สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“Metaverse Seoul” เมืองเสมือนจริงแห่งแรกของโลก ที่รัฐบาลทุ่มทุนสร้างกว่าร้อยล้านบาท

บทความ 17 กุมภาพันธ์ 2565 6,498

“Metaverse Seoul” เมืองเสมือนจริงแห่งแรกของโลก ที่รัฐบาลทุ่มทุนสร้างกว่าร้อยล้านบาท

 

เก็บ #ชุดโกโกวา แล้วมาเที่ยว Metaverse Seoul กันดีกว่า! 

 

จากศูนย์กลางในการส่งออกป็อปคัลเจอร์ไปทั่วโลกอย่าง K-Pop หรือ K-Series กรุงโซลเมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ ยังเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงและเทคโนโลยี จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน’ (Miracle on the Han River) เพราะเป็นเมืองที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และขยันสร้างจุดเด่นให้อยู่ในสายตาของทั่วโลกอยู่เสมอ

 

ล่าสุดก็ได้มีการประกาศแผนการสร้างเมือง Metaverse Seoul เมืองเสมือนจริงแห่งแรกของโลกขึ้นมา แต่ใครจะไปคิดล่ะว่าโครงการยักษ์ใหญ่สุดล้ำแห่งนี้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคือหน่วยงานของรัฐบาลที่เข้ามาลงทุนสนับสนุนการสร้างกว่าร้อยล้านบาท อะไรที่ทำให้รัฐบาลกรุงโซลลงสนาม Metaverse และจะมีอะไรอยู่ใน Metaverse Seoul บ้างนั้น เรามาเปิดแผน ผ่าแนวคิดกันในบทความนี้เลย ขอบอกไว้ก่อนเลยว่าถูกใจสายเกาแน่นอน!

“Metaverse Seoul” สร้างขึ้นโดยใคร

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โลก Metaverse มักถูกขับเคลื่อนด้วยภาคธุรกิจและเอกชน เนื่องจากยังเป็นสิ่งใหม่ที่อยู่ในระหว่างการทดลอง จึงมีธุรกิจหรือนักลงทุนไม่กี่รายนัก ที่ก้าวเข้ามาในสนามแห่งนี้ แต่ใครจะไปคิดล่ะว่า หน่วยงานรัฐอย่างรัฐบาลกรุงโซล ก็เข้ามาลงสนามโลกเสมือนจริงแห่งนี้ด้วย! 

 

โดยโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ Metaverse Seoul เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘วิสัยทัศน์โซล 2030’ (Seoul Vision 2030) ภายใต้แนวคิด “Future Emotional City” โดยหน่วยงานที่ผลักดันโครงการนี้ก็คือ รัฐบาลกรุงโซล (Seoul Metropolitan Government: SMG) ภายใต้การดูแลของนายกเทศมนตรี โอเซฮุน (Oh Se-hoon) ด้วยเม็ดเงินกว่า 3.9 พันล้านวอนหรือราว 120 ล้านบาท

 

ซึ่งจุดประสงค์หลักของโครงการในครั้งนี้ คือการสร้างระบบนิเวศเสมือนจริงเพื่อบริหารงานเทศบาลเมือง ตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ การลงทุน วัฒนธรรม การบริการพลเมือง ไปจนถึงการท่องเที่ยว ครอบคลุมในทุกมิติไม่ต่างจากการบริหารจัดการเมืองแบบทั่วไป แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างออกไปคือ คนในเมืองสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ จากภาครัฐได้ง่ายขึ้น แสดงข้อคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลได้โดยตรง และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

นอกเหนือจากการสร้างเมือง Metaverse แห่งแรกของโลกแล้ว โครงการ ‘วิสัยทัศน์โซล 2030’ (Seoul Vision 2030) ยังมีแผนการพัฒนาอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย อาทิ การสร้างระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับโฉมเมืองให้เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สร้างชุมชนที่มีความหลากหลายและบ้านเรือนมีความปลอดภัย ฯลฯ โดยทั้งหมดเป็นแผนระยะยาวที่มุ่งหวังให้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน

ทำไมโซลถึงอยากเป็นเมือง Metaverse แห่งแรกของโลก

ก่อนที่ Meta จะประกาศเรื่อง Metaverse ออกมา กรุงโซลก็มีการพัฒนาเมืองให้เข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ สำหรับให้บริการประชาชนมาโดยตลอด เช่น การใช้ AI ช่วยตรวจสอบท่อระบายน้ำเสีย ใช้ AI Chatbot ในการบริการตอบปัญหากับประชาชน ฯลฯ

 

ผนวกกับการมาถึงของภาวะโรคระบาดทำให้โซลต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อนำมาสู่การช่วยยกระดับฐานะทางสังคมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ดังนั้น Metaverse Seoul รวมถึงโครงการอื่นๆ ในแผนงาน ‘วิสัยทัศน์โซล 2030’ (Seoul Vision 2030) จึงเป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะช่วยพลิกวิกฤตให้เมืองเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนภายในเมืองคือหัวใจหลักในการพัฒนา 

 

แม้ Metaverse จะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การเข้าถึงอุปกรณ์ VR ที่ยังมีราคาค่อนข้างสูง เป็นช่องทางที่อาจไม่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุที่ไม่ชำนาญในการใช้เทคโนโลยี รวมถึงปัญหาในแง่นโยบายชุมชนของ Meta ที่ไม่นานมานี้มีผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศบน Horizon Worlds ซึ่งเป็น Virtual Platform ของ Meta แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Metaverse นั้นมีข้อดีอยู่มาก หากถูกนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ ก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการสร้าง Metaverse Seoul ขึ้นมาในครั้งนี้ของรัฐบาลกรุงโซล ก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในฐานะหน่วยงานรัฐที่พร้อมปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลก 

อะไรจะเกิดขึ้นบ้างใน “Metaverse Seoul”

เชื่อว่าคำถามนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังรอคอยคำตอบอยู่แน่นอน Metaverse Seoul ถ้าอธิบายให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายๆ เลยคือ การยกกรุงโซลมาไว้ในโลก Metaverse เพราะมีตั้งแต่หน่วยงานจากภาครัฐ อาทิ ที่ประจำการเมืองโซลแบบเสมือนจริง ซึ่งเป็นจุดแลนด์มาร์คให้คนทั่วไปสามารถมาใช้บริการจากภาครัฐได้ ศูนย์บ่มเพาะทางด้าน FinTech องค์กรด้านการลงทุนจากภาครัฐ ฯลฯ

 

พร้อมเปิดมิติใหม่ทางด้านการท่องเที่ยวด้วยการเปิดให้บริการในรูปแบบ Virtual Tourist Zone ซึ่งเป็นการยกสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในกรุงโซลอย่าง จัตุรัสควางฮวามุน (Gwanghwamun Square) พระราชวังถ็อกซูกุง (Deoksugung Palace) และแหล่งช็อปปิ้งที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโซล ตลาดนัมแดมุน (Namdaemun Market) เข้ามาในแพลตฟอร์มทั้งหมด และในอนาคตก็จะมีเทศกาลและคอนเสิร์ตต่างๆ ออกตามกันมา ซึ่งรัฐบาลกรุงโซลเผยว่าจะตั้งเป้าสร้างให้เสร็จอย่างสมบูรณ์ในช่วงปลายปี 2022 และจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในต้นปี 2023 

 

แม้ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่แผนพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็สร้างเสียงฮือฮาให้กับคนทั่วโลกได้ไม่น้อย และคงต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพราะนับว่าเป็นก้าวแรกในโลก ไม่ต่างกับตอนเอลซัลวาดอร์ประกาศเป็นรัฐบาลแรกที่ยอมรับเงินคริปโตฯ ในการชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย 

 

เป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ได้ตามรอยกันมา ประเทศไทยเองก็สามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อเปิดโอกาสใหม่ๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้  

 

อ้างอิงภาพจาก : koreaherald.com, Seoul Metropolitan Government
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://english.seoul.go.kr/policy/urban-planning/urban-planning/1-2030-seoul-basic-urban-plan/
https://www.euronews.com/next/2021/11/10/seoul-to-become-the-first-city-to-enter-the-metaverse-what-will-it-look-like
https://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/metaverse-seoul-virtual/
https://futurism.com/sexual-assault-metaverse
https://www.the101.world/samsung/
https://www.reuters.com/business/finance/el-salvador-leads-world-into-cryptocurrency-bitcoin-legal-tender-2021-09-07/