สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมกับ ADB หนุนต่อยอดสตาร์ทอัพไทยสายเกษตรปรับวิถีทำนาสู้โลกร้อน – สภาพภูมิอากาศโลกอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางอาหาร

News 21 ตุลาคม 2567 733

NIA ร่วมกับ ADB หนุนต่อยอดสตาร์ทอัพไทยสายเกษตรปรับวิถีทำนาสู้โลกร้อน – สภาพภูมิอากาศโลกอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางอาหาร

 

NIA ร่วมกับ ADB หนุนต่อยอดสตาร์ทอัพไทยสายเกษตรปรับวิถีทำนาสู้โลกร้อน – สภาพภูมิอากาศโลกอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางอาหาร

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเซีย หรือ ADB จับมือผสานเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ จากฝีมือสตาร์ทอัพด้านเกษตรไทย 5 ราย ได้แก่ ไบโอม ลิสเซินฟิลด์ อีซี่ไรซ์ บอร์นไทยแลนด์ และวาริชย์ จัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรมากกว่า 50 ราย พร้อมแถลงข่าวและเยี่ยมชมแปลงนาสาธิต 12 ไร่ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 2567 เพื่อแสดงถึงแนวทางยกระดับการปลูกข้าวตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน ด้วยการทำการเกษตรแม่นยำ เพิ่มผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง

ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA พร้อมด้วยนายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA และ ดร.ศรีนิวะสัน อันชา ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนาคารพัฒนาเอเชีย รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมงาน

 

ดร.กริชผกา กล่าวว่า “การปลูกข้าวเป็นเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน แต่ที่ผ่านมาการปลูกข้าวแบบดั้งเดิมต้องอาศัยปัจจัยการผลิต ทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ส่งผลให้สภาพดินเสื่อมโทรม ผลผลิตลดลง แต่มีค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากชาวนาต้องการพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรให้เกิดความยั่งยืน การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยจัดการแปลงเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรได้

 

ดังนั้น สตาร์ทอัพด้านการเกษตรของไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA มีนวัตกรรมหลากหลายที่สามารถเข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมข้าวตลอดห่วงโซ่มูลค่าของการปลูกข้าว ผ่านการจัดทำโครงการ “ต้นแบบการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล” โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank: ADB ให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน ซึ่งการทำแปลงนาสาธิตจะช่วยให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจและเปิดใจยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกข้าวมีผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมการปลูกข้าวสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”

 ดร.ศรีนิวะสัน อันชา

ด้าน ดร.ศรีนิวะสัน กล่าวเสริมว่า “โครงการสาธิตการปลูกข้าวยั่งยืนฯ เป็นหนึ่งโครงการที่ ADB ให้การสนับสนุน เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการปลูกข้าวในอนาคต ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคแม่โขงที่เรียกว่า Greater Mekong Subregion ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งหากโครงการสาธิตนี้ประสบความสำเร็จ ADB อาจขยายผลเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต เช่นเดียวกับโครงการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำคุณภาพสูงในเวียดนาม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 1 ล้านเฮกตาร์”

 

นอกจากนี้ NIA ได้แสดงนิทรรศการแนวทางเร่งสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านเกษตร เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างตลาดใหม่ทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านกลไก “Groom-Grant-Growth-Global”

 

รวมทั้งยังมีกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านการเกษตรทั้ง 5 ทีม ให้กับเกษตรกรมากกว่า 50 ราย เพื่อเรียนรู้และฝึกปฏิบัติให้เข้าใจถึงการนำไปใช้งานกับการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานได้ต่อไป ประกอบด้วย

 

  1. ไบโอม (BIOM Company Limited) ได้แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในกลุ่มของจุลินทรีย์คึกคักที่ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์แบบเฉพาะเจาะจงให้สามารถฟื้นฟูคุณภาพดินจากสารเคมีตกค้าง พร้อมทั้งเพิ่มผลผลิตให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน สามารถใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีได้ โดยลดความต้องการในการใช้ปุ๋ยเคมีลดลงได้อย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรได้ใช้กล้องจุลทรรศน์เห็นจุลินทรีย์ในดิน พร้อมรับตัวอย่างจุลินทรีย์คึกคักไปทดลองใช้ในนาข้าวกันต่อไปด้วย
  2. ลิสเซินฟิลด์ (ListenField) เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำด้วยข้อมูลจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการจัดการนาข้าว ตั้งแต่เตรียมดิน ไปถึงการเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถวางแผนการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต ลดการใช้ปุ๋ย รวมไปถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับเพื่อทำการวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว โดยเกษตรกรนำดินในแปลงนามาเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพดินด้วยเทคโนโลยี NIR สามารถได้ผลการวิเคราะห์อย่างรวดเร็ว พร้อมด้วยการวาดแปลงเกษตร เพื่อต่อไปสามารถติดตามการปลูกข้าวในมือถือได้อย่างใกล้ชิดผ่านการใช้แอพลิเคชั่น
  3. อีซี่ไรซ์ (Easy Rice Digital Technology - อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี) โซลูชันตรวจสอบพันธุ์ข้าวและคุณภาพข้าวด้วย AI พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและตรวจสอบพันธุ์ข้าวเพื่อลดการเจือปนในการปลูก และเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพข้าวด้วยระบบตรวจวัดคุณภาพข้าวแบบดิจิทัลโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า ที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ได้ให้เกษตรกรได้ตรวจสอบพันธุ์ข้าวที่แสดงให้เห็นการปลอมปนของพันธุ์ข้าว และคุณภาพของข้าวเปลือก ที่ต่อไปจะใช้เครื่องมือที่เป็นทั้งตาวิเศษและสมองกลช่วยวิเคราะห์วัดกันได้อย่างชัดเจน
  4. บอร์นไทยแลนด์ (Born Thailand แหล่งรวมสินค้าชุมชนเอกลักษณ์ท้องถิ่นทั่วไทย) แพลตฟอร์มตลาดสินค้าออนไลน์ สำหรับสินค้าชุมชนสนับสนุนเอกลักษณ์ภูมิปัญญาทั่วไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) สำหรับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปที่ต้องการพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ได้มาตรฐาน และสามารถส่งออกได้ โดยให้ชุมชนค้นหาอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เพื่อนำมาใช้สร้างเรื่องราวนำเสนอสินค้าให้มีความแตกต่าง สร้างความสนใจให้กับผู้สนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มปลูกข้าว แบ่งข้าวบางส่วนมาขายปลีกเพื่อจะได้มีรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
  5. วาริชย์ (Warich แปรรูปสินค้าเกษตร) บริการแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง และสร้างช่องทางจำหน่ายออนไลน์และออฟไลน์แบบครบวงจร ด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวรูปแบบใหม่โดยใช้การทอดกรอบแบบสูญญากาศ เพื่อลดของเสียจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร โดยได้ยกโรงงานกระบวนการผลิตมาให้เกษตรกรได้เห็นถึงกระบวนการตั้งแต่การผลิตข้าวพอง การผสมสูตรปรุงรส และการบรรจุ ถ้าเกษตรกรสนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ผลิตเพื่อจำหน่ายต่อไปได้

 

ดังนั้น โครงการนี้ จึงถือเป็นตัวอย่างต้นแบบการปลูกข้าวที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนการผลิตข้าวที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมการผลิตข้าวไทยในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน และจะมีแผนเพิ่มการขยายผลอย่างต่อเนื่องไปยังเกษตรกรทั่วประเทศต่อไป

 

#NIA #ADB #Innovation #AgTechStartup #Biom #ListenField #EasyRice #Born #Warich #RiceSustainableFarming