สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

พลิกฟื้นย่านเก่าเป็นพื้นที่การเรียนรู้ “Learn Plearn เลิร์นเพลิน”

บทความ 28 มกราคม 2565 2,469

พลิกฟื้นย่านเก่าเป็นพื้นที่การเรียนรู้ “Learn Plearn เลิร์นเพลิน”

 

เปลี่ยนย่านโรงหนังเก่า ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ใหม่

 

อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ EEC ที่จะเกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมกะโปรเจกต์หลายด้านซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของเมืองอย่างก้าวกระโดด  แต่การพัฒนาเชิงพื้นไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองควบคู่ไปพร้อมกัน

 

โดยในปีที่ผ่านมา NIA ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์นวัตกรรมวิชาการเทศบาลเมืองบ้านฉาง เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เรื่องราวของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน และในปี 2564 นี้เรามีโครงการอีกหนึ่งโครงการใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการออกแบบแนวคิดเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาจริงในอนาคต

 

นั่นก็คือ “เลิร์นเพลิน (Learn Plearn)” โครงการพลิกฟื้นชุมชนในย่านโรงภาพยนตร์บูรพาเธียร์เตอร์และซอยโลกีย์ไปจนถึงตลาดเทพจินดา ซึ่งเป็นย่านที่ขาดพื้นที่การเรียนรู้ มีสถาบันการศึกษาไม่เพียงพอต่อความต้องการ ให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนในชุมชนทุกช่วงวัย ผ่านวิธีการที่หลากหลายและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยได้แรงบันดาลใจมาจากความต้องการของคนในพื้นที่เอง

 

ย่านนี้จะมีความน่าสนใจอย่างไร มีการปรับพื้นที่ในมุมไหนบ้าง ก็อยากให้ลองมาทำกับความรู้จักกัน 

จากบาร์เก่า 5 คูหา สู่ “Tele Cooking” บาร์และร้านอาหารสำหรับการเรียนรู้

เริ่มกันที่จุดแรก บริเวณโรงภาพยนตร์บูรพาเธียร์เตอร์และซอยโลกีย์เป็นอีกจุดของเมืองที่มีเอกลักษณ์สมชื่อ เพราะเป็นย่านสถานบันเทิงของคนในพื้นที่บ้านฉาง มีร้านอาหาร ผับ บาร์มากมาย แต่ด้วยวิกฤตโรคระบาด อาจทำให้ย่านนี้ไม่คึกคักเหมือนที่เคย เพราะต้องปรับพื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

 

นำมาสู่การปรับพื้นที่บาร์เก่าขนาด 5 คูหา 4 ชั้น เป็นบาร์หรือร้านอาหารสำหรับการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า “Tele Cooking” ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมมาพัฒนาเป็นต้นแบบธุรกิจยุคใหม่ของคนในชุมชน ในตอนกลางวันเป็นร้านอาหารที่มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้มาใช้บริการเพื่อนำไปวิเคราะห์แนวโน้มการบริโภคของคนในพื้นที่ เช่น ข้อมูลโภชนาการ แหล่งที่มาของอาหาร รวมถึงพฤติกรรมการเลือกรับประทาน

 

ในตอนกลางคืนจะเปลี่ยนพื้นที่เป็นบาร์ซึ่งมีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้มาใช้บริการเช่นกัน เพื่อศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมของคนในการดื่ม เช่น ปริมาณสูงสุดที่สามารถดื่มได้ ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ร่วมกับแผนงานอื่นๆ ได้ เช่น สถิติอุบัติเหตุเมาแล้วขับ 

ปรับโฉม “โรงภาพยนตร์บูรพาเธียเตอร์” เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี AR/VR”

เป็นที่น่าเสียดายที่โรงหนังสแตนอโลนอย่างโรงภาพยนตร์บูรพาเธียเตอร์ กลายเป็นตำนานที่ถูกลืมมากว่า 20 ปี จากโรงภาพยนตร์ที่อยู่คู่กับคนบ้านฉางมาอย่างยาวนาน เป็นเหมือนจุดนัดพบของคนในชุมชนตั้งแต่อดีต ในวันนี้เหลือเพียงซากตึกเก่าที่พร้อมผุพังไปตามกาลเวลา 

 

NIA จึงร่วมออกแบบกับคนในชุมชนในการปรับโฉมโรงภาพยนตร์ที่มีพื้นที่ 2,650 ตารางเมตร เป็นศูนย์กลางที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการใช้หลากหลายนวัตกรรม อาทิ การเรียนรู้ประสบการณ์อาชีพผ่านแว่นตา 3 มิติ (Virtual Reality) การเปิดพื้นที่จัดแสดงผลงานนวัตกรรม สนามประลองหุ่นยนต์ขนาดเล็ก การจัดนิทรรศการที่มีการนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เพื่อดึงดูดให้ผู้คนมาเยี่ยมชม

 

อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ขายสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์จากคนในชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา รวมถึงมีศูนย์ปรึกษาการออกแบบภายใน Smart Space สำหรับชุมชน โดยทั้งหมดเป็นการปรับพื้นที่ให้คนเข้าถึงได้ง่าย คนในชุมชนสามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมได้สะดวก 

เพิ่มโอกาสสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ กับ “ห้องสมุดมนุษย์ (Living Library)”

พื้นที่ในลำดับถัดมา เป็นเหมือนกับจุดรวมพลเพื่อให้คนได้พบปะหรือแลกเปลี่ยนกัน เพราะบริเวณพื้นที่นี้แม้จะมีร้านอาหาร บาร์ หรือร้านนั่งชิลอยู่เยอะก็ตาม แต่ก็ยังขาด Co-working space หรือพื้นที่ให้คนได้มานั่งทำงาน แลกเปลี่ยนความรู้ หรือแบ่งปันประสบการณ์กัน ซึ่งพื้นที่แบบนี้มีความสำคัญ ไม่ต่างจากจุดอื่นๆ ที่เคยได้เล่ามา

 

คนในพื้นที่ร่วมกับ NIA จึงเสนอว่าให้มีการปรับพื้นที่อาคารทรุดโทรม 3 คูหา 2 ชั้นที่อยู่ใกล้กับโรงภาพยนตร์บูรพาเธียเตอร์ เป็นอาคารที่มีชื่อว่า “ห้องสมุดมนุษย์ (Living Library)” โดยในวันปกติจะเปิดเป็น Co-working space และจะมีการจัดกิจกรรมเดือนละ 2 ครั้ง เช่น การเรียนรู้อาชีพใหม่ๆ จากผู้มีประสบการณ์ตรง อาทิ เรียนรู้การเป็นเจ้าของสวนผัก เรียนรู้เป็นช่างเสริมสวย เป็นต้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนในชุมชนและส่งเสริมเยาวชนให้มีแรงบันดาลใจในการเลี้ยงชีพ

เปลี่ยนตึกแถวใกล้สถานบันเทิงเป็น “คลินิกสุขภาพกายใจเพื่อผู้ทำงานกลางคืน”

ไม่ใช่แค่สร้างพื้นที่การเรียนรู้ เรายังเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยเฉพาะคนทำงานกลางคืน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ย่านนี้เป็นย่านสถานบันเทิง อาจทำให้มีสถิติผู้ป่วยมากกว่าในจุดอื่น หากมีอุบัติเหตุจำเป็นต้องมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในเวลาฉุกเฉินช่วงกลางคืน จุดนี้ก็จะเป็นอีกจุดที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับคนในชุมชน 

 

โดยคลินิกแห่งนี้มีชื่อว่า “คลินิกสุขภาพกายใจเพื่อผู้ทำงานกลางคืน” ออกแบบไว้ในบริเวณพื้นที่ว่าง 2 คูหา 4 ชั้นตรงข้ามกับถนนเทศบาล 25 เยื้องกับแหล่งสถานบันเทิงของบ้านฉาง ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดรักษาผู้ช่วยในช่วงกลางคืนแล้ว ในตอนกลางวันก็จะมีคลินิกสุขภาพใจให้บุคคลทั่วไปเข้ามาปรึกษาได้