สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
3 เสาหลัก สร้างนวัตกรรมองค์กรให้ยั่งยืน ที่ Alex Osterwalder (ผู้สร้าง Business Model Canvas) บอกให้รีบลงมือทำ ณ บัด NOW!
📈 ไม่ใช่แค่มีผลงานนวัตกรรม แต่สิ่งสำคัญคือ ‘Innovation Culture’ วัฒนธรรมองค์กรที่จะสานต่อให้เกิดนวัตกรรมต่อเนื่องไม่รู้จบ
📋 สตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้นอาจตั้งเป้าจากการทำนวัตกรรมสักชิ้นออกมาให้สำเร็จ แต่สำหรับ Alex Osterwalder นักการตลาดชื่อดัง เจ้าของ Business Model Canvas บอกไว้ว่าแค่นั้นอาจไม่พออีกต่อไปแล้ว นั่นก็เพราะว่า นวัตกรรมที่ถูกพัฒนาออกมา อาจไม่เป็นที่ต้องการเมื่อกาลเวลาผ่านไป
สิ่งสำคัญที่แท้จริงสำหรับองค์กรจึงไม่ใช่การพัฒนาองค์กรให้ “สร้างนวัตกรรม” แต่ต้อง “สร้างนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน” คำถามคือแล้วเราจะสามารถสร้างองค์กรแบบนั้นได้อย่างไรล่ะ…!? คุณ Alex เองได้เสนอ 3 เสาหลักสำคัญที่องค์กรต้องทำ ไว้อย่างน่าสนใจ ว่าหากอยากขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จะต้องมี เป้าหมาย พื้นที่สร้างสรรค์ และการเชื่อมโยงคนทำงาน
🎯 มองให้เห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้
ความสำเร็จก้าวแรก เริ่มจากเป้าหมายที่ชัด ซึ่ง Alex มองว่า เป้าหมายขององค์กรในยุคสมัยที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากๆ นี้ ไม่ใช่แค่การมุ่งจัดสรรทรัพยากรไปเพื่อการสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น แต่ต้องกระจายทรัพยากรควบคู่กันไปกับการต่อยอด ปรับปรุง หรือพัฒนาของเดิมที่มีอยู่ให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น
ที่สำคัญไม่แพ้เป้าหมาย คือต้องวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะคุณต้องประเมินความเป็นไปได้ให้ได้ว่าควรต้อง ‘SPEED’ หรือ ‘STOP’ สิ่งที่กำลังทำกันอยู่ โดยการวัดผลลัพธ์นั้น เป็นไปได้ในหลายมิติขึ้นอยู่กับเป้าหมายของนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์ในเชิงการเงิน ผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม หรือโอกาสในการตอบโจทย์ความยั่งยืนในการทำธุรกิจ
✍ มีพื้นที่สร้างสรรค์ ให้คนได้สรรสร้างไอเดีย
การมีเวทีที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากหากองค์กรไม่มีพื้นที่ให้พนักงานได้มีอิสระทางความคิด ได้ทดลองทำ ลองผิดลองถูก พนักงานส่วนใหญ่ก็มักจะไปโฟกัสกับแค่งานตามหน้าที่ของตัวเอง จนท้ายที่สุดไม่เพียงจะสูญเสียไอเดียดีๆ ที่มาจากพวกเขาเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย แต่อาจส่งผลไปไกลถึงการที่พนักงานหยุดที่จะพัฒนาตัวเองได้เลย
ทว่าการมีพื้นที่อย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ ต้องกระตุ้นให้พนักงานอยากเข้าไปใช้พื้นที่สร้างสรรค์นั้นๆ ด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ผู้นำที่ต้องเป็นต้นแบบให้กับน้องๆ ในทีม โดยคุณ Alex ยังได้แนะนำว่าควรจะต้องนำประเด็นนี้เข้าสู่วาระการประชุมในระดับบริหารอย่างจริงจัง ในสัดส่วนสูงถึง 40% ของเรื่องต่างๆ ที่พูดคุยกันเลยทีเดียว
🤝 นวัตกรรม ไม่สามารถเกิดได้จากคนใดคนหนึ่ง
เพราะแท้จริงนวัตกรรมหลายอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดจากการทำงานของคนใดคนหนึ่ง หรือแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องเชื่อมโยงความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้น สามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อให้บริการลูกค้า สิ่งนี้ต้องอาศัยการทำงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากทั้งฝ่ายขาย ซึ่งเป็นฝ่ายที่รับรู้ถึงความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ไปเชื่อมโยงกับฝ่ายพัฒนา ออกแบบและสร้างบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ และยังต้องพึ่งพาฝ่ายการตลาด ในการนำเสนอ สร้างการรับรู้เพื่อให้นวัตกรรมเป็นที่รู้จักนั่นเอง
♻ จะเห็นว่า การจะสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน ไม่ใช่การพัฒนาองค์กรในมิติเดียว แต่ต้องเข้าใจถึงสถานการณ์ขององค์กรอย่างรอบด้าน ซึ่ง NIA เองก็มีโมเดลการจัดการนวัตกรรมภายในองค์กร (Innovative Organization Model : IOM) ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรใน 8 มิติ อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์ฟรี ที่เปิดโอกาสให้ทุกๆ องค์กรได้เข้ามาทดลองประเมินศักยภาพนวัตกรรมองค์กร เพื่อมองภาพ Innovation Landscape ขององค์กร ตั้งแต่ระดับกลยุทธ์ไปสู่แผนปฏิบัติการจริง รู้จุดแข็ง เข้าใจจุดอ่อน เพื่อการพัฒนานวัตกรรมองค์กรที่มีประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมาย
หากองค์กรหรือหน่วยงานใดสนใจพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม สามารถเข้าไปเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ของ NIA ได้ที่ NIA Academy MOOCs : https://moocs.nia.or.th หรือสอบถามบริการให้คำปรึกษา และโปรแกรมการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กรได้ที่ https://iop.nia.or.th/#/expertise/service
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.strategyzer.com/library/3-ways-to-assess-your-innovation-maturity-a-webinar-for-ceos-and-corporate-innovators
https://techsauce.co/tech-and-biz/an-exclusive-interview-with-alex-osterwalder-understanding-business-model-innovation
https://moocs.nia.or.th/project/iop
https://iop.nia.or.th/#/expertise/service