สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ส่องรูปแบบ “การทูตนวัตกรรม” ของ NIA สะพานเชื่อมไทย สู่เศรษฐกิจในระดับสากล

16 พฤษภาคม 2566 2,346

ส่องรูปแบบ “การทูตนวัตกรรม” ของ NIA สะพานเชื่อมไทย สู่เศรษฐกิจในระดับสากล


ถ้าเป้าหมาย...คือการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นชาติแห่งนวัตกรรม แล้วเราต้องเข้าไปคุยกับใครบ้าง ? เพื่อรุดหน้าสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจต่อสายตาของประชาคมโลก

ปัจจุบันแทบไม่มีรัฐใดหรือชาติใดที่ดำรงอยู่ได้โดยไม่อาศัยหรือสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ไปยังดินแดนอื่น เพราะความร่วมมือนั้นก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างทวีคูณ เช่นเดียวกับการทูตนวัตกรรม ที่มีการปักธงเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การพัฒนานวัตกรรมกับเครือข่ายพันธมิตรจากต่างประเทศ โดยอาศัยพื้นฐานการสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ เงินทุน เทคโนโลยี ไปจนถึงโอกาสในการเติบโตของดาวเด่นที่ต้องการขยายความสำเร็จไปยังภูมิภาคอื่น

นอกเหนือจากการวางเป้าหมาย ที่ผ่านมา NIA ยังได้ออกแบบแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานอย่างรอบด้าน ผ่าน 3 รูปแบบการทูตนวัตกรรมตามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ประกอบไปด้วย องค์กรภาครัฐ กลุ่มนักลงทุน และธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยการแบ่งรูปแบบที่ว่า ไม่เพียงช่วยให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเจรจาเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้ภาพรวมของระบบนวัตกรรมทั้งประเทศเติบโตสอดประสานกันได้อย่างเต็มที่

เริ่มจากรูปแบบ G2G (Government to Government) คือรูปแบบการทูตนวัตกรรมที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นองค์กรรัฐบาลหรือองค์กรนานาชาติ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการทูตในรูปแบบเดิม แต่จะมุ่งโฟกัสไปที่การพูดคุยทั้งแบบร่วมมือกันเป็นกลุ่มในหลายๆ ประเทศ (พหุภาคี) และแบบที่ร่วมมือเฉพาะใน 2 ประเทศ (ทวิภาคี) ที่ต้องการพัฒนามิติทางนวัตกรรมของกันและกัน

แล้วทั้ง 2 รูปแบบนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐแบบพหุภาคี จะมีแนวทางชัดเจนไปที่การเข้าร่วมงานประชุมหรืองานสัมมนาระดับนานาชาติ ไปจนถึงการสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก สำนักงานโครงการพัฒนา โดยมีแผนเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จัก อีกทั้งจากการพบปะพูดคุยจึงทำให้มีข้อมูลและข้อเสนอแนะเพื่อนำมาต่อยอดให้เกิดเป็นการพัฒนา

ในขณะที่แบบทวิภาคีนั้นจะเน้นไปที่การจัดทำแบบข้อตกลงกับรัฐบาลต่างชาติ เช่น บันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding:  MOU) ให้เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานด้านนวัตกรรม และสถาบันอุดมศึกษาในประเทศนั้นๆ 

รูปแบบต่อมาคือ G2I (Government to Investor) ที่ขยับเป้าหมายมาสู่การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลกับเครือข่ายนักลงทุนต่างชาติที่สนใจทำธุรกิจร่วมกับประเทศไทย โดยมีกระทรวงการต่างประเทศให้ความร่วมมือในการประสานงาน แน่นอนว่าจากเป้าหมายที่เน้นสื่อสารไปยังกลุ่มนักลงทุนเป็นหลัก ก็เพื่อเปิดโอกาสไปสู่การจับคู่ทางธุรกิจ ช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ในไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินลงทุนจนสามารถขยายโอกาสการเติบโตไปได้อีกมหาศาล

และหากต้องการให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจในศักยภาพ เราจึงยังคงต้องนำเสนอภาพลักษณ์ของนวัตกรไทยให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้ง การจัดนิทรรศการ การนำเสนอสินค้าหรือความสำเร็จในงานประชุมต่างๆ เพื่อที่จะแสดงให้พวกเขาเห็นภาพว่าในอนาคตมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการลงทุน

สุดท้ายคือรูปแบบ G2S (Government to Startup) เป็นการทูตที่จะเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและหน่วยงานสตาร์ทอัพ โดยการทูตรูปแบบนี้จะมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดหน่วยงานข้ามชาติ ให้มามีบทบาทในการพัฒนาหน่วยงานหรือภาคธุรกิจของไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล แบ่งปันความรู้ รวมไปถึงผนึกกำลังสร้างสรรค์นวัตกรรมจากสตาร์ทอัพและหน่วยงานต่างชาติที่โดดเด่นในด้านต่างๆ

การได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานสตาร์ทอัพนี้ ไม่เพียงช่วยให้เกิดการสื่อสารโดยตรงจากผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ หรือมีวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจ แต่ยังสามารถนำมาเป็น Case Study ศึกษาแนวทางความสำเร็จ รวมไปถึงหนทางในการรับมือกับอุปสรรคที่เคยเจอก่อนหน้า ช่วยให้สามารถเห็นวิธีการต่อยอดธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะไปเติบโตยังระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพ 

จากเป้าหมายที่ต้องการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” ผ่าน 3 รูปแบบการทูตนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมภาพรวมทั้งประเทศให้เกิดการพัฒนา ภายใต้การดำเนินงานระหว่างผู้คนทุกระดับ เป็นการช่วยปลุกพลัง แสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยต่อสายตาคนทั่วโลกอย่างแจ่มชัด จนเกิดเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนบุคลากร องค์ความรู้ ทักษะความสามารถ และการสนับสนุนทางด้านเงินทุน เพื่อเพิ่มพูนความสามารถทางนวัตกรรมและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไปได้อีกในอนาคต

อ้างอิงข้อมูลจาก :
หนังสือโครงการศึกษาแนวการพัฒนาเครือข่ายการทูตนวัตกรรม Innovation Diplomacy
https://www.nia.or.th/bookshelf/view/169
https://mgronline.com/smes/detail/9610000125823