สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

1 มกราคม 2567 7,086

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก 

“นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product Innovation)” เกิดจากการนำแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผสมผสานกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สามารถนำของเสียหรือของเหลือใช้ มาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) หรือรีไซเคิล (Recycle) ด้วยการผลิตเป็นของใช้หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน และมีการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้น นอกจากนี้ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวยังสามารถลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิต และก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการส่งเสริมการจ้างงาน สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนและกลุ่มเปราะบาง จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์สีเขียวนอกจากช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแล้ว ยังสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากพร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้

 

ที่ผ่านมาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคมโดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในกลุ่มนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้ดังนี้ 1) ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 2) ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากวัสดุเหลือใช้ 3) ผลิตภัณฑ์สีย้อมผ้าธรรมชาติ

 

1) ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

กระเป๋าจากเส้นใยสับปะรด

กระเป๋าจากเส้นใยสับปะรด

“สับปะรด” นอกจากจะนำมารับประทานเป็นผลไม้สดแล้ว มีการนำใบสับปะรดที่เป็นวัสดุเหลือใช้ มาผ่านกระบวนการให้กลายเป็นเส้นใยได้ การนำผลผลิตที่ได้จากการนำเส้นใยสับปะรดมาผลิตเป็นด้าย และนำไปต่อยอดเป็นผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋า จากภูมิปัญญาชาวพื้นเมือง ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A & R อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

 

กระเป๋าหนังเทียมจากฟางข้าว

กระเป๋าหนังเทียมจากฟางข้าว

บริษัท มณีผาสุข จำกัด ได้มองเห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จาก “ฟางข้าว” และส่วนประกอบต่างๆ ของข้าวที่เหลือจากกระบวนการเก็บเกี่ยว นำมาผลิตเป็นนวัตกรรมวัสดุทดแทนหนังสัตว์และหนังเทียมสังเคราะห์ โดยมุ่งเน้นสร้างประโยชน์ที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังจากพืชในภาคการเกษตร ช่วยสร้างอาชีพใหม่ให้กับเกษตรกร ลดมลพิษ และสร้างการมีส่วนร่วมด้านการจัดการฟางข้าว ผ่านกิจกรรมที่สอดคล้องต่อแนวคิด BCG และ SDGs เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป

 

2) ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากวัสดุเหลือใช้

ผลิตภัณฑ์ศิลปะจากกระดาษรีไซเคิล

ผลิตภัณฑ์ศิลปะจากกระดาษรีไซเคิล

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ศิลปะจากกระดาษรีไซเคิล เกิดจากความรู้และความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์คิดค้น เช่นเดียวกันกับวิสาหกิจชุมชน From waste to wow @Bang Pung ที่ได้นำกระดาษรีไซเคิลที่มีมูลค่าต่ำ เช่น กระดาษที่มีสีหมึก หนังสือพิมพ์ กระดาษรวม กระดาษลังและอื่นๆ มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานศิลปะประเภทประติมากรรมที่มีมูลค่าสูงได้ โดยมีการออกแบบเป็นลวดลายสัตว์ต่างๆ เช่น แมว กระต่าย สุนัข ไก่ ช้าง เป็นต้น สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นที่ต้องการของตลาด และมีความเป็นไปได้เชิงธุรกิจ ก่อให้เกิดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจจากการจำหน่ายชิ้นงาน และมูลค่าในเชิงสังคมจากการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเปราะบางและคนในชุมชนร่วมด้วย

 

LANTARAY ผลิตภัณฑ์ Upcycling จากทุ่นเหลือทิ้งในทะเล

LANTARAY ผลิตภัณฑ์ Upcycling จากทุ่นเหลือทิ้งในทะเล

กลุ่มแปรรูปและชาวประมงในพื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พบปัญหาท้องทะเลและชายหาดเต็มไปด้วยขยะ “LANTARAY” จึงได้นำวัสดุที่เป็นของเหลือทิ้งจากประมง ได้แก่ ทุ่นแหอวนเก่า ขยะพลาสติกและเศษวัสดุที่ถูกทิ้งบนชายหาดและในทะเล มาใช้กระบวนการ Upcycling โดยนำไปผสานกับงานหัตถกรรมท้องถิ่นที่ได้รับการออกแบบให้ทันสมัย เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่าจากฝีมือชุมชน นับว่าเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นจากความรักและความหลงใหลในความสวยงามของท้องทะเลไทย รวมถึงการอยากบอกเล่าวิถีชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่นที่ผูกพันกับท้องทะเล

 

3) ผลิตภัณฑ์สีย้อมผ้าธรรมชาติ

มหัศจรรย์สีดิน: นวัตกรรมเพื่อการพิมพ์ และเพ้นท์สีดินบนผ้าอีสาน

มหัศจรรย์สีดิน: นวัตกรรมเพื่อการพิมพ์ และเพ้นท์สีดินบนผ้าอีสาน

"สีดิน" เป็นกระบวนการผลิตสีสกรีน สีวาดภาพ ที่มาจากธรรมชาติ และไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ รวมถึงเป็นการใช้เศษวัสดุจากของเหลือใช้ทางการเกษตร และเพิ่มมูลค่าให้กับดินเสื่อม ของวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม ที่ไม่มีมูลค่า มาสร้างมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสีที่ผลิตได้จะเป็นสีที่มีเนื้อสีลื่น นุ่ม เข้มข้น ใช้ปาดสกรีน เพ้นท์ ระบาย ทา หรือพิมพ์บนผ้าได้ดี ไม่ทำให้บล็อกสกรีนอุดตัน หรือแห้งง่ายแบบสีสังเคราะห์ รวมถึงเทคนิคการพิมพ์ภาพใช้เนื้อสีน้อยกว่าสีทั่วไป ประมาณร้อยละ 60 มีความคงทนต่อแสง และคงทนต่อการซักล้างวัสดุกึ่งสีเพ้นท์ นับว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่

 

Thanee color นวัตกรรมสีพิมพ์ จากกล้วยไทย

Thanee color นวัตกรรมสีพิมพ์ จากกล้วยไทย

อีกหนึ่งตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจ คือ การทำสีจาก “กล้วยไทย” ของวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ซึ่งนำมาผลิตเป็นสีสกรีนพิมพ์ลายได้หลากหลายเฉดสี กว่า 30 เฉดสี ทดแทนสีสังเคราะห์และสีเคมี ในกลุ่มงานสิ่งทอ และยังเป็นการยกระดับและปรับโฉมผลิตภัณฑ์เดิมของวิสาหกิจชุมชน และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากสีของกล้วย โดยสามารถนำไปผลิตงานภาพพิมพ์บนผืนผ้า เพ้นท์สี และภาพพิมพ์บนผ้า และทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวเดล้อม

 

จะเห็นได้ว่าชุมชนบางแห่งจากเดิมที่เคยมีค่าใช้จ่ายกับการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นในชุมชน ในปัจจุบันสามารถที่จะสร้างรายได้จากการนำวัสดุเหลือใช้หรือของเสีย มาผ่านกระบวนการที่เป็นแนวคิดเชิงอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผนวกกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุธรรมชาติทดแทนวัสดุที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 3 เท่า

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีความมุ่งมั่นในการแสวงหานวัตกรรมเพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ด้วยการพัฒนาศักยภาพของชุมชนซึ่งเป็นรากฐานของสังคม สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากตัวอย่างผลงานที่กล่าวถึงข้างต้น สามารถสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ เพื่อให้เศรษฐกิจในชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน นับเป็นความสำเร็จของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ร่วมมือสร้างสรรค์แนวคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

บทความโดย
ณรงค์ธร เนื้อจันทา (กอล์ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)