สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

How to ลงทะเบียนขอทุนนวัตกรรม ยื่นโครงการยังไงไม่ให้พลาด…ดูแล้วทำตามได้เลย !

6 ธันวาคม 2566 4,929

How to ลงทะเบียนขอทุนนวัตกรรม ยื่นโครงการยังไงไม่ให้พลาด…ดูแล้วทำตามได้เลย !

 


🙋🙋‍♀️ ผู้ประกอบการที่อยากขอทุนสนับสนุนจาก NIA ต้องดูโพสต์นี้ !

หลังจากที่ NIA ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมรายภูมิภาค (Regional Innovation Business Platform) และธุรกิจนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (Mandatory Innovation Business Platform) ที่มาพร้อม 7 กลไกการสนับสนุนใหม่ ซึ่งครอบคลุมกว่าเดิมโดยเพิ่มเติมโอกาสแก่ผู้ประกอบการรายภูมิภาคมากขึ้น และโฟกัส 6 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ธันวาคม 2566 สำหรับทุนโครงการนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ และปิดรับสมัครวันที่ 29 ธันวาคม 2566 สำหรับทุนโครงการนวัตกรรมรายภูมิภาค ซึ่งก็มีหลายคนส่งคำถามเข้ามาใน Inbox มากมายเกี่ยวกับการลงทะเบียนว่าต้องทำอย่างไร ต้องกรอกรายละเอียดแบบไหนถึงจะไม่ผิดพลาด 

ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถสมัครขอทุนและกรอกข้อมูลได้อย่างถูกต้องครบถ้วน NIA จึงได้ทำสรุปขั้นตอนสำคัญทั้งหมด ตั้งแต่การสมัครสมาชิก การลงทะเบียน การกรอกรายละเอียด และการยื่นเอกสารต่างๆ ให้ผู้ประกอบการดูและทำตามกันได้ 


👩‍💼👨‍💼หากเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังไม่เคยขอรับการสนับสนุนจาก NIA จะต้องเริ่มจากการสมัครสมาชิกก่อน
.
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ mis.nia.or.th/nia แล้วกดสมัครสมาชิกที่แถบด้านบน ซึ่งในระบบบริหารจัดการโครงการนวัตกรรม (MIS) จะมีการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น อย่าลืมอ่านรายละเอียดและกดยินยอมให้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อวัตถุประสงค์ในการพิจารณาขอรับทุนอุดหนุน การลงนามสัญญารับทุนอุดหนุน การเบิกจ่ายเงินอุดหนุน การติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุน 
.
2. เลือกวัตถุประสงค์ของการลงทะเบียน สำหรับผู้ประกอบการให้เลือก ‘สมัครสมาชิกเพื่อยื่นโครงการ’ 
.
3. หลังจากนั้นก็เข้าสู่การกรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ที่ห้ามลืมเด็ดขาดคือ อีเมลและรหัสผ่านที่จะใช้สำหรับการเข้าสู่ระบบ


🧑‍💻เมื่อเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการยื่นโครงการกัน
.
1. ไปที่แถบด้านซ้ายให้เลือก ‘ยื่นโครงการใหม่’ แล้วระบบก็จะไปที่หน้ากลไกต่างๆ 
.
2. เลือกยื่นโครงการตามกลไกทุนที่ต้องการสมัคร โดยแต่ละกลไกก็จะมีระยะเวลาในการรับสมัครที่แตกต่างกัน อย่าลืมวางแผนและกรอกข้อมูลการสมัครให้ทันตามวันเวลาที่กำหนด (ปล. อย่าลืมเผื่อเวลาสำหรับปริมาณโครงการที่เข้ามาในช่วงใกล้ปิดรับสมัครด้วย เพราะเมื่อมีผู้ใช้งานมาก ระบบ MIS ก็อาจจะทำงานช้าลงหรือขัดข้องก็เป็นได้) ดังนั้น แนะนำว่าเตรียมข้อมูลให้พร้อม และกรอกให้ครบถ้วน จากนั้นกด Summit โครงการเข้ามาตามวันเวลาที่กำหนด
.
3. ในส่วนรายละเอียดโครงการ ระบบจะขึ้นข้อมูลตามกลไกที่ได้เลือกไว้ ทั้งโปรแกรมหลักและย่อย ส่วนสาขาหลักและสาขารองให้ระบุตามธุรกิจที่สมัคร และกลไกการให้ทุนให้เลือก ‘แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน’ ตามภาพตัวอย่าง
.
อีกส่วนที่สำคัญ คือ ‘ชื่อโครงการ’ ซึ่งควรตั้งชื่อให้สอดคล้องและบ่งบอกถึงเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ใช้ในโครงการ โดยเฉพาะกับทุนในโครงการนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (Mandatory Innovation) ซึ่งกำหนดประเภทธุรกิจนวัตกรรมใน 6 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
.
📈นอกจากนี้จะเห็นว่ามีส่วนที่ให้กรอกรายละเอียดโครงการและรายละเอียดเชิงเทคนิค ซึ่งมีพื้นที่ให้จัดเต็มมากกว่าส่วนอื่น นี่คือโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้เล่าจุดเด่นของโครงการ บอกที่มาของปัญหา แนวทางในการพัฒนา พร้อมกับระบุเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของโครงการว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
.
อีกนิด! ก่อนไปสู่ขั้นตอนถัดไป หากมีที่ปรึกษาโครงการ (ISP) อย่าลืมเลือกรายชื่อของที่ปรึกษาเข้ามาด้วย โดยต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีการลงทะเบียนในระบบ MIS เรียบร้อยแล้ว หากค้นหาไม่พบสามารถแจ้งผู้เชี่ยวชาญให้มาลงทะเบียนเพิ่มเติมได้ หรือถ้าหากไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องเลือก


✍ ส่วนสุดท้ายที่ห้ามพลาด คือ ‘ข้อมูลบริษัท’ ต้องใส่รายละเอียดข้อมูลนิติบุคคล คณะกรรมการและผู้มีสิทธิ์ลงนาม 
.
1. เริ่มจากมาที่หน้า Dashboard จะเห็นส่วนข้อมูลบริษัท ให้กดไปที่ ‘เพิ่มข้อมูลบริษัท’
.
2. ระบบจะนำไปที่หน้าเพิ่มข้อมูลนิติบุคคล ซึ่งข้อมูลนิติบุคคลต้องกรอกข้อมูลตามเอกสารรับรองบริษัทที่จดทะเบียนไว้ พร้อมกับระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่สามารถติดต่อได้ในปัจจุบัน และบอกประเภทธุรกิจว่าจัดอยู่ในสาขาใดให้ครบถ้วน
.
3. ต่อมาคือการระบุ คณะกรรมการและผู้มีสิทธิ์ลงนามตามข้อมูลเอกสารรับรองบริษัท ข้อมูลของผู้ลงนามจะต้องใส่จำนวนหุ้นและระบุว่ามีสัญชาติไทยหรือไม่ จำนวนหุ้นที่ใส่มาต้องรวมกันได้ 100% เท่านั้น อีกทั้งต้องเป็นนิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด 
.
✅ ที่สำคัญ อย่าลืมแนบเอกสารใบรับรองบริษัท และหนังสือรับรองบริคณห์สนธิ ในรูปแบบไฟล์ PDF เข้ามาด้วย เมื่อตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องแล้วทั้งหมดก็กดบันทึกได้เลย
.
สุดท้ายแล้ว แม้ความน่าสนใจของนวัตกรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพิจารณา แต่การส่งเอกสารต่างๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ก็มีส่วนช่วยในการลดอุปสรรค หรือความล่าช้าลงได้เช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://open.nia.or.th/mis-register