สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

รวันดาทำอย่างไร? ถึงปลุกตัวเองขึ้นมาจากฝันร้าย สู่ม้ามืดทางเศรษฐกิจของทวีปแอฟริกาใต้ได้สำเร็จ

24 มกราคม 2566 5,206

รวันดาทำอย่างไร? ถึงปลุกตัวเองขึ้นมาจากฝันร้าย สู่ม้ามืดทางเศรษฐกิจของทวีปแอฟริกาใต้ได้สำเร็จ


จาก 1 ใน 5 ประเทศที่เคยยากจนที่สุดในโลก ผ่านสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียประชาชนไปเหยียบ 8 แสนคน แต่ทุกวันนี้ “รวันดา” คือประเทศที่กำลังตื่นขึ้นเพื่อก้าวสู่การเป็นม้ามืดทางเศรษฐกิจของทวีปแอฟริกาใต้

ภายหลังจากช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก การฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของคนทั้งประเทศ สู่แนวทางในการยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ยกเลิกการระบุอัตลักษณ์สัญชาติอันเป็นเหมือนเส้นแบ่งที่ทำให้คนรวันดาเกิดความไม่เท่าเทียม แล้วตามด้วยการวางนโยบายพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่นำโดย พอล คากาเม (Paul Kagame) ประธานาธิบดีในขณะนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มสำคัญที่ทำให้รวันดาเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลายๆ ด้าน  

ในเวทีโลกขณะนี้ รวันดา ถือว่าเป็นประเทศที่น่าจับตาสำหรับการลงทุน เพราะเมื่อมองดูที่ค่า GDP จะเห็นว่ามีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2005 จนถึงเวลาปัจจุบัน โดยในปี 2021 ที่ผ่านมาตามข้อมูลของ World Bank ได้สรุปไว้ว่า GDP ของรวันดาเติบโตขึ้นสูงถึง 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณสามแสนหกหมื่นล้านบาท นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างมองเห็นถึงความสะดวกในการดำเนินธุรกิจบวกกับความเชื่อมั่นที่รัฐบาลรวันดาเองได้ออกมาประกาศเป้าหมายของประเทศดังเช่นว่า จะขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของทวีปแอฟริกา เป็นศูนย์รวมของการให้บริการสารสนเทศ และเป็นแหล่งผลิตสินค้าไอที สินค้าที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง เพื่อจะหลุดจากกลุ่มประเทศรายได้ต่ำสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2050

อะไรที่ทำให้รวันดาสามารถมาถึงจุดนี้ได้ หากอยากรู้ก็มาตามไปดูด้วยกันได้เลย!


กระจายจุด 4G เพื่อสร้างจุดแข็งของตัวเอง มุ่งสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

ถึงแม้รวันดาจะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างทองคำ เหมืองแร่ หรือปิโตรเลียม แต่นี่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวันดาจึงต้องมองหาหนทางเพื่อสร้างอนาคตของตัวเองขึ้นมาใหม่โดยไม่รอความช่วยเหลือจากโชคชะตา โดยตัดสินใจลงทุนกับอุตสาหกรรมไอทีและการสื่อสาร เพราะนี่เป็นคำตอบที่รัฐบาลเล็งเห็นและเชื่อมั่นว่าจะสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีกหลากหลายช่องทาง จึงเริ่มทำการเปิดเสรีโทรคมนาคม สร้างระบบใยนำแก้วหรือไฟเบอร์ออปติกกระจายออกไปทั่วทั้งประเทศ ซึ่งส่งผลให้ตอนนี้รวันดาถือว่าเป็นประเทศที่มีอินเทอร์เน็ตเร็วที่สุดติด 1 ใน 3 ของทวีปแอฟริกา

การเตรียมพื้นฐานความพร้อมนี้เป็นเหมือนต้นทุนที่ดีโดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ได้รับประโยชน์จากระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการสร้างงาน โดยส่วนใหญ่จะต่อยอดเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน Safe Motos ที่มีไว้สำหรับเรียกรถที่คล้ายกับ Grab Bike (Win) อย่างที่เรารู้จัก บัตรสมาร์ทการ์ดสำหรับจ่ายเงินค่ารถพร้อมฟรีอินเทอร์เน็ตระหว่างเดินทาง ไปจนถึงตู้ Smart Solar ที่มีไว้สำหรับชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งตั้งจุดบริการให้กระจายออกไปทั่วทั้งเมือง ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแค่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือน แต่ยังเป็นเสมือนที่ตั้งของผู้ประกอบการรายย่อยในการทำธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าเช่าสถานที่ไปในตัว


ต่อยอดอินเทอร์เน็ตเพื่อยกระดับผลผลิตทางการเกษตร สู่สายพันธุ์กาแฟพรีเมียมที่คนทั้งโลกให้การยอมรับ

การนำโทรคมนาคมเข้ามาขับเคลื่อนประเทศ ไม่เพียงช่วยต่อยอดรายได้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการหรือกลุ่มสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาต่อยอดเพื่อช่วยพลิกชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อพูดถึงประเทศ ‘วรันดา’ ในกลุ่มคนที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ ก็อาจจะนึกถึงเมล็ดกาแฟที่มาพร้อมคาแรกเตอร์พิเศษ ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างความสดชื่นและกลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกไม้ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟที่ปลูกในประเทศรวันดาได้เป็นอย่างดี 

ก่อนหน้านี้กาแฟจากรวันดาเองก็ยังไม่ได้มีความโดดเด่นอย่างเช่นในปัจจุบัน เนื่องจากเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ด้านเทคนิคและการควบคุมปัจจัยการผลิตต่างๆ แต่เมื่อรัฐบาลมองเห็นว่า หากต้องการเพิ่มมูลค่าของกาแฟให้มากขึ้นจะต้องเปลี่ยนไปเล่นในสนามของคุณภาพมากกว่าปริมาณการส่งออก จนนำไปสู่ความร่วมมือกับหน่วยงาน SNV ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลองค์กรหรือธุรกิจท้องถิ่นในประเทศ ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้กับองค์กรท้องถิ่น โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า นำร่องให้เกษตรกรสามารถบันทึกและรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตให้กับหน่วยงาน ซึ่งจะสามารถช่วยตรวจสอบ รับคำแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้สะดวกและรวดเร็วมากกว่าเดิม 


สร้างระบบบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับคนมีไอเดีย

เมื่อรัฐบาลมองเห็นโอกาสนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด และจำเป็นต้องสนับสนุนการเติบโตของเหล่าสตาร์ทอัพ จึงได้จับมือกับเอกชนเพื่อสร้าง FabLab ดินแดนแห่งนวัตกรรมให้เกิดขึ้นมา เพื่อเป็นทั้ง Co-Working Space สำหรับสร้างสรรค์ชิ้นงานต้นแบบใหม่ๆ และเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างอิสระของผู้สนใจและเชี่ยวชาญในหลายๆ สาขาวิชา ซึ่งภายใน FabLab แห่งนี้จะมีเครื่องมือที่สามารถหยิบใช้ได้เลยโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ 

แต่ไม่ใช่แค่เฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพเท่านั้น รวันดายังได้บ่มเพาะเด็กนักเรียน นักศึกษาในประเทศให้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเห็นได้จากการที่เด็กประถมในประเทศหลายคนมีความสนใจในการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์เพื่อผลิตหุ่นยนต์ หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับแก้ไขปัญหาที่พวกเขาต้องเจอในสังคมปัจจุบัน โดยที่เด็กๆ เหล่านี้ก็สามารถเข้ามาเรียนรู้และฝึกฝนในสิ่งที่สนใจได้จาก KLab ซึ่งอยู่อีกฝั่งของอาคาร FabLab ได้เช่นกัน 

เพราะบาดแผลจากความขัดแย้งและสงครามในอดีต เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนสำคัญที่คอยผลักดันให้เกิดความร่วมมือของผู้คนทั้งประเทศตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงผู้นำประเทศ อีกทั้งรัฐบาลก็มีแผนการที่ชัดเจนในการสร้างระบบเพื่อการพัฒนาประเทศที่ทุกคนยินดีให้ความร่วมมือเดินหน้าไปด้วยกัน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘รวันดา’ ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกาสามารถขึ้นมาเป็นที่ 1 จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำได้สำเร็จ

และ “รวันดา” ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีซึ่งช่วยพิสูจน์ให้เราเห็นว่า การจะขับเคลื่อนประเทศต้องให้ความสำคัญตั้งแต่คนตัวเล็กๆ ซึ่งจะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดบนรากฐานที่มั่นคงอย่างแน่นอน

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.salika.co/2019/12/31/mara-x-mara-z-smartphone-by-rwanda/
https://www.longtunman.com/29703
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/70249
https://www.youtube.com/watch?v=N498wJ_Xn4c
https://gcgh.grandchallenges.org/grant/smart-accountability-rwandan-coffee-sector
https://snv.org/country/rwanda