สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
IoT อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง สร้างสังคมให้ดีขึ้น
เทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังมาแรงและมอบความสะดวกสบายให้กับเราในยุคนี้เห็นทีจะไม่พ้นเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า “IoT (Internet of Things)” หรือ “อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง” ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากการที่เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนใหญ่เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้เราสามารถใช้สมาร์ทโฟนสื่อสารและสั่งการอุปกรณ์เหล่านี้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ทำงานตอบสนองความต้องการของเราได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วทันใจ
บทบาทของ NIA ในการนำ IoT มาใช้ประโยชน์เพื่อสังคม
IoT ทำหน้าที่เสมือนตัวผสานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้สั่งการและจัดเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์หลายสิบหลายร้อยชิ้นได้ง่ายยิ่งขึ้น ตั้งแต่ของชิ้นเล็ก ๆ อย่างหุ่นยนต์ดูดฝุ่นไปจนถึงของชิ้นใหญ่ ๆ อย่างยานพาหนะ การที่สิ่งของสามารถส่งข้อมูลถึงกันได้นี้ นอกจากจะช่วยจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังลดการเกิดอันตรายในขั้นตอนทำงานได้อีกด้วย จากหลักการทำงานที่ล้ำสมัยนี้ IoT จึงเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสนใจ และและเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่จะทำให้แนวคิด Smart Home และ Smart City ที่ใช้การสั่งการอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเองก็มองเห็นความสำคัญและศักยภาพในการนำ IoT มาใช้ประโยชน์เพื่อสังคมเช่นกัน ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติช่วยผลักดันและพัฒนาการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้แก้ปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ จนเกิดเป็นโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ครอบคลุมทั้ง 9 กลุ่ม ได้แก่ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน ด้านภาครัฐและการศึกษา ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านความเป็นเมือง ด้านสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และด้านการจัดการภัยพิบัติ
โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติช่วยให้คนไทยได้มีส่วนร่วมคิดแพลตฟอร์มต่าง ๆ ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น ในด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน ก็จะมี Neo Solar ที่ใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มาจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง และใช้สมาร์ทโฟนควบคุมการสั่งปั๊มน้ำและการกระจายน้ำผ่านระบบ IoT ส่วนในด้านภาครัฐและการศึกษาก็มีบริการ “ฝากรถไว้กับตำรวจ” หรือ BIP ที่มาพร้อมแอปพลิเคชันติดตามตำแหน่งแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นการให้บริการเชิงรุกด้วยระบบดิจิทัลเพื่อป้องกันปัญหาการขโมยรถตั้งแต่ต้น หรืออย่างในด้านการจัดการภัยพิบัติก็จะมีระบบเฝ้าระวังมลภาวะทางอากาศ หรือ Air Pollution Warning ที่ใช้ IoT ส่งข้อมูลไปบนคลาวด์เพื่อสังเกตการณ์แบบเรียลไทม์ พร้อมบริการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน LINE เมื่อค่ามลภาวะสูงเกินมาตรฐาน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเมื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง IoT มาประยุกต์ใช้กับแพลตฟอร์มข้างต้นที่เป็นแนวคิดของคนไทยเหล่านี้แล้ว เราก็สามารถเก็บข้อมูล วางแผน ออกแบบ และติดตามแผนการจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกง่ายดาย และลดปัญหาด้านต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น และหากเราผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เติบโตและนำไปใช้ในระดับประเทศได้ อีกไม่นานเราก็จะได้เห็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเท่านั้น แต่ยังนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมอีกด้วย
.
แหล่งที่มา :
https://www.iphonemod.net/what-is-iot-internet-of-things-true-iot.html
https://www.aware.co.th/iot-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
http://its.sut.ac.th/index.php/document-manual/the-internet-of-things
https://www.startupthailand.org/deep-tech-startup-for-the-future-th/