สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA หารือ IMD ร่วมหารือแนวทางยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของไทย

News 10 เมษายน 2568 105

NIA หารือ IMD ร่วมหารือแนวทางยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของไทย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้เข้าพบหารือกับ Ms. Anna Dunand ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ และ Prof. Jim Pulcrano จากสถาบันพัฒนาการจัดการ IMD (Institute for Management Development: IMD) สถาบันการศึกษาระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้นำ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 โดยมุ่งเน้นการสร้างศักยภาพผู้นำองค์กรให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

การหารือครั้งนี้มุ่งเน้นความร่วมมือในการส่งเสริมทักษะความเป็นผู้นำ การคิดเชิงกลยุทธ์ และการนำนวัตกรรมไปใช้เชิงพาณิชย์ ให้กับผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านหลักสูตรและโปรแกรมฝึกอบรมที่หลากหลายของ IMD ซึ่งมีมากกว่า 80 หลักสูตร ครอบคลุมหัวข้อสำคัญ อาทิ Leadership & Executive Presence, Business Skills for Commercializing Innovation, Digital Transformation & AI, Strategic Innovation และ Entrepreneurship & Startup Ecosystem

ทั้งนี้ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ได้กล่าวว่า “NIA ได้มีการส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจสังคม รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย ผ่าน สถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) เพื่อสร้าง Entrepreneurial Mindset ในองค์กร การพัฒนาวัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovation Culture) ในบริษัทขนาดใหญ่และ SME เสริมทักษะ Leadership & Agility เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และสนับสนุน Startup และ Social Enterprise ผ่านการให้ทุนพัฒนานวัตกรรม และ การให้คำปรึกษา (Mentorship) ตลอดจนมีโปรแกรมสนับสนุนฝึกอบรม สร้างแนวคิดผู้ประกอบการให้กับสตาร์ทอัพ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 30 กว่าแห่งในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาเรียนรู้และสร้างธุรกิจใหม่ผ่านโครงการ Startup Thailand League”

นอกจากนี้ NIA ได้มีโอกาสหารือร่วมกับ Prof. Arturo Bris ผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก (World Competitiveness Center) Dr. Christos Cabolis Adjunct Professor ด้านเศรษฐศาสตร์และความสามารถในการแข่งขัน และคณะผู้บริหาร IMD เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของประเทศไทย

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ IMD (IMD World Competitiveness) ในปี 2024 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 25 จากทั้งหมด 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ดีขึ้นจากอันดับที่ 30 ในปีที่ผ่านมา การจัดอันดับใช้ตัวชี้วัด 336 รายการ แบ่งเป็นข้อมูลสถิติ 164 รายการ แบบสำรวจ 92 รายการ และข้อมูลพื้นฐานอีก 80 รายการ ครอบคลุม 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยประเด็นสำคัญของประเทศไทยคือความจำเป็นในการลงทุนด้านการศึกษาและวิจัยพัฒนาให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาทักษะดิจิทัลและการยกระดับระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย IMD ได้เสนอแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานรัฐ การส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน (PPP) การ Reskill/Upskill บุคลากร และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

ทั้งนี้ IMD และ NIA วางแนวทางความร่วมมือในอนาคต โดยร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association: TMA) ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยผ่านเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนไทย ตลอดจนการส่งเสริมการจัดหลักสูตรเพื่อยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรมของผู้นำและองค์กรนวัตกรรมไทย ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อตอบโจทย์การสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง

#NIA #Innovation #InnovationDiplomacy #IMD #IMDWorldCompetitiveness