สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
Immersive Technology and Metaverse for Mental Healthcare เมตาเวิร์สกับการดูแลสุขภาพจิต
เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันเริ่มผสมผสานกลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมมากขึ้น และเราจะได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า Immersive technology หรือ "เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง" มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงนั้น หมายรวมถึง เทคโนโลยีดิจิทัลใดก็ตามที่สามารถแสดงผลได้สมจริงเหมือนในโลกความเป็นจริงและให้ผู้ใช้งานสามารถตอบสนองกับสิ่งนั้นได้แบบเรียลไทม์ เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงครอบคลุมเทคโนโลยีรูปแบบต่าง ๆ เช่น ความจริงเสมือน (virtual reality), ความจริงเสริม (augmented reality), ความจริงผสม (mixed reality) และการจำลอง 3 มิติ และยังพบว่าเทคโนโลยีนี้ถูกใช้งานในอีกหลากหลายสาขา ทั้งด้านสื่อ เกม วิชาการ และการดูแลสุขภาพกายและจิต ช่วยให้เกิดช่องทางใหม่ของการวิจัยและการรักษาในด้านการดูแลสุขภาพจิตมากมาย เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลนี้เริ่มมีให้ใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงถูกปรับมาใช้งานในการดูแลปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้นจากการที่เทคโนโลยีช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ซึ่งในอนาคตอันใกล้ โลกเสมือนจริงอย่าง Metaverse อาจช่วยให้คนสามารถตรวจสอบสุขภาพจิตของตนเองได้อย่างปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบาย ผู้ที่ได้รับประโยชน์จึงมีมากมายทั้ง ผู้ที่มีความวิตกกังวล ความเศร้า และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เนื่องจากโลกเสมือนจริงนี้อาจเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยซึ่งพวกเขาสามารถเปิดใจเกี่ยวกับอารมณ์ของตนโดยไม่ต้องกลัวผลกระทบ นอกจากการใช้เพื่อตรวจประเมินด้านสุขภาพจิตแล้ว การใช้งานด้านการบำบัดรักษาก็มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงนี้ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจมากขึ้นในระหว่างการรักษา ยกตัวอย่างเช่น การใช้งาน VR เพื่อพาผู้ใช้งานไปยังชายหาดเสมือนหรือป่าเสมือน เลียนแบบความรู้สึกของการอยู่ที่นั่นจริงๆ ซึ่งสิ่งนี้ตรงกันข้ามกับรูปแบบการรักษาทั่วไปในปัจจุบัน อย่างเช่น การนั่งพูดคุยกับนักบำบัด เพราะวิธีการนี้ช่วยให้ผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวด้วยแนวทางที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ธรรมชาติบำบัดนี้ยังช่วยให้ผู้รับบริการเปิดเผยความรู้สึกของตนได้โดยปราศจากความกลัว นอกจากนี้ การบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวผ่านความจริงเสมือนก็สามารถนำมาใช้เพื่อรักษาความวิตกกังวลและโรคกลัวได้อย่างดี โดยทำให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้นแต่ยังรู้สึกปลอดภัยและควบคุมความกลัวได้ โรคกลัวและโรควิตกกังวลจำนวนมากได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้และประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะวิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยเผชิญกับความกังวลในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีการควบคุม
ในอนาคต การใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงและ metaverses ในด้านการรักษาสุขภาพจิตนั้น มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการจากที่ใช้ในปัจจุบันอย่างมาก เมื่อเราจัดให้คนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสมือนจริงและเหมาะสมได้ พวกเขาจะตรวจสอบสุขภาพจิตของตนเองได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตัดสิน การใช้งานเช่นนี้จะช่วยให้เกิดวิธีการจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของตนเองและเปิดใจในการรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ