สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ระวัง !! 5 จุดบอด ที่องค์กร (อาจ) ทำพลาด ในการสร้างนวัตกรรม บทเรียนจาก Kodak อดีตผู้นำตลาดกล้องและฟิล์มถ่ายภาพ

7 มิถุนายน 2567 538

ระวัง !! 5 จุดบอด ที่องค์กร (อาจ) ทำพลาด ในการสร้างนวัตกรรม บทเรียนจาก Kodak อดีตผู้นำตลาดกล้องและฟิล์มถ่ายภาพ


🔀 เมื่อองค์กรไม่กล้ามองหาสิ่งใหม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าท้ายที่สุดอาจถูก Disrupt ไปด้วยเทคโนโลยีหรือคู่แข่งที่คว้าโอกาสได้ก่อน

📉 โลกกำลังหมุนอยู่บนความไม่แน่นอน ธุรกิจจึงต้องปรับตัวใช้นวัตกรรมในองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกิจจะประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Kodak อดีตเจ้าตลาดอุตสาหกรรมกล้องถ่ายภาพ ก็ยังพลาดโอกาสจนต้องปิดตัวลงเพราะถูก Disrupt จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิดสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากกว่าเดิม

📷 Eastman Kodak Company เข้าสู่สถานะล้มละลายในปี 2012 เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีกล้องดิจิทัล ซึ่งสะดวกสบาย ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนได้มากกว่ากล้องฟิล์ม Kodak ที่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิมว่าจะต้องทำกำไรจากตลาดฟิล์มเท่านั้น จึงทำให้เกิดจุดบอดในการพัฒนานวัตกรรม เพราะแม้ว่าในบริษัทจะมีพนักงานที่เก่งจนสามารถคิดค้นกล้องดิจิทัลตัวแรกออกมาได้ แต่ไม่มีผู้นำที่กล้าพอจะลองก้าวข้ามไปบนเส้นทางธุรกิจใหม่ จนทำให้ถูก Disrupt ไปในที่สุด

🕳 สิ่งที่ Kodak ตัดสินใจในเวลานั้น สะท้อนแนวคิดการบริหารงานได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมในองค์กร มีจุดบอด 5 ข้อที่ “ผู้นำองค์กร” ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการบริหารองค์กรต้องระวัง จะมีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน !

📥 จุดบอดที่ 1 การกำหนดรูปแบบธุรกิจที่แคบเกินไป 
ไม่มีสินค้า บริการ หรือนวัตกรรมอะไรที่ขายได้ตลอดเวลา ทุกอย่างต้องมีการต่อยอด เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ธุรกิจจึงควรวางแผนการทำงานควบคู่กันไปทั้งการพัฒนาธุรกิจเดิมที่มีอยู่ และมองไปถึงโอกาสใหม่ๆ จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน อย่างเช่นที่ Kodak ในตอนนั้นซึ่งเป็นเจ้าตลาดของกล้องถ่ายภาพแอนะล็อกอยู่ หากมีการขยายรูปแบบธุรกิจให้ครอบคลุมไปถึงกล้องดิจิทัล ก็อาจจะมีโอกาสครองใจผู้บริโภคและดำเนินธุรกิจต่อไปได้

🗣 จุดบอดที่ 2 มองข้ามความต้องการของลูกค้า
ในทุกกลยุทธ์ทางการตลาด การตอบสนองความต้องการของลูกค้าถือเป็นหัวใจสำคัญ เช่นเดียวกับการนำเสนอสินค้า บริการด้านนวัตกรรม ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งใหม่แต่ก็ต้องไม่ลืมนึกถึงการนำไปใช้จริง ในการออกแบบและผลิต จึงต้องมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และนำเสนอผลงานที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขา โดยจุดเริ่มต้นแรกของ Kodak นั้นมีเป้าหมายในการ “ทำให้กล้องใช้งานง่ายเหมือนดินสอ” แต่ภายหลังกลับมุ่งไปที่ผลของกำไร จนมองข้ามความเป็นไปได้ว่ากล้องดิจิทัล จะเข้ามาช่วยสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานได้มากกว่ากล้องฟิล์ม

⌛ จุดบอดที่ 3 ปรับตัวช้า 
แกนหลักในการสร้างนวัตกรรม คือการคิดค้นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน สิ่งที่จำเป็นต้องมีในองค์กรคือความพร้อมในการกล้าตัดสินใจ กล้าทดลองความเป็นไปได้ใหม่ๆ และมีความรวดเร็วในการปรับตัวตามผลลัพธ์ เพราะสิ่งนี้จะนำมาสู่แนวทางในการต่อยอดธุรกิจให้ดีกว่าเดิม ซึ่งหากย้อนไปจะเห็นว่า Kodak นั้นรู้ล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้วว่าเทรนด์กล้องดิจิทัลจะมาถึง แต่ก็ไม่ยอมตัดสินใจจนทำให้ธุรกิจปรับตัวไม่ทัน

🤚 จุดบอดที่ 4 องค์กรไม่ให้ความสำคัญกับเสียงของพนักงาน
อย่าลืมว่าหลายครั้งการทำธุรกิจ คนที่รับรู้ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง กลับไม่ใช้ผู้บริหารแต่เป็นพนักงาน ผู้นำที่ดีควรจะต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับ เพื่อให้นวัตกรรมที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นผลงานที่เกิดจากความคิดเห็นและข้อเสนอร่วมกันของทุกคน เหตุการณ์ของ Kodak คือการที่ทุกคนมองข้ามเสียงของ Steve Sasson วิศวกรที่เป็นคนคิดค้นกล้องดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 1975 แต่ไม่ได้ถูกพัฒนาต่อ 

📈 จุดบอดที่ 5 ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้าง ‘วัฒนธรรมนวัตกรรม’ ในองค์กร
นวัตกรรมต้องถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือพนักงาน ล้วนต้องมีความเป็นนวัตกรในตัวเอง เพื่อพัฒนาธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผู้นำต้องสร้าง “Innovation Culture” กระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมให้พนักงานได้คิด สร้างสรรค์ เสนอ Solution เพื่อค้นหาโอกาสใหม่ๆ ในขณะที่องค์กรคอยสนับสนุนเครื่องมือ ทรัพยากร และสร้างระบบการทำงานที่เอื้อให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพเพื่อพัฒนาผลงานนวัตกรรมต่อไป

👉 “นวัตกรรม” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างความมั่งคงและส่งเสริมการเติบโตขององค์กร NIA จึงได้มีโมเดลการจัดการนวัตกรรมภายในองค์กร (Innovative Organization Model : IOM) เพื่อให้องค์กรพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ และครอบคลุมทุกมิติ

🗨 องค์กรและหน่วยงานที่สนใจอยากพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมในองค์กร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และขอรับคำปรึกษา รวมถึงติดตามโปรแกรมในการพัฒนาศักยภาพได้ที่ https://iop.nia.or.th/#/expertise/service

💻 หรือสนใจเรียนรู้เรื่องนวัตกรรม ผ่านหลักสูตรต่างๆ ของ NIA ได้ที่ NIA Academy MOOCs : https://moocs.nia.or.th  

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.linkedin.com/pulse/5-innovation-blind-spots-killed-nokia-kodak-phil-mckinney/ 
https://ifi.nia.or.th/wp-content/uploads/2020/09/Innovative-Organization-BOK_digital_08-2020.pdf 
https://techsauce.co/corp-innov/why-business-needs-innovation-culture