สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA โชว์อันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของไทย ปี 67 “ขยับดีขึ้น 2 อันดับขึ้นสู่อันดับ 41” ดีที่สุดในรอบ 10 ปี!! พร้อมคว้าอันดับ 1 โลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ด้านสัดส่วนการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมต่อ GDP โดยภาคเอกชน

News 27 กันยายน 2567 3,405

NIA โชว์อันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของไทย ปี 67 “ขยับดีขึ้น 2 อันดับขึ้นสู่อันดับ 41” ดีที่สุดในรอบ 10 ปี!! พร้อมคว้าอันดับ 1 โลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ด้านสัดส่วนการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมต่อ GDP โดยภาคเอกชน

GII 2024
 
วันที่ 27 กันยายน 2567 – ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของประเทศไทย ประจำปี 2567 (Global Innovation Index 2024 หรือ GII 2024) ภายใต้ธีมปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Unlocking the Promise of Social Entrepreneurship) ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของ 133 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 41 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้ารับการจัดอันดับ นอกจากนี้ ยังได้เปิดเวทีเสวนา “การพัฒนาระบบนวัตกรรมและการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม” ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ได้แก่ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นางสาวนุสรา กาญจนกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา Mr. Sacha WUNSCH-VINCENT, Head, Section, Dpt for Economics and Data Analytics UN World Intellectual Property Organization Co-Editor Global Innovation Index (GII) นางสาวชิยาวรรณ จงวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และนายวริทธิ ตีรประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA โดยมี ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม NIA เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
 
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า “การจัดอันดับดัชนี GII ในปีนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นการปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระแสการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการเพื่อสังคมจำนวนมากที่กำลังค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาสังคมที่สำคัญด้วยนวัตกรรม ซึ่งการศึกษาเรื่องนี้ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายนวัตกรรมและโครงการสนับสนุนด้านนวัตกรรมสามารถขยายและปรับปรุงโครงการของผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่สามารถขยายขอบเขตการดำเนินงาน เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้างที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
 
 
ปีนี้นับเป็นข่าวดีของวงการนวัตกรรมไทยที่ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2567 หรือ GII 2024 ประเทศไทยขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 ด้วยคะแนน 36.9 (เดิมอันดับ 43) โดยประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นทั้งปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 (เดิมอันดับ 44) และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) ขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 39 อันดับ (เดิมอันดับ 43) ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพของปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลผลิตทางนวัตกรรมได้ออกมามากกว่าปัจจัยนำเข้าที่ใส่ลงไปเพื่อพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่คาดหวังตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยมีพัฒนาการด้านนวัตกรรมดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (Upper middle-income economies) ในทุกปัจจัย เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบนจำนวน 34 ประเทศ เช่นเดียวกันในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จากจำนวน 17 ประเทศ และยังคงอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเกือบทุกประเทศในอาเซียนมีอันดับดัชนี GII ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่ก้าวกระโดดสูงขึ้น 7 อันดับ อยู่อันดับที่ 54 เวียดนามดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 44 และประเทศมาเลเซียดีขึ้น 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 33
 
 
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ทั้ง 7 ปัจจัย ประเทศไทยมีอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นในเกือบทุกปัจจัยจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะปัจจัยด้านระบบธุรกิจ (Business Sophistication) ขยับดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 41 โดยตัวชี้วัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ (GERD financed by business) ประเทศไทยยังคงครองอันดับที่ 1 ติดต่อกัน 5 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
 
 
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในวันนี้คือ การมารวมตัวกันของเครือข่ายพันธมิตรที่จะร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นชาตินวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา “การพัฒนาระบบนวัตกรรมและการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม” โดยมีหลายประเด็นที่เป็นโจทย์สำคัญให้ภาครัฐนำไปปรับและเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย
 
1) การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนกำลังคนรุ่นใหม่ โดย สกสว. เน้นย้ำว่า สกสว. ให้ความสำคัญกับการวางเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกิดการมุ่งเป้าและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA ก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนากำลังคน ธุรกิจ/อุตสาหกรรม และพื้นที่ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
2) การอำนวยความสะดวกและการปลดล็อกข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ โดยกระทรวงพาณิชย์ เน้นย้ำว่าการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ทันสมัยและเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจจะเป็นตัวเร่งในการดึงดูดและส่งเสริมการสร้างธุรกิจรุ่นใหม่ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์มาปรับใช้ในการให้บริการ 
 

นางสาวนุสรา กาญจนกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์

ตัวอย่างเช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เตรียมแผนในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาอำนวยความสะดวกในการให้บริการงานด้านสิทธิบัตร รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาและการเติบโตของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม (TRIUP Act) ที่ สกสว. ผลักดันอยู่ในปัจจุบัน
 
3) ส่งเสริมการใช้เครื่องมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้าง คุ้มครองและปกป้องคุณค่า (Value) ของผลงานนวัตกรรม และสนับสนุนการเติบโตของผลงานนวัตกรรมในเวทีสากล
 

นางสาวชิยาวรรณ จงวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา

 
4) การเร่งพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มธุรกิจที่เป็นโอกาสของประเทศ อาทิ ธุรกิจบนฐาน Soft Power และ Creative Content ที่ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางวัฒนธรรมเป็นทุนเดิม ตลอดจนธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต อาทิ ธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่พัฒนาบนฐานงานวิจัยและองค์ความรู้ขั้นสูง
 

นายวริทธิ ตีรประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

5) การขยายผลและเร่งสร้างการเติบโตธุรกิจนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างการรับรู้ในแบรนด์ของสินค้าและองค์กรนวัตกรรมในระดับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับที่มีต่อประเทศไทยในฐานะชาตินวัตกรรม รวมไปถึงการเร่งสร้างวิสาหกิจรุ่นใหม่ที่สามารถเติบโตไปเป็นยูนิคอร์นระดับโลก 
 
6) ความร่วมมือและความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนวัตกรรม เพราะการพัฒนาระบบนวัตกรรมจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วนและอาศัยเวลาในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ข้อมูล ทั้งกับหน่วยงานภายในประเทศและหน่วยงานต่างประเทศอย่าง WIPO เพื่อให้เกิดการกำหนดทิศทางและวางแผนเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ
 

(จากซ้าย) Mr. Sacha WUNSCH-VINCENT Head, Section, Dpt for Economics and Data Analytics UN World Intellectual Property Organization Co-Editor Global Innovation Index (GII) และนางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจาองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา

โดยประเด็นจากการเสวนานั้นแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมและให้ความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาด้านวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านนโยบาย ภารกิจ และโครงการสำคัญของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้น กิจกรรมวันนี้ถือเป็นสารตั้งต้นสำหรับความร่วมมือที่จะตามมาระหว่างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อให้เกิดการยกระดับนวัตกรรมอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ สอดคล้องกับแนวทางของดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ชาตินวัตกรรม