สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“ม้งไซเบอร์” กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ ผู้กล้าฝันสู่ระดับโลก

3 พฤษภาคม 2567 5,439

“ม้งไซเบอร์” กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ ผู้กล้าฝันสู่ระดับโลก

Hmong Cyber Social Enterprise

“เมล็ดพันธุ์แห่งความฝันนั้น เติบโตตามธรรมชาติ คล้ายพืชหรือสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ซึ่งหน้าที่เราในฐานะ “นักพัฒนาชุมชน” คือ การหว่านเมล็ดไปเรื่อย ๆ คอยใส่ปุ๋ย พรวนดิน รดน้ำ ให้ความฝันนี้เจริญงอกงาม เมื่อรุ่นแรกเติบโตได้ดี รุ่นต่อมามีแต่จะง่ายขึ้น”

 

คุณบุตรพจน์ พลพิพัฒนพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ม้ง ไซเบอร์ โซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด
ผู้ดำเนินโครงการ “Hmong Cyber: การออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์”

 

เรามักบอกให้เด็ก ๆ ให้กล้าคิดกล้าฝันอยู่เสมอ และถ้าวันนี้ความฝันของเด็กจากกลุ่มชาติพันธุ์ “ม้ง” กลุ่มหนึ่ง คือ การได้ไป “โอลิมปิก” คุณพร้อมจะผลักดันความฝันนั้นไปสู่ความจริงด้วยกันไหม

กีฬา Breaking Dance หรือ ชื่อที่คุ้นหูกว่า คือ การเต้น B-Boy, B-Girls, Hip-Hop dance นับเป็นกีฬาชนิดใหม่ที่กำลังจะถูกบรรจุอยู่ในการแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงปารีส 2024 โดยกีฬาชนิดนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬา ที่เพิ่มความหวังในการยืนบนโพเดียมให้แก่ประเทศไทยในโอลิมปิกครั้งถัด ๆ ไป เพราะถึงแม้ว่ากีฬานี้จะต้องการความแข็งแรงของร่างกายเฉกเช่นเดียวกับกีฬาชนิดอื่น แต่กีฬาชนิดนี้ เรื่อง “ความสูงยาว” กลับไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเป็นผู้ชนะ แต่ “ความคิดสร้างสรรค์” ต่างหาก คือกุญแจสู่ความสำเร็จ ซึ่งปัจจัยนี้ช่างเหมาะสมกับคนไทยเสียจริง ... แล้วจุดเริ่มต้นของความฝันที่ใหญ่ขนาดนี้ อยู่ที่ไหนนะ ?

คุณบุตรพจน์ พลพิพัฒนพงศ์ หรือ พี่ปาร์ค คือ ผู้ประกอบการที่ช่วยจุดประกายความฝันนี้ให้กับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นนักการตลาดจากเมืองหลวง ผู้ค้นพบอีกหนึ่งตัวตนในฐานะ “นักพัฒนาชุมชน” ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านน้ำจวง และบ้านร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอดีตเคยเป็นสถานที่สุดพิเศษของครอบครัว เนื่องจากหมู่บ้านนี้ คือ สถานที่ที่คุณพ่อและคุณแม่ของพี่ปาร์ค ได้มาพบรักกันเมื่อสมัยวัยรุ่น และมักจะพาพี่ปาร์คกลับขึ้นมาเที่ยวหาเพื่อนฝูงเสมอ จนเมื่อวันหนึ่งที่พี่ปาร์คอยากพักผ่อนจากงานที่กรุงเทพฯ จึงกลับมาที่บ้านน้ำจวงบ่อยมากขึ้น และในที่สุดก็หลงเสน่ห์ในวัฒนธรรม และได้ค้นพบตัวเองในฐานะพี่และครูของน้อง ๆ ที่ส่วนใหญ่ คือ ชาติพันธุ์ “ม้ง” จนสามารถตั้งกลุ่มเด็ก ๆ แต่มากด้วยความสามารถ โดยใช้ชื่อว่า “ม้งไซเบอร์” ในเวลาต่อมา ... “จากนักการตลาดทั่วไปที่อยากพักผ่อน เลยเลือกกลับมาในสถานที่ที่เราผูกพันตั้งแต่ตอนเด็ก เพราะมากับคุณพ่อคุณแม่บ่อย คุ้นเคยกับคุณลุงคุณป้าในชุมชนเป็นอย่างดี พอมาเล่นกับน้อง ๆ อยู่ไปอยู่มาเริ่มไม่อยากกลับบ้าน” พี่ปาร์คเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้น ... ที่เรื่องราวอาจจะเกิดขึ้นจากพรหมลิขิต แต่กลับมีจิตใจผูกพันคิดอยากทำงานต่อเนื่องด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ม้งไซเบอร์”

 

“น้อง ๆ ในกลุ่มมี Energy เยอะมาก ตื่นเต้นทุกครั้งที่เราขึ้นไป จากที่แค่แวะไปเที่ยว พอไปบ่อยขึ้น เลยลองถามน้อง ๆ ว่าอยากเรียนอะไรไหม ... เมื่อสำรวจมาแล้ว เลยแบ่งกลุ่มตามความชอบ เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ การทำอาหาร การทำคลิปตัดต่อ และกิจกรรมสายบันเทิง เช่น การร้องเพลง การเต้น การแสดง” พี่ปาร์คเล่าไปยิ้มไป เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นในรุ่นก่อตั้ง ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2561-2562 ... น่าสนใจว่าพี่ปาร์คจัดสรรเวลาสอนให้ทั้งสามกลุ่มอย่างไร เราจึงรีบถามพี่ปาร์คด้วยความอยากรู้ “อ่อ ... ผมก็ไม่ได้สอนเองทุกอย่างหรอก อย่างกลุ่มทำสื่อ ทำคลิป เล่นเครื่องดนตรีบางชนิดก็พอจะสอนได้เอง แต่กลุ่มทำอาหาร ผมก็ซื้อวัตถุดิบให้เขา แล้วก็เปิด YouTube ให้ลองฝึกทำตาม มีทั้งอาหารไทย อาหารเกาหลี แล้วแต่น้อง ๆ อยากทำ ... สำหรับกลุ่มที่ชอบดนตรี ผมก็สอนเองและชวนเพื่อน ๆ ที่ทำดนตรีมาสอนน้องบ้าง และเราก็ได้รับการสนับสนุนห้อง Production จาก NIA เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ที่สามารถเรียนถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ อัดเสียง อัด Podcast พร้อมการพัฒนาทักษะหลักสูตรเสริมอาชีพต่าง ๆ ได้ ทำให้น้อง ๆ ได้โอกาสในการฝึกฝนและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเต็มที่”

แล้วกระบวนการสร้างการเติบโตของเมล็ดพันธุ์ชั้นเลิศเหล่านี้เป็นอย่างไรนะ ... พี่ปาร์คบอกเราว่า “การสร้างทักษะนั้น นอกจากจะใช้เวลาแล้ว ยังต้องอาศัยโอกาสการนำมาฝึกใช้จริงด้วย ถึงแม้บางคนจะไม่รู้ว่าชอบอะไรในตอนแรก แต่เขาจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้หลาย ๆ อย่าง การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การได้ลงมือทำเอง เราจึงได้ออกแบบการเรียนการสอน ในรูปแบบการให้ทดลองเรียนรู้จากมืออาชีพ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในวันเสาร์-อาทิตย์ และสร้างงาน Event ให้ทุกเดือนติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน โดยเริ่มต้นลองจัด Event ในหมู่บ้านเล็ก ๆ เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมารู้จักบ้านน้ำจวงมากขึ้น” พี่ปาร์คแชร์ความทรงจำกับเราต่อว่า ... “ธีมในปีแรกนั้นเป็น Avatar Forest โดยการย้อมสีป่า ซึ่งกิจกรรมภายในงาน น้อง ๆ กลุ่มทำอาหาร ก็ได้แสดงฝีมือออกบูธขายอาหาร กลุ่มสายบันเทิง ได้ขึ้นโชว์ร้องเพลง และกลุ่มทำคลิปตัดต่อ ได้เริ่มทำทั้ง Pre และ Post-Production ซึ่งหมายถึงการก่อสร้าง จัดเวที แสง สี เสียง อุปกรณ์ไฟในงาน การออกแบบเส้นทางในงาน และทำคลิปประชาสัมพันธ์ก่อนจนกระทั่งหลังจบงาน ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี ทำให้ต่อมา เมื่อเราโพสต์เรื่องราวของเราบน Social Media ก็เริ่มมีคนอยากมาสนับสนุนเรามากขึ้น ทั้ง Chef มืออาชีพ และ Producer ทำเพลงมืออาชีพมากมาย” ... และล่าสุดมีเด็ก ๆ สมัครเข้ามาเพื่อให้คัดเลือกมากกว่า 160 คน แต่ด้วยกำลังของพี่ปาร์ค และกลุ่มรุ่นพี่ม้งไซเบอร์ ยังสามารถรับได้เพียงแค่ 60 คนต่อการเรียนรู้ในแต่ละรุ่น ซึ่งจะเรียนช่วงเดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ และจะมีรุ่นพี่คอยมาดูแลรุ่นน้องด้วย

ตัวอย่างงานที่น้อง ๆ เคยจัด ได้แก่ “งานวิ่งบ้านน้ำจวง” ซึ่งจัดขึ้นพร้อมเทศกาลกินข้าวใหม่ม้ง เมื่อวิ่งเสร็จ ก่อนกลับบ้านก็อิ่มท้องด้วยอาหารในรูปแบบ Chef Table หรือการจัด “งานลอยกระทง และงาน Winter-Battle” การประกวดการเต้นและร้องเพลง ซึ่งผู้ชนะ พี่ปาร์คจะพาไปแข่งต่อในงาน “Radikal Forze” งานแข่งเต้นระดับโลกซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ต่อด้วยงาน “ปีใหม่ม้ง” พร้อมการโยนลูกช่วง มีการแข่งทำอาหาร ซึ่งผู้ชนะได้โอกาสไปทัศนศึกษาที่กรุงเทพฯ ต่อมา เมื่อชื่อเสียงเติบโตจากระดับหมู่บ้านไประดับจังหวัด เด็ก ๆ ก็ได้ช่วยออกแบบประดับไฟที่บ้านร้องกล้า ภูลมโล ในชื่อ “เทศกาลป่าพญาเสือโคร่งบานที่บ้านร่องกล้า” แหล่งชมดอกพญาเสือโคร่งที่สวยมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้าชมกว่า 30,000 คนต่อปี รวมถึงงานกาชาด งานฤดูหนาวของจังหวัด หรืองานระดับประเทศ กลุ่ม “ม้งไซเบอร์” ก็มักได้รับเชิญไปแสดงฝีมือเสมอ

พี่ปาร์คแอบกระซิบว่า “ทุก Event ที่จัดเองหรือได้รับเชิญให้เข้าร่วม น้อง ๆ สามารถแสดงฝีมือการทำอาหาร เบเกอรี่ กาแฟ และเครื่องดื่มอื่น ๆ นำมาสู่การสร้างรายได้พอประมาณ ซึ่งนอกจากการจัดงาน Event เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว ร้านเค้กของน้อง ๆ จากกลุ่มทำ Bakery ยังเป็นร้านเค้กเดียวในหมู่บ้านอีกด้วย” ... ดูเหมือนว่าเส้นทางการพัฒนาของพี่ปาร์ค จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว จากการสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองผ่านการเรียนรู้ในทักษะที่ชอบ และความภาคภูมิใจของเด็ก ๆ ที่สามารถหารายได้ให้ตนเองเองได้

ผลตอบรับดีขนาดนี้ เราฝันไกลกันได้ขนาดไหนนะ ... “ตอนนี้ในบางทักษะแรกเริ่ม ผมเริ่มส่งต่อไม้ให้น้อง ๆ ม้งไซเบอร์รุ่นพี่สอนรุ่นน้องต่อได้แล้ว ดังนั้น ผมจึงมาโฟกัสกับ Project ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งผมกำลังออกแบบ และพยายามจะเดินไปให้ถึงในอนาคตอันใกล้ นั้นคือ การผลักดันเรื่องการเต้น B-Boys ของน้อง ๆ ให้สามารถเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งในระดับโอลิมปิกให้ได้ เพราะเรื่องนี้ตรงกับความชอบของน้อง ๆ หลายคน และหลายคนมีทักษะร่างกายที่แข็งแรงมาก รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่แพ้ใคร ดังนั้นผมเชื่อว่าความฝันนี้ไม่ได้ไกลเกินเอื้อม”

จากจุดเริ่มต้นของ “พี่ปาร์ค - บุตรพจน์ พลพิพัฒนพงศ์” และกลุ่ม “ม้งไซเบอร์”แพลตฟอร์มพัฒนากลุ่มชาวเขาชาติพันธุ์ม้ง ที่เริ่มต้นด้วยเด็กรุ่นแรก จำนวนไม่ถึง 10 คน ... จนมาปัจจุบัน มีเด็ก ๆ กว่า 500 คน ที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อสังคมผ่านโครงการ “Hmong Cyber: การออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์” และกล้าฝันที่จะไปให้ไกลในระดับโอลิมปิก ... เรื่องนี้คงจะเหมือนที่ผู้เคยประสบความสำเร็จหลายท่านเคยกล่าวไว้ว่า ... ถึงแม้เส้นทางข้างหน้าจะยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อเราเริ่ม “ลงมือทำ” แล้ว “แรงบันดาลใจ” จะคอยฉายแสงนำทางให้รู้ว่าเส้นทางต่อไปควรจะทำอย่างไรเอง ... ฝากทุกท่านเป็นแรงใจคอยเชียร์น้อง ๆ กลุ่ม “ม้งไซเบอร์” ให้ก้าวไปสู่สนามแห่งชัยชนะในมหกรรมกีฬา “โอลิมปิก” ในอนาคตด้วยกันนะคะ

 

ช่องทางติดตาม: ม้งไซเบอร์

 

ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์และรูปภาพจาก

  • คุณบุตรพจน์ พลพิพัฒนพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ม้ง ไซเบอร์ โซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ดำเนินโครงการ “Hmong Cyber: การออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์”

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)