สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

นวัตกรรมเพื่อชุมชนในยุคภาวะโลกเดือด (Innovation for Communities in the era of Global Boiling)

23 กันยายน 2567 3,435

นวัตกรรมเพื่อชุมชนในยุคภาวะโลกเดือด (Innovation for Communities in the era of Global Boiling)

พูดถึงประเด็นที่มีความร้อนแรงอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ก็คือ “ภาวะโลกเดือด” ซึ่งเป็นผลมาจากการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งนี้ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคนในสังคมอีกด้วย และสิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเร็วมาก และรุนแรงกว่าที่เราคาดคิด ภาวะโลกเดือดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม หรือการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก

ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เราต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเราสามารถเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคนในชุมชน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การบริหารจัดการขยะและมลพิษที่ดี การบริหารจัดการทรัพยากรทางน้ำ ทะเล และชายฝั่ง การป้องกันและการจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ รวมถึงการช่วยลดคาร์บอนในระดับชุมชน โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการจัดการปัญหาดังกล่าว

NIA ที่เห็นความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว จึงมีแผนดำเนินงานภายใต้โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ประจำปี 2568 (City & Community Innovation Challenge 2025) เพื่อเปิดรับนวัตกรรมในหัวข้อ นวัตกรรมเพื่อชุมชนในยุคภาวะโลกเดือด (Innovation for Communities in the Era of Global Boiling) โดยแบ่งเป็นประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น ดังนี้

 

ประเด็นที่ 1 พลังงานทดแทนสำหรับชุมชน (Renewable Energy for the Community)

นวัตกรรมเพื่อพลังงานทดแทนสำหรับชุมชน คือการประยุกต์การใช้งาน กระบวนการ รวมถึงวิธีการบริหารจัดการพลังงานในระดับบ้านเรือนหรือชุมชน โดยนำพลังงานทดแทนประเภทต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งพลังงานอื่นๆ ใช้ในชีวิตประจำวัน ประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

ตัวอย่างโครงการนวัตกรรม เช่น

  • โครงการเรือไฟฟ้า พลังงานโซล่าเซลล์ โดย วิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี

  • โครงการ DJOP Smart Farm ระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะ โดย บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ร่วมมือกับ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดอุดรธานี

 

ประเด็นที่ 2 การบริหารจัดการทรัพยากรทางน้ำ ทางทะเล และชายฝั่ง (Water, Marine and Coastal Resources Management)

นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางน้ำ ทางทะเล และชายฝั่ง คือการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ และอนุรักษ์เพื่อความเหมาะสมและเพียงพอสำหรับความต้องการอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำจืด น้ำประปา น้ำทะเล แม่น้ำ คลอง บึง ป่าชายเลน และชายหาด เป็นต้น ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มุ่งเน้นการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาคุณภาพน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางน้ำ ทางทะเล และชายฝั่ง การท่องเที่ยวทางทะเลเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการทำประมงยั่งยืน การแปรรูปอาหารทะเล และการฟื้นฟูระบบนิเวศสำหรับสัตว์น้ำ

ตัวอย่างโครงการนวัตกรรม เช่น

  • โครงการ Inc-square: ระบบบึงประดิษฐ์บำบัดน้ำเสียในคลองชุมชน โดย บริษัท อิงค์ สแควร์ จำกัด ร่วมมือกับ สำนักงานเขตบางซื่อ ชุมชนสีน้ำเงิน และชุมชนบ้านมั่นคง กรุงเทพมหานคร

  • โครงการแมวกินปลา โมเดลเพิ่มความสามารถในการจัดจำหน่ายอาหารทะเลยั่งยืน โดย บริษัท เอาท์คัม คอมมูนิเคชั่น จำกัด

ประเด็นที่ 3 การบริหารจัดการขยะและมลพิษ (Waste and Pollution Management)

นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการขยะและมลพิษ จะมุ่งเน้นวิธีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหลายรูปแบบและครอบคลุมทุกขั้นตอนของการจัดการขยะประเภทต่าง ๆ เช่น ขยะเศษอาหาร ขยะจากเสิ้อผ้าแฟชั่น การลดขยะให้เหลือศูนย์ การนำขยะมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ การลดการสร้างขยะ การเก็บรวบรวม การขนส่ง การคัดแยก การรีไซเคิล ไปจนถึงการจัดการขยะอย่างปลอดภัยในชุมชนพื้นที่ห่างไกล เช่น ชุมชนบนเกาะ หรือชุมชนชายแดน รวมถึงการจัดการมลพิษ ทางน้ำ ทางอากาศ ทางเสียง หรือวัสดุลดมลพิษด้วยผลิตภัณฑ์วิธีการหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ใช้ในการลดหรือป้องกันการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

ตัวอย่างโครงการนวัตกรรม เช่น

  • โครงการ Recycill ระบบทำลายเชื้อในขยะติดเชื้อโรงพยาบาล โดย บริษัท กานดา แอสเส็ท 2020 จํากัด ร่วมมือกับ โรงพยาบาลท่าโรงช้าง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

  • โครงการ ผลิตภัณฑ์ศิลปะประเภทประติมากรรมจากพลาสติกและอลูมิเนียมรีไซเคิล โดย วิสาหกิจชุมชน From waste to Wow @ Bang Pung ร่วมมือกับ เทศบาลเมืองลัดหลวง จังหวัดสมุทรปราการ

 

ประเด็นที่ 4 การป้องกันและการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster Prevention and Management)

นวัตกรรมเพื่อการป้องกันและการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ธรณีพิบัติภัย อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ครอบคลุมถึงการป้องกันและลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อม การเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน และการฟื้นฟูหลังจากเกิดภัยพิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างโครงการนวัตกรรม เช่น

  • โครงการ Dr. Barrier แอปพลิเคชันช่วยตัดสินใจในการชิงเผาเพื่อลดปัญหาไฟป่า โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

  • โครงการ Fon Faa Arkat สถานีแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมและสภาพอากาศอย่างแม่นยำด้วย AI สำหรับชุมชน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

 

ประเด็นที่ 5 ความเป็นกลางทางคาร์บอนในระดับชุมชน (Carbon-Neutral Community)

นวัตกรรมเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนในระดับชุมชน มุ่งเน้นในการแสวงหานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชุมชนสามารถลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนถึงระดับที่เป็นกลาง เพื่อเป้าหมายในการลดอุณหภูมิของโลกจากก๊าซเรือนกระจก เช่น การประเมินเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อลดคาร์บอน การอนุรักษ์ ออกแบบ การคำนวณการลดคาร์บอน ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ รวมถึงการปลูกป่าเส้นทางธรรมชาติเพื่อลดคาร์บอน เป็นต้น

ตัวอย่างโครงการนวัตกรรม เช่น

  • โครงการการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์แบบคาร์บอนต่ำในพื้นที่คลองบางมดด้วยเรือไฟฟ้า EV โดย วิสาหกิจชุมชนคลองบางมดสร้างสรรค์

  • โครงการสำรวจระยะไกลเพื่อประเมินศักยภาพและติดตามผลของการฟื้นฟูร่วมกับการพัฒนาชุมชน สำหรับตลาดคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ที่โปร่งใส โดย บริษัท เช้นจ์ เวนเจอร์ จำกัด

 

ดังนั้น NIA จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับ “นวัตกรรมเพื่อชุมชนในยุคภาวะโลกเดือด” (Innovation for Communities in the era of Global Boiling) เพื่อขอรับการสนับสนุนภายใต้ “โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ประจำปี 2568” (City & Community Innovation Challenge 2025) วงเงินสนับสนุนสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อโครงการ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม https://social.nia.or.th/2024/city68/ สมัครยื่นข้อเสนอโครงการได้ที่ https://mis.nia.or.th/ ภายในวันที่ 11 ตุลาคม 2567

 

ขอขอบคุณที่มาของแหล่งข้อมูลจาก

 

บทความโดย
วัชราภรณ์ แสงสว่าง (ตาล)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)