สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

สรุปสาระสำคัญ 6 Talks ในงาน Innovation Thailand Forum 2021

บทความ 16 กุมภาพันธ์ 2564 2,659

สรุปสาระสำคัญ 6 Talks ในงาน Innovation Thailand Forum 2021


เมื่อไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและวิถีธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป เพราะผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด ทำให้ “นวัตกรรม” ต้องปรับเปลี่ยนตาม แล้วจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในโลกนวัตกรรมบ้าง… วันนี้ NIA ขอชวนไปอัปเดตมุมมองด้านนวัตกรรม ผ่านสายตา 6 ผู้เชี่ยวชาญ ในงาน Innovation Thailand Forum 2021 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามพร้อมกันเลย!


และสำหรับใครที่อยากฟังเนื้อหาแบบเต็มๆ ไปติดตามย้อนหลังกันได้เลยที่ https://www.youtube.com/watch?v=azq1ACuYIYI 

ผศ.นพ.ดร.ปกรัฐ หังสสูต คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วัคซีนโควิด-19 กำลังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาต่อไป คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การจะนำมาฉีดให้กับประชาชน จึงต้องผ่านการทดสอบเพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นจะมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังทดลองผลลัพธ์ของวัคซีนหลายสายพันธุ์ และมีแผนเริ่มใช้งานจริงในช่วงกลางปี 2564 นี้

คุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association (TTSA)

แม้จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไม่ตายหากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทันตามความต้องการผู้บริโภค โดยนักท่องเที่ยวยุคหลังจากนี้จะยิ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสุขภาพเป็นอันดับแรก ต้องการความยืดหยุ่นในการเดินทางมากกว่าเดิม รวมถึงมีแนวโน้มที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น

คุณอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจ แต่โควิด-19 เข้ามามีบทบาทต่อการให้บริการของภาครัฐ โดยปัจจุบันภาครัฐเองกำลังเร่งผลักดันและปรับแก้ข้อกฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา บริการภาครัฐออนไลน์ (E-service) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ไม่ต่างจากบริการในกลุ่มประเทศพัฒนา และไม่แน่ว่าเราอาจกำลังจะได้เห็นการให้บริการ E-service เต็มรูปแบบ ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อราชการออนไลน์ได้จากที่บ้านแบบ 24 ชั่วโมง ในเร็ว ๆ นี้

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

วิกฤติโรคระบาดทำให้ทุกคนมองข้ามปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังรุนแรงไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัญหามลพิษ PM2.5 รวมถึงปัญหาขยะ ซึ่งปัจจุบัน “นวัตกรรม” ส่วนมาก ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่สิ่งที่สังคมไทยกำลังต้องการยิ่งกว่านั้น คือ “นวัตกรรม” ที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและปรับกระบวนการในภาคอุตสาหกรรม ให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

คุณสินี จักรธรานนท์ ประธานมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย)

โควิด-19 เป็นวิกฤติที่มาตอกย้ำภาพความเหลื่อมล้ำที่กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การขาดโอกาสด้านการศึกษา รวมถึงปัญหาการเข้าถึงบริการภาครัฐของคนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย หากขาดความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และเครือข่ายเพื่อสังคม

คุณวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย)

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด DeepTech หรือ เทคโนโลยีเชิงลึก จะเข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) คลาวด์ เทคโนโลยี 5G รวมถึง IoT ที่จะเชื่อมต่อธุรกิจเข้ากับผู้คนได้สะดวกรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม ซึ่งคาดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะส่งผลให้ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 30 % ภายในปี 2030