สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ชี้เป้า 3 เทรนด์นวัตกรรมมาแรง! ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2567 (Innovation Trends for Thailand 2024)

11 กุมภาพันธ์ 2567 7,090

ชี้เป้า 3 เทรนด์นวัตกรรมมาแรงที่จะเป็นสปอตไลท์สำหรับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2567 "Innovation Trends for Thailand 2024"

 

เริ่มต้นปี 2567 ด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อกระแสโลก และยกระดับระบบอุตสาหกรรมและบริการให้เชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าโลก ภายใต้แนวคิดการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation-Led Economic Growth)

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชี้เป้า 3 เทรนด์นวัตกรรมมาแรง ที่จะเป็นสปอตไลท์สำหรับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2567

 
1. Climate Tech – เทคโนโลยีเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการตื่นตัวและร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมองหาพลังงานทางเลือก (Alternative energy) ที่เป็นพลังงานสะอาดและหมุนเวียนได้ (Clean and renewable energy) ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าในการกักเก็บพลังงาน (Energy storage) รวมถึงบางอุตสาหกรรมมีการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon capture, utilization and storage: CCUS) เพื่อนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตที่หลากหลายต่อไป ซึ่งถือเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในคราวเดียวกัน อีกทั้งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายต่อยอดเพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart grid) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เกิดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่อย่าง Climate Tech ที่มีทั้งผู้เล่นรายใหม่อย่างบริษัท Startup และผู้เล่นรายใหญ่ที่มองหาเทคโนโลยีทางเลือกที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการเร่งด่วนในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น เทรนด์ดังกล่าวนำมาซึ่งการสร้างคุณค่าในการมีส่วนร่วมให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ของผู้คนในสังคม เช่น เทรนด์สินค้ารักษ์โลก แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

 

2. EV Tech – เทคโนโลยีเพื่อตอบกระแสยานยนต์ยุคใหม่

เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle) กำลังเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายในปี 2573 ประเทศไทยมีเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในแต่ละปี ภาครัฐมีแผนส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบตเตอรี่และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นแรงหนุนที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูงที่ช่วยให้ยานยนต์มีความคล่องตัว ระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่เข้ามาเปิดโลกใหม่ในการขับขี่ที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐสำหรับผู้ผลิตและผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้า จึงดึงดูดให้ตลาดกลุ่มนี้มีผู้เล่นหลากหลายตลอดห่วงโซ่คุณค่า ส่งผลให้เกิดกลไกการแข่งขันที่ผลักดันมาตรฐานสินค้าและบริการของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้สูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านโครงสร้างพื้นฐานในการอัดประจุไฟฟ้า (Charging Infrastructure) และแพลตฟอร์มใช้บริการร่วมกัน (Sharing platform) ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายและมีความเชื่อมั่นในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

 

3. Creative Tech – เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนขุมพลังใหม่เศรษฐกิจไทย

Creative Tech

เทคโนโลยีสร้างสรรค์กำลังเข้ามาเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์ด้านศิลปะ วัฒนธรรม การออกแบบ และความบันเทิงในสังคมไทย ทุนทางปัญญาและทุนวัฒนธรรมในรูปแบบเดิม ๆ กำลังจะถูกปรับเปลี่ยนให้น่าตื่นตาตื่นใจและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โลกจริงและโลกเสมือนจะถูกเชื่อมต่อกันผ่านเลนส์บาง ๆ ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ด้วยการอำนวยความสะดวกอย่างไร้ที่ติทั้งในมิติของเวลา ประสิทธิภาพและคุณค่า โดยปัจจุบันมีหลากหลายเทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คนในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีความเป็นจริงต่อขยาย (Extended reality: XR) ระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด (QR code) แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มออนไลน์ (Application and online platform) การบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ (Integrated artificial intelligence) เป็นต้น

 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามามีบทบาทกับกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ทั้งการท่องเที่ยว สื่อดิจิทัล ภาพยนตร์ แฟชั่น เกมและแอนิเมชั่น นอกจากจะช่วยยกระดับประสบการณ์ความเพลิดเพลินในระดับบุคคลได้แล้ว ยังช่วยยกระดับเศรษฐกิจและเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศในเวทีโลกผ่านอำนาจละมุน (Soft power) ได้อีกด้วย ซึ่งประเทศไทยมุ่งผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) โดยชูธงไปที่ 5F ได้แก่ อาหาร (Food), ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ (Film), การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion), ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ให้เป็นตัวตั้งต้นในการผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงความเป็นไทยสู่สากลและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือที่สร้างเสน่ห์และสีสันให้กับ “นวัตกรรม” อย่างไรก็ตามนวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีพลวัตและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วตามกระแสการเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่นวัตกรรมเกิดขึ้นถูกที่ ถูกเวลา ถูกจริตของผู้ใช้งาน นวัตกรรมนั้นก็จะได้รับการยอมรับและต่อยอดไปสู่การเติบโต ดังนั้น ในการลงทุนทางเทคโนโลยีผู้ประกอบการจึงต้องคำถึงความยั่งยืนของเทคโนโลยีและโอกาสทางตลาดเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญ