สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

อว. โชว์ตัวอย่างนวัตกรรมฝีมือคนไทย ดันไทยก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม พร้อมเดินหน้าปั้นสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเทคโนโลยียุคใหม่ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

News 2 มีนาคม 2564 1,800

อว.โชว์ตัวอย่างนวัตกรรมฝีมือคนไทย ดันไทยก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม พร้อมเดินหน้าปั้นสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเทคโนโลยียุคใหม่ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปลื้มสตาร์ทอัพ/เอสเอ็มอีไทย ย้ำประเทศไทยต้องมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง กำชับ อว. ส่งเสริมและโครงการนวัตกรรมในทุกมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่อนาคต ภายหลังเยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมจากตัวแทนเยาวชน สตาร์ทอัพ/เอสเอ็มอีไทย ภายใต้แคมเปญ Innovation Thailand – นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปด้วยกัน ซึ่งริเริ่มโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA และคณะผู้บริหารเข้าร่วมการนำเสนอผลงาน 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความชื่นชมความสามารถของเยาวชนไทย คนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีไทย ที่สามารถสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม โดยอาศัยแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นของเราเอง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินต่อไปได้ โดยอาจจะเปิดเวทีกลาง หรือ Sand box ให้สตาร์ทอัพและคนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพผ่านการประกวดและคัดเลือกทีมที่มีศักยภาพ เพื่อต่อยอดให้เกิดการลงทุนได้จริง หรือการส่งเสริมและขยายโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เปิดเผยว่าหนึ่งในภารกิจของ อว. คือ การมุ่งเน้นขับเคลื่อนประเทศให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วด้วยการผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคน และการนำองค์ความรู้แบบบูรณาการผนวกกับงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการต่อยอดธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เดินหน้าด้วยความมั่นคง โดยมุ่งกระจายโอกาสสู่ระดับภูมิภาคอย่างเท่าเทียม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายในหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ที่พร้อมจะช่วยกันส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในพื้นที่ให้พร้อมเติบโตและสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศได้อย่างยั่งยืน 

อีกทั้งยังเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยจากประเทศแห่งวัฒนธรรมและรอยยิ้ม ให้กลายเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่าที่ผ่านมา NIA ได้ดำเนินงานในการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมระดับเวทีโลก ทั้งมิติทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเยาวชน/อาชีวศึกษา/อุดมศึกษา กลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มพื้นที่เปราะบาง ผ่านโครงการต่างๆ ของ NIA อาทิ โครงการ Startup Thailand League ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับอุดมศึกษาได้ร่วมกันระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ผ่านเครือข่าย 40 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีนักศึกษาที่เคยเข้าร่วมโครงการกว่า 60,000 คน และสามารถจดทะเบียนได้กว่า 40 บริษัท โครงการ Founder Apprentice เป็นกิจกรรมที่เปิดให้นักเรียน นักศึกษา หรือบัณฑิตจบใหม่ได้ฝึกงานร่วมกับบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็น “ผู้ก่อตั้ง” ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอี เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้มีทักษะและมุมมองในการสร้างธุรกิจนวัตกรรม พร้อมใช้ชีวิตทำงานจริงแบบสตาร์ทอัพกับโจทย์ธุรกิจที่ท้าทายความสามารถ 

โครงการนิลมังกร อีกหนึ่งโครงการที่ริเริ่มขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยทั้งสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในภูมิภาคสู่การเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation Based Enterprise: IBE) ผ่านกิจกรรมการสร้างเครือข่ายนวัตกรรุ่นใหม่และผู้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมส่วนภูมิภาค ซึ่งมีเข้าร่วมกว่า 564 บริษัทจาก 20 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกิจกรรมการประกวดสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยที่มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 295 ธุรกิจนวัตกรรม  และ โครงการ Deep South Business Coaching Program ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมการจัดการนวัตกรรมสำหรับพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเข้าร่วมกว่า 500 คน ผ่านเข้าสู่การบ่มเพาะ 101 ทีม และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรมได้กว่า 40 บริษัท เป็นต้น

สำหรับนักศึกษา สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการนวัตกรรมที่นำผลงานมาจัดแสดงในครั้งนี้ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ แม้ในช่วงวิกฤตสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเติบโต ในบางรายเรียกได้ว่าจากวิกฤตสร้างโอกาสให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นเสียด้วย โดยโครงการดังกล่าวล้วนแล้วแต่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ จาก NIA ซึ่งประกอบด้วย Happy Grocers (แฮปปี้ โกรเซอร์) เจ้าของผลงานร้านขายของชำออนไลน์ สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่ให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ และไม่สร้างขยะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันสุดยอด Startup Thailand League 2020 ระดับประเทศ Agnos (แอ็กนอส) แอปพลิเคชั่นวิเคราะห์โรคเบื้องต้นและให้คำแนะนำผู้ป่วยโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ Founder Apprentice บริษัท พันธนันท์ คอนซัลติ้ง จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของนวัตกรรม “น้ำพริกส็อก By Chef May” และบริษัท นาซ่าไฟร์โปรดัคส์แอนด์เซฟตี้ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา เจ้าของนวัตกรรม “สเปรย์ดับเพลิง แบรนด์ FLAMEX” ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการนิลมังกร และสุดท้ายกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีอาลี จังหวัดยะลา เจ้าของนวัตกรรม “เครื่องล้างปลากึ่งอัตโนมัติสำหรับการผลิตปลาส้มฮาลาล” ตัวแทนจากโครงการ Deep South Business Coaching Program

รมว.อว. กล่าวทิ้งท้ายว่า อว. ยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอนาคตประเทศให้เดินหน้าได้สู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงเยาวชน สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการนวัตกรรม และประชาชนทุกคน ในการนำพลังแห่ง “จินตนาการ” ผสานกับ “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อสร้างสรรค์ผลงานตอบโจทย์ความต้องการของสังคม พร้อมจะเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน