สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เปิดอนาคต MedTech ไทย สู่ฮับการแพทย์โลกที่ Medica 2024

1 ธันวาคม 2567 1,201

เปิดอนาคต MedTech ไทย  สู่ฮับการแพทย์โลกที่  Medica 2024 


🩺 อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้แล้วชวนให้ติดตามไม่แพ้ใคร ก็คงต้องยกให้กับอุตสาหกรรม ‘MedTech’ เพราะในแต่ละปีจะเห็นได้ว่า มักจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยโรค การรักษา ไปจนถึงช่วยลดภาระงานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

📈 ซึ่งการเติบโตของ MedTech ไม่ได้สะท้อนให้เห็นแค่การให้ความสำคัญด้านสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย จากข้อมูลของ Statista ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2024 ตลาด MedTech ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 598.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตที่ 5.29% ดังนั้นภายในสิ้นปี 2029 ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มจะเติบโตไปได้ถึง 775.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

👨‍⚕️ เยอรมนีถือเป็นตลาด MedTech ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และสำคัญเบอร์ต้นๆ ของโลก โดยมีเครือข่ายคลัสเตอร์ด้าน MedTech มากกว่า 46 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการทำงานในภาคการผลิต และยังมีการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ซึ่งล้วนส่งผลให้มีผู้ประกอบการมากมายเกิดขึ้น และสร้างรายได้ให้กับประเทศ

🤝 นอกจากนั้น เพื่อให้ธุรกิจมีโอกาสเชื่อมต่อไปถึงนักลงทุนจากต่างประเทศ เยอรมนียังมีการจัดงานแสดงสินค้าด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คือ “Medica” โดยงานในปี 2024 ภายใต้แนวคิดที่ว่า “Meet Health. Future. People.” ซึ่งผู้ที่มาเข้าร่วมจะได้พบกับเทคโนโลยีการแพทย์ที่หลากหลาย ทันสมัย และมีการเปิดโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่าย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับโลก จากผู้เข้าชมงานกว่า 80,000 คน และผู้แสดงสินค้าทั้งหมด 5,800 รายจาก 72 ประเทศ

🚀 ในฐานะที่ประเทศไทยเองก็มีศักยภาพด้าน MedTech เช่นกัน จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของนักลงทุนทั่วโลก NIA จึงได้นำทัพ พาเหล่าสตาร์ทอัพไทยทั้ง 8 รายที่ผ่านการคัดเลือก ไปร่วมจัดแสดงผลงานเมื่อวันที่ 11 – 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ เมือง Düsseldorf สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่ง 8 สตาร์ทอัพนั้นจะมีใครกันบ้าง ตามไปดูกัน !

👉🏻 นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการ
“Eidy โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ทางด้านการแพทย์’ ซึ่งมีจุดเด่นด้านศัพท์เฉพาะทาง และระบบความคิดที่เหมือนกับแพทย์ โดยสามารถนำมาต่อยอดเป็น Chatbot ตอบคำถามทางการแพทย์เฉพาะทาง อีกตัวอย่างคือ ‘Ravis Technology’ แพลตฟอร์มบริหารการวิจัยทางคลินิก และการจัดการข้อมูลสำหรับผลิตภัณฑ์วิทยาศาสตร์ชีวภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ และยารักษาโรค โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการข้อมูลต่างๆ เพื่อช่วยประหยัดเวลา และงบประมาณ ผลงานสุดท้าย คือ ‘Pose Intelligence’ แพลตฟอร์มบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในงานบริการของโรงพยาบาล เช่น การจัดการคลังสินค้า การบริหารงานจ่ายกลาง ที่ควบคุม จัดการได้อย่างแม่นยำ ลดความซ้ำซ้อน ป้องกันความผิดพลาดได้อย่างดี

👉🏻 นวัตกรรมเพื่อกระบวนการรักษา 
‘SOS Care’ แผ่นปิดแผลลิปิโดคอลลอยด์ผสมสารสกัดจากใบบัวบกและว่านหางจระเข้ (SI-HERB DRESSING) ‘POPOLO’ อุปกรณ์ยางรัดเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ที่เกิดจากความผิดปกติของเลือดที่ไปเลี้ยงตับ นวัตกรรมนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้ มากขึ้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และ ‘Orthopeasia’ แพลตฟอร์มออกแบบวัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกสันหลัง ออกแบบและผลิตโดยโปรแกรมเฉพาะทาง ที่ช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่าย แผลเล็ก รวดเร็ว สะดวกขึ้น

👉🏻 นวัตกรรมเพื่อการพักฟื้นและการดูแลผู้ป่วย
‘BRE’ ผลิตภัณฑ์แผ่นอาบน้ำ’ แบบ 2 ขั้นตอน ที่ไม่ต้องใช้น้ำและสบู่ ช่วยให้คนไข้ที่อาบน้ำไม่ได้ ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกขึ้น  และบริษัทสุดท้ายที่ไปโชว์ผลงานคือ ‘Aquatrek Solution’ นวัตกรรมลู่วิ่งสายพานในน้ำ เป็นอุปกรณ์สำหรับวารีบำบัด ช่วยลดความเสี่ยงจากการออกกำลังกายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อข้อต่อ ในขณะเดียวกันก็ช่วยพยุงน้ำหนักตัวในการรักษาหรือบำบัดได้

การได้เข้าไปร่วมงาน Medica 2024 ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย ทั้ง 8 ราย ให้เข้าถึงองค์ความรู้และเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ สอดรับไปกับกลไกการสนับสนุนของ NIA โดยเฉพาะในด้าน Growth and Global ซึ่งหากมีการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของโลกตามยุทธศาสตร์ชาติก็คงอยู่อีกไม่ไกล

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://www.finnomena.com/planet46/one-medtech-review/ 
https://www.statista.com/outlook/hmo/medical-technology/worldwide 
https://www.gtai.de/resource/blob/64176/d2aef0544b3ab8597f8aefd0920f9f21/fact-sheet-medical-technology-clusters-en-data.pdf 
https://www.medica-tradefair.com/en/Media_News/Press/Press_material/Press_Releases/Press_Releases/MEDICA_2024_and_COMPAMED_2024_medical_technology_industry_uses_global_reach_to_compete_for_innovation_leadership 
https://www.youtube.com/watch?v=pEGuA6MTDOg&t=16s 
https://www.ravistechnology.com/who-we-are/#whoweare 
https://poseintelligence.com/ 
https://www.popolo.health/about-us 
https://www.nia.or.th/แผ่นปิดแผลจากโปรตีนกาวไหม.html 
https://www.breshowersheet.com/bre-story/ 
https://aquatreksolution.com/th/