สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“เศรษฐกิจอวกาศ” โอกาสของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสู่อุตสาหกรรมอวกาศ

บทความ 11 เมษายน 2565 5,421

“เศรษฐกิจอวกาศ” โอกาสของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสู่อุตสาหกรรมอวกาศ


“อวกาศ” ได้จุดประกายความอยากรู้ของมนุษยชาติมาโดยตลอด จากความรู้ดาราศาสตร์ของชาวมายันโบราณสู่ทฤษฎีของโคเปอร์นิคัส “ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ” ที่ได้รับการสนับสนุนจากกาลิเลโอ การลงจอดบนดวงจันทร์ของนาซ่า และปัจจุบัน SpaceX บริษัทเอกชนที่ให้บริการขนส่งอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ และบริษัทเอกชนจำนวนมาก เช่น สตาร์ลิงค์ (Starlink) วันเวป (OneWeb) แอสโตรสเกล (Astroscale) เอเซลสเปซ (Axlespace) เป็นต้น ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) มากขึ้น ซึ่งเป็นปรับเปลี่ยนและพัฒนาจากเศรษฐกิจอวกาศแบบเดิมที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอุตสาหกรรมอวกาศในช่วงดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนจากโครงการอวกาศที่สนับสนุนภารกิจของภาครัฐ และเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต


การเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในปัจจุบันเกิดจากการที่เศรษฐกิจอวกาศได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการส่งผ่านข้อมูล อินเทอร์เน็ต ระบบนำทางในรถยนต์หรือโทรศัพท์ ข้อมูลการติดตาม สภาพอากาศ การการจัดการและวางแผนฉุกเฉิน และข้อมูลด้านการเกษตร เป็นต้น จากข้อมูลของมอร์แกน สแตนลีย์ ได้ประมาณการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศและข้อมูลจากอวกาศมีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ในปี 2021 และมีแนวโน้มจะสูงถึง 30 ล้านล้านบาท ในปี 2040 และในปี 2021 มีการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศมากกว่า 236,000 ล้านบาท (บริษัทวิจัย ยูโรคอนเซาท์) 


ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศอย่างรวดเร็ว คือการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ที่ทำให้การสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศมีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ต้นทุนต่ำลง ซึ่งทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงสตาร์อัพเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจอวกาศ ส่งผลให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเกิดบริษัทในอุตสาหกรรมอวกาศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณ 2,500 บริษัทในปี 2000 เป็นประมาณ 10,000 บริษัทในปี 2021 อยู่ในอเมริกาเหนือจำนวน 6,600 บริษัท (www.spacetech.global) สำหรับประเทศไทย คุณเอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บมจ.ไทยคม ได้กล่าวในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021 ว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจดาวเทียมไทยเติบโตได้เร็ว ได้แก่

  1. ดาวเทียมรุ่นใหม่มีต้นทุนต่อหน่วยถูกลง 
  2. สามารถเคลื่อนย้ายการให้บริการได้ทำให้เกิดความสะดวก 
  3. ต้นทุนจรวดถูกลง 
  4. ดาวเทียมสามารถทำเป็นดวงเล็กได้ ราคาไม่แพง 
  5. จานรับสัญญาณมีราคาถูกลงทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ และ 
  6. ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาพัฒนาต่อโดยใช้เทคโนโลยี AI และ Blockchain


นอกจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีและความต้องการใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจอวกาศกาศแล้ว ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 35,600 กิจการ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจอวกาศมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันและจะทวีความสำสำคัญมาขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศในประเทศส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการนำเข้าจะต่างประเทศทำให้มีโอกาสที่ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอวกาศ 


จากความสำคัญดังกล่าว ครม. จึงได้มีการอนุมัติร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เพื่อให้การดำเนินการด้านกิจการอวกาศเป็นไปด้วยความเหมาะสม สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังเกิดความร่วมมือภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium: TSC) ที่มีหน่วยงานด้านอวกาศที่สำคัญของประเทศ 12 หน่วยงาน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการด้านอวกาศที่ดำเนินการในประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ  ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยอาศัยการสร้างดาวเทียมสำรวจอวกาศภายในประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนากำลังคนและขีดความสามารถของประเทศด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้และทักษะสูงสำหรับเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศไทยและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้ โครงการอวกาศภายใต้ TSC จะมีโอกาสสนับสนุนและพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการ เช่น วัสดุ อุปกรณ์ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของโครงการ แต่ต้องอาศัยกลไกสนับสนุนของภาครัฐและกระบวนการที่เอื้อต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย เพื่อผลักดันให้ผู้การไปสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานและแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศได้


นอกจากนี้ สำหรับการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจอวกาศในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์ความรู้ เครือข่าย และเงินทุนสนับสนุนนั้น NIA จะดำเนินการผ่านการบ่มเพาะ เร่งสร้างและสนับสนุนทุนและเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนพัฒนาวิสาหกิจฐานนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจอวกาศ ร่วมกับเครือข่ายภาคีความร่วมมืออวกาศไทย มหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมา NIA ได้ร่วมกับภาคีความร่วมมืออวกาศไทย สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) และ Thai Venture Capital Association (TVCA) ริเริ่ม “โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy: Lifting Off” ขึ้น เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านอวกาศในประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพการขยายผลทางด้านเทคโนโลยีและโอกาสการขยายสู่ธุรกิจ ผ่านการทำงานจริงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยผลักดันการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมด้านอวกาศ เพื่อสร้างและพัฒนาธุรกิจ ตลาดและห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจอวกาศ รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านอวกาศเพื่อก่อให้เกิดการลงทุน ในการผลักดันให้เกิดธุรกิจด้านเศรษฐกิจอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม การผลักดันเร่งสร้างการเติบโตด้านเทคโนโลยีอวกาศจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศของโลกที่มีมูลค่าสูง สร้างโอกาสในการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมในประเทศที่ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท 


ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภายใน 7 ปีจะมีบริษัทไทยกว่า 50 บริษัท เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอวกาศ อย่างไรก็ตามไม่ใช่เฉพาะการสร้างยานอวกาศ หรือดาวเทียมเท่านั้น แต่เทคโนโลยีอวกาศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อาหาร เกษตรกรรม เหมืองแร่ทรัพยากรและพลังงาน อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการแพทย์ และรวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


อ้างอิงข้อมูล 


บทความโดย
ดร.นิมิต นิพัทธ์ธรรมกุล
ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)