สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับพื้นที่ให้สามารถส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะการพัฒนานวัตกรรม สมรรถนะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ

News 14 มกราคม 2568 19

NIA ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับพื้นที่ให้สามารถส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะการพัฒนานวัตกรรม สมรรถนะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดย รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ (สสวท.) เพื่อพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับพื้นที่ให้สามารถส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะการพัฒนานวัตกรรม สมรรถนะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนและหน่วยงานภาคราชการระดับพื้นที่ ซึ่งภายในงานยังได้รับเกียรติจาก นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA และ ดร.กุศลิน มุสิกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (สสวท.) รวมทั้งคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วมพิธีลงนาม เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568
 
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “NIA มีแผนการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระบบนวัตกรรมตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงการปฏิบัติในระดับบุคคล ผ่านการดำเนินแผนพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชนในหลักสูตร STEAM4INNOVATOR และการส่งเสริมทักษะการเป็นนวัตกร เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมที่มีศักยภาพ ​ปัจจุบัน NIA ได้ดำเนินโครงการ Trainers’ Lab ปั้นครู-อาจารย์เป็นผู้สร้างนวัตกร และสร้างสถาบันการศึกษาเป็นศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ ให้ผลิต “นวัตกรรุ่นเยาว์” ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับมัธยม อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยไม่จำกัดว่าเยาวชนต้องมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์หรือศิลปศาสตร์เท่านั้น เพราะทุกคนสามารถพัฒนาตนเองเป็นนวัตกรได้ ทั้งนี้ NIA หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือนี้ จะเกิดการพัฒนาหลักสูตรและการจัดทำหนังสือเรียน ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาผลงานนวัตกรรมของนักเรียน โดยครูผู้สอนสามารถใช้หนังสือดังกล่าวเป็นคู่มือในการสอนเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรม โดยใช้เครือข่ายพันธมิตรของทั้งสองหน่วยงานในการขับเคลื่อนและขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และ ยังมุ่งหวังการใช้ระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank) สำหรับวิชาพื้นฐานด้านนวัตกรรม ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้สามารถนำหน่วยกิตไปยื่นรับรองในระดับมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมในระบบการศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาบุคลากรและกำลังคน ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งของระบบนวัตกรรมในสถาบันการศึกษาได้อย่างยั่งยืน ”
 
ด้าน รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “สสวท. ได้กำหนดจุดเน้นในการดำเนินงานไว้ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาครู ตลอดจนการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถพิเศษ รวมทั้งผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยสาขาขาดแคลน ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และนวัตกร ​ทั้งนี้ สสวท.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนงานตามนโยบายการยกระดับการเรียนรู้ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนให้มีสมรรถนะทั้งศาสตร์และศิลป์ ตามแนวทาง STEAM Education ในระดับสากล ปัจจุบัน สสวท. ได้ร่วมกับ สพฐ. ขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ สำหรับโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ โดย สสวท. มีบทบาทและความรับผิดชอบหลักในด้านการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้สำหรับนักเรียนในโครงการ ซึ่งคณะทำงานได้มีแนวคิดที่จะพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานให้มีการต่อยอดพัฒนาเป็นลักษณะโครงงานนวัตกรรม การได้พัฒนากรอบความร่วมมือทางวิชาการกับ NIA จึงนับเป็นโอกาสสำคัญในการที่จะร่วมมือกันพัฒนา เพื่อให้เกิดการบูรณาการความเชี่ยวชาญเฉพาะของทั้งสองหน่วยงานในการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียนให้เป็นนักคิด นักแก้ปัญหา และนำไปสู่การพัฒนาเป็นนวัตกรซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต”