สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Society 5.0 ญี่ปุ่นมุ่งสู่สังคมดิจิทัลเต็มตัว

บทความ 5 สิงหาคม 2562 12,109

Society 5.0 ญี่ปุ่นมุ่งสู่สังคมดิจิทัลเต็มตัว


ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพยายามปรับตัวให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 ด้วยนโยบายอันส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านพลเมือง ที่อยู่อาศัย และภาคอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนภาพรวมของเศรษฐกิจแบบเดิมให้กลายเป็นรูปแบบใหม่ อันถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ อยู่นั้น แต่ญี่ปุ่นได้ไปไกลกว่ามากนั้น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังมุ่งหน้าจัดทำนโยบายที่เรียกว่า Society 5.0 เพื่อมุ่งหวังให้ประชากรก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ยกตัวอย่าง อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)  หรือ หุ่นยนต์ (Robotics) เพื่อรองรับปัญหาที่จำนวนประชากรลดลงบวกกับผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ในปัจจุบันนั้นพวกเราทุกคนกำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางโลก 2 มิติที่ผสมกลมกลืนกันไปได้แก่ โลกทางกายภาพ (Physical space) ซึ่งเป็นโลกที่เรา ๆ คุ้นเคยจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส และสัมผัส) และ โลกเสมือน (Cyber space) ซึ่งเกิดจากการก้าวหน้าของเทคโนโลยี คนเริ่มใช้ชีวิตในโลกเสมือนมากขึ้น เช่นสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) ได้แก่ Facebook, Instagram, Twitter, Line เป็นต้น และในอนาคตอันใกล้นี้โลกเสมือนจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของพวกเรามากขึ้นเช่น การใช้ Smart Watch ที่นอกจากจะใช้ดูเวลา ยังมีการแจ้งเตือนอัตราการเต้นหัวใจ การนับจำนวนก้าว รวมไปถึงการบันทึกแคลอรี่ที่เผาผลาญหลังจากการคำนวณจากระยะทางที่ก้าวไปแล้วในแต่ละวันลงไปในสมาร์ทโฟน แล้วประมวลผลกลับออกมายังโลกแห่งความจริงก็คือข้อมูลแสดงผลให้พวกเราได้ทราบเป็นสถิติในแต่ละวัน หุ่นยนต์จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ยานพาหนะที่ใช้จากเดิมใช้น้ำมันเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนก็จะแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด เงินสดจะไม่มีการพกติดตัวอีกต่อไปเพราะสามารถใช้จ่ายผ่าน Online ได้โดยตรง

กำแพงที่คอยขัดขวาง 


นอกจากนั้นยังมีกำแพงอยู่ 5 ประการที่คอยขัดขวางการก้าวขึ้นสู่ Society 5.0 คือ กำแพงที่ 1 คือระบบราชการ โดยทุกกระทรวงจะต้องร่วมมือกันผ่าน IoT เป็นตัวเชื่อม กำแพงที่ 2 คือกำแพงกฎหมายโดยจะต้องแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการพัฒนารถอัตโนมัติ, อากาศยานไร้คนขับ, หุ่นยนต์ โดยนึกถึงเสียงประชาชนเป็นสำคัญ กำแพงที่ 3 คือกำแพงระบบกฎหมายเทคโนโลยี ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี IoT, Robotics, AI ปรับปรุงภาษีวิจัย รวมทั้งผลักดันโดยใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 1% ของ GDP ของญี่ปุ่นเอง (ประมาณ 26,000 ล้านเยน) เพื่อลงทุนการวิจัย กำแพงที่ 4 คือกำแพงทรัพยากรมนุษย์ นั่นคือมีความจำเป็นต้องสร้างความรู้ ส่งเสริมความสามารถตั้งแต่ระดับประถม ลากยาวไปถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต กำแพงสุดท้าย คือ กำแพงการยอมรับทางสังคมเพราะในอนาคตปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น เรียกได้ว่าแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นแล้วการจะทำให้ชาวญี่ปุ่นมีความมั่นใจในหุ่นยนต์ที่กำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมากทีเดียว


เห็นได้ว่า Society 5.0 มุ่งเน้นการสร้างศักยภาพของคนในสังคมโดยมองว่าความท้าทายที่สังคมญี่ปุ่นต้องเผชิญรออยู่ข้างหน้าการเตรียมความพร้อมของปัจเจกบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และสถาบันวิจัยอย่างเป็นระบบ จะทำให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความยืดหยุ่นและมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่มากขึ้น ก็หวังว่าประเทศไทยของเราจะตื่นตัวและเจริญรอยตามญี่ปุ่นให้ได้ ไม่ยากจนเกินไป หากทุก ๆ ฝ่ายร่วมมือกันอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะได้เห็น ‘ไทยแลนด์ 4.0’ แบบเต็มตัวและอาจจะก้าวกระโดดไปถึงขั้นกลายเป็นไทยแลนด์ 5.0 ก็เป็นได้

.

แหล่งที่มา :

https://www.tpa.or.th/publisher/pdfFileDownloadS/p12-16.pdf

http://genonline.co/2019/02/15/japan-tomorrow-social-5-0/

https://brandinside.asia/thailand-4-japan-5/

https://globthailand.com/japan_0015/

https://www.thailandff.org/post/society-5-0

https://www.salika.co/2018/08/28/japan-5-0-society-5-0/