สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ชวนทำความรู้จัก “NIA Northern Regional Connect” ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมระดับภูมิภาคแห่งแรกของไทย

บทความ 7 มกราคม 2565 3,547

ชวนทำความรู้จัก “NIA Northern Regional Connect” ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมระดับภูมิภาคแห่งแรกของไทย

 

เปิดภูมิทัศน์ใหม่! สู่การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมระดับภูมิภาคเต็มรูปแบบ เพื่อคนในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะ

 

NIA เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระดับภูมิภาค ให้มีความสามารถทางด้านนวัตกรรมไม่แพ้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา NIA ก็ได้มีโครงการต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในแต่ละภูมิภาค

 

แต่เพียงเท่านี้อาจยังไม่พอ เพราะในแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาหรือประเด็นท้าทายของการพัฒนาระบบนวัตกรรมภูมิภาคที่แตกต่างกันไป จึงได้เกิด “NIA Northern Regional Connect” ขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในระดับภูมิภาคเต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากภูมิภาคที่มีความพร้อมมากที่สุดก็คือ “ภาคเหนือ” ส่วนจะมีแนวคิดหรือกลไกการทำงานอย่างไร ก็ต้องมาทำความรู้จักกัน สำหรับพี่น้องชาวเหนือยิ่งห้ามพลาด! 

NIA Northern Regional Connect คืออะไร?

เชื่อว่าหลายๆ คนเห็นแค่ชื่อก็ยังสงสัยว่าคืออะไร หรือจะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เราจะอธิบายให้เห็นภาพรวมได้ดังต่อไปนี้ “NIA Northern Regional Connect” เป็นหน่วยงานที่มีกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ที่เน้นการผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในระดับภูมิภาค เพิ่มโอกาสการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม สร้างอัตลักษณ์ของย่านเมืองหรือระเบียงนวัตกรรมให้เกิดกิจกรรมต่างๆ และการลงทุนด้านนวัตกรรม รวมทั้งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และสร้างกิจกรรมด้านนวัตกรรม

 

โดยมีพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุมทั้งหมด 11 จังหวัดในภาคเหนือ เป็นสำนักงานภูมิภาคแห่งแรกตั้งอยู่ที่อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ประกอบไปด้วย

 

1.พัฒนาพื้นที่ให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมให้หลากหลายที่สุด ด้วยการพัฒนาจังหวัดศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมในภูมิภาค 4 จังหวัด และย่านนวัตกรรม 2 ย่าน 

2.ผลิตนวัตกรจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในภูมิภาคเพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่และลดการอพยพย้ายถิ่นฐาน

3. ตั้งเป้าเป็นบ้านแห่งใหม่ให้กับ Digital Nomad และ Startup จากทั่วโลก ด้วยการตั้ง Global Startup Hub ให้เป็นศูนย์กลางบริการและสร้างเครือข่ายในพื้นที่

4. ผสมผสานวัฒนธรรมและ Lifestyle Capital ของภูมิภาค โดยการนำอัตลักษณ์ของพื้นที่ผสมผสานกับองค์ความรู้ด้านทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)

5. เป็น Sandbox ในการแก้ไขปัญหาเมืองและสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การขยายผลในอนาคต

 

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ "ภาคเหนือ" เป็นภูมิภาคที่พร้อมก่อนใคร 

ภาคเหนือเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไปจนถึงการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีจังหวัดเชียงใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ ที่มีความพร้อมสู่การเป็นเมืองนวัตกรรม และยังมีปัจจัยแวดล้อมๆ อื่นๆ ประกอบไปด้วย อาทิ

 

มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนวัตกรรมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือขึ้นชื่อได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อาข่า ม้ง ไทใหญ่ ไทลื้อ ปกาเกอะญอ ฯลฯ ส่งผลให้เป็นภูมิภาคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และมีนวัตกรรมที่หาไม่ได้จากที่ไหน

 

ภาคเหนือมีมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่งด้วยกัน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสถาบันการศึกษาชั้นนำตั้งอยู่ อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ ซึ่งสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งก็มีองค์ความรู้ต่างๆ มากมายที่พร้อมเชื่อมโยงกับคนในพื้นที่และผลิตบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนประเทศได้ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม 

 

สุดท้ายทุกคนทราบกันไหมว่า ในระยะเวลา 6 ปีมานี้ กลุ่มผู้ประกอบการเชียงใหม่ (Chiang Mai Entrepreneurship Association : CMEA) ได้เผยว่า มีกลุ่มดิจิทัลโนแมด หรือกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยวและทำงานไปพร้อมๆ กัน โดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือหลักในการหารายได้ เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 30,000 คน แถมยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง 

 

ทำให้ส่งผลเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากจังหวัดเชียงใหม่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งในเรื่องมี Startup Ecosystem ที่เชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยด้านความเป็นอยู่อย่างเรื่อง ค่าครองชีพ และผู้คนที่เป็นมิตร 

โครงการอะไรบ้างที่กำลังเดินงานอยู่ในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน NIA Northern Regional Connect มีการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในพื้นที่ภาคเหนืออยู่หลากหลายโครงการด้วยกัน ผ่านเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษาในพื้นที่ โดยสามารถแบ่งรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้ 

 

ด้านเศรษฐกิจ 

- งานพัฒนาโครงการนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  

- งานพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพ จัดตั้ง Global Startup Hub ให้บริการด้านธุรกิจ เครือข่ายและพัฒนาสตาร์ทอัพในพื้นที่ภาคเหนือ

- การขยายผลธุรกิจนวัตกรรมให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างผ่านโครงการ “นิลมังกร” ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ

 

ด้านสังคม

- จัดตั้งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Driving Unit: SID) ในภูมิภาค 3 แห่งร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยนเรศวร

 

ด้านการสร้างเครือข่ายในพื้นที่

- สร้างเครือข่ายนวัตกรรุ่นใหม่ในส่วนภูมิภาคบนพื้นที่ภาคเหนือ (Pioneering Innovator Network: PIN)

- สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนา 7 คลัสเตอร์ ได้แก่ อาหาร, เกษตร, การแพทย์, ท่องเที่ยว, เศรษฐกิจสร้างสรรค์, นวัตกรรมด้านสังคม และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)

 

ด้านการพัฒนาเมือง

- พัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนานวัตกรรมในภูมิภาค (Chiangmai City of Innovation) โดยมีศูนย์กลางอยู่ในเขตพื้นที่ 40 ตารางกิโลเมตรในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

- พัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

- พัฒนาย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเทศบาลเมืองแม่โจ้            

- พัฒนาพื้นที่ทดลองนวัตกรรมสำหรับเมือง (Innovation City Lab) ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่