ศ. 2556 - 2558 ประชากรอายุระหว่าง 25 - 34 ปีที่โตเกียวมีจำนวนมากกว่าที่โอซาก้าถึง 10 เท่า)


เนรมิตโอซาก้าให้กลายเป็น Knowledge Capital


นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงตั้งให้โอซาก้าเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones หรือ SEZs) โดยมีธุรกิจสตาร์ทอัพและวิสาหกิจจากทั่วโลกเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องการพัฒนา รัฐบาลจึงสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวกลับมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพในเมืองโอซาก้า ด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมโอซาก้า (Osaka Innovation Hub หรือ OIH) ขึ้นในปีพ.ศ. 2556 เพื่อส่งเสริมให้นักเทคโนโลยีและนักลงทุนมีพื้นที่ในการระดมไอเดีย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างสรรค์ผลงานออกมา


ศูนย์นวัตกรรมโอซาก้าจึงเนรมิตพื้นที่โอซาก้าฝั่งเหนือให้กลายเป็น Knowledge Capital หรืออาณาจักรแห่งความรู้ เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ให้คนที่มีความสนใจและทักษะที่หลากหลายแตกต่างกันมารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ภายใต้คอนเซปต์ที่ว่า

"ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ผสานกับเทคโนโลยี เกิดเป็นการสร้างคุณค่าใหม่"


“ความรู้นั้นจำเป็นอย่างมากต่อการพลิกโฉมเมืองโอซาก้า และการสร้างโอกาสการจ้างงานใหม่ ๆ ดังนั้นเราจึงตั้งชื่อที่นี่ว่า ‘Knowledge Capital’” นายมาซาอากิ โยชิกาวา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมโอซาก้าและสามารถรัฐบาลท้องถิ่นเมืองโอซาก้ากล่าว


Knowledge Capital มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่กว่า 88,200 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าแกรนด์ฟรอนต์โอซาก้า (Grand Front Osaka) ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ดินคอกปศุสัตว์ของบริษัทการรถไฟแห่งชาติ การเดินทางไป Knowledge Capital นั้นง่ายมาก เพียงเดินตรงไปทางเหนือของสถานีรถไฟ JR โอซาก้า


Knowledge Capital ตั้งอยู่ใกล้กับย่านอุเมดะ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีผู้คนสัญจรไปมากว่าวันละ 2.5 ล้านคน พื้นที่ขนาดใหญ่และการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วจึงจำเป็นอย่างมากต่ออาณาจักรที่ต้องการดึงดูดผู้ใช้งานเช่นนี้

การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดยั้ง


อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าที่นี่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้นักเทคโนโลยีและนักลงทุนที่มีความสนใจและทักษะที่หลากหลายมีพื้นที่ในการระดมไอเดีย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างสรรค์ผลงาน อาณาจักรแห่งความรู้นี้จึงประกอบไปด้วยออฟฟิศหลากหลายขนาด แล็บ ซาลอนความรู้ โชว์รูม ไปจนถึงโรงละครและพื้นที่จัดงานแสดง นอกจากนี้ พื้นที่เหล่านี้ยังเน้นรองรับผู้เข้าชมทุกช่วงอายุ เพื่อให้ได้ทดลองใช้นวัตกรรมโดยไม่เสียค่าเข้าชมอีกด้วย


จากบริการที่หลากหลาย อุปกรณ์ครบครันทันสมัย และมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนา และผลิตผลงานออกมาจากความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ยอดผู้เข้าชม Knowledge Capital ตั้งแต่เปิดจนถึงปัจจุบันทะลุ 30 ล้านคน และทำให้โอซาก้ากลายเป็นเมืองชั้นนำอันดับที่ 19 ของโลก มีค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศใกล้เคียงกับกรุงปารีสและลอนดอน เพียงเริ่มต้นจากการมองให้เห็นถึงศักยภาพของคนในประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี และรู้จักบริหารจัดการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งพัฒนาตามแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน โอซาก้าจึงเป็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรมนุษย์ร่วมกับเทคโนโลยีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศสู่สังคมแห่งนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมเลยทีเดียว

.

แหล่งอ้างอิง

https://www.tkpark.or.th/tha/articles_detail/364/%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89-%E2%80%9CKnowledge-Capital%E2%80%9D-%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2

https://www.theguardian.com/sustainable-business/2016/mar/31/japan-silicon-valley-osaka-hi-tech-startups-reverse-economic-woes

https://www.investosaka.jp/eng/chance/startup.html

https://www.techinasia.com/osaka-innovation-hub-kansai-sez-medtech-japan-innovation-center

http://www.eastasiawatch.in.th/th/articles/politics-and-economy/763/

https://re-how.net/press_releases/8425/

http://www.urbanwhy.com/2016/12/20/transit-oriented-development/