สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“มอลตา” ประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้สร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ แต่มีมูลค่าในวงการมากกว่าพันล้านบาทต่อเดือน

22 กุมภาพันธ์ 2566 1,354

“มอลตา” ประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้สร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ แต่มีมูลค่าในวงการมากกว่าพันล้านบาทต่อเดือน

เกาะสวรรค์บนใจกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศที่มีดีจนกระทั่งผู้สร้างภาพยนตร์ทั่วโลกต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาถ่ายทำ

พูดแค่ชื่อประเทศ “มอลตา” ขึ้นมาหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จัก แต่ถ้าเราบอกว่าที่นี่คือโลเคชั่นในภาพยนตร์และซีรีส์ดังหลายเรื่อง เช่น Game of Thrones, Troy, Assassin's Creed, Murder on the Orient Express ฯลฯ ก็อาจจะร้องอ๋อขึ้นมาทันที เพราะมีบรรยากาศที่โดดเด่น สวยงาม มีเอกลักษณ์ ทั้งทางธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมราวกับว่าเป็นเมืองที่มีอยู่จริงตามเรื่องเล่าในภาพยนตร์และซีรีส์เรื่องนั้นๆ

แล้วทำไมประเทศนี้ถึงเป็นโลเคชั่นสำคัญในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด รวมถึงทั่วโลก นั่นก็เพราะมอลตาถือเป็นประเทศหนึ่งในทวีปยุโรปที่มีพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะตั้งอยู่บนใจกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเชื่อมกับทั้งทวีปยุโรป และแถบแอฟริกาเหนือทั้งหมด แถมยังมีช่องทางออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกด้วย

ทำให้พื้นที่นี้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก ไม่ว่าจะเป็น ชาวฟินีเซียน (Phoenicians) ชาวโรมัน (Romans) กรีก (Greeks) อาหรับ (Arabs) นอร์มัน (Normans) ซิซิลี (Sicilians) สวาเบียน (Swabians) อารากอน (Aragonese) ฮอสปิทาลเลอร์ (Hospitallers) ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก็ล้วนตั้งรกรากกันในบริเวณนี้จนเป็น Melting Pot ของทวีปยุโรป และได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี ค.ศ. 1980

จากความหลากหลายของกลุ่มคนหรือชาติพันธุ์ เลยส่งผลให้เกิดการสร้างประเพณี ภาษา วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย อาคารบ้านเรือนของผู้คนก็มีหลากหลายลักษณะ ตั้งแต่วิหารในยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Megalithic Temples) อาคารแบบโรมัน (Roman Architecture) ไปจนถึงสถาปัตยกรรมแบบบาโรค (Baroque Architecture) ที่มีช่วงอายุราวๆ ศตวรรษที่ 16 ซึ่งก่อนจะเป็นโลเคชั่นถ่ายทำภาพยนตร์ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในยุโรปมาก่อนแล้ว นับเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ยากจะเลียนแบบ เพราะมันคือสิ่งที่ต้องบ่มเพาะหรือสร้างมาตั้งแต่อดีต

ความงดงามเช่นนี้ทำให้วงการภาพยนตร์ในฮอลลีวูด ยุโรป หรือทั่วโลกต้องดั้นด้นมาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศนี้ โดยเฉพาะภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ เพราะให้ภาพที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด จนสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ แม้แต่ในช่วงปี 2020 ที่เกิดวิกฤติโรคระบาด แต่ประเทศมอลตากลับสามารถสร้างมูลค่าได้จากวงการภาพยนตร์ได้มากกว่า 98 ล้านยูโร หรือมากกว่า 3.4 พันล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว

เท่านี้ยังไม่พอเพราะความสำเร็จในภาพยนตร์และซีรีส์หลายๆ เรื่อง ทำให้ประเทศมอลตา กลายเป็นอีกประเทศที่มี Film Tourism มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เกิดการตามรอยในหลายแห่งด้วยกัน เช่น เกาะโกโซ (Gozo) โดยเฉพาะ หน้าต่างแห่งอาซูเร (Azure Window) ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลเป็นเวลาหลายล้านปีจนเกิดเป็นรูคล้ายซุ้มประตู ก็มาจากการตามรอยเรื่อง Game of Thrones หรือหมู่บ้านป๊อปอาย (Popeye Village) ที่ Paramount Pictures และ Walt Disney ลงทุนสร้างฉากจนปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตไปแล้ว

เมื่อมีการดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศมากขึ้น รัฐบาลมอลตาจึงมองเห็นจุดแข็งและมีการส่งเสริมด้านการเงินการลงทุนกว่า 11 ล้านยูโร หรือ 3.9 ร้อยล้านบาทในการดึงดูดให้ค่ายภาพยนตร์ต่างๆ ทั้งจากในสหรัฐอเมริกาหรือในยุโรป เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศตัวเองมากขึ้น เช่น การลดภาษีและพัฒนาวีซ่า (The Film Crew Schengen Visa) สำหรับคนทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ

แล้วสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์ในประเทศเป็นอย่างไรบ้าง? รัฐบาลมอลตามีการให้เงินทุนผ่านหน่วยงานที่มีชื่อว่า “Malta Film Commission” ในชื่อกองทุน “Creative Malta” เพื่อช่วยสนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์ในประเทศมากขึ้น แม้หลายๆ ผลงานอาจจะยังเดินทางมาไม่ถึงประเทศไทย แต่ก็ถือว่าเป็นการก่อร่างสร้างตัวไปพร้อมกับความสำเร็จที่มาจากผู้สร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในระดับนานาชาติ ทำให้วงการภาพยนตร์หรือซีรีส์ในประเทศนี้จึงถือว่ายังเป็นที่น่าจับตาไม่น้อย

จากปัจจัยทั้งหมดที่เล่ามาทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมมอลตาถึงมีกลุ่มคะแนน Creative Outputs เป็นอันดับที่ 2 ของโลก จากการจัดอันดับ GII ในปี 2022 เป็นรองเพียงแค่สวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น กลไกการพัฒนาในประเทศนี้กำลังชี้ให้เราเห็นว่า การที่ประเทศจะก้าวเป็นผู้นำด้าน Creative Economy ได้นั้นอาจมีเส้นทางที่หลากหลาย แต่สิ่งสำคัญก็คือการมองเห็นศักยภาพของตัวเอง จนทำให้สามารถสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจได้ตามมา

ความสำเร็จครั้งนี้ยังเป็นบทเรียนชั้นดีที่ทำให้หลายๆ ประเทศได้หันกลับมามองและตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองมี โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดี เพราะมีทั้งประเพณี วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่ยาวนานและโดดเด่น หากประเทศไทยมีกลไกการส่งเสริมที่คล้ายคลึงกันก็อาจจะช่วยทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เหมือนกับปรากฏการณ์ที่นักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยจนถึงจุดพีคที่สุดในช่วงก่อนโควิดจากเรื่อง Lost in Thailand แต่จะดีขึ้นไปกว่านี้ไหม… ถ้าเราทำมันได้อย่างยั่งยืนจนเป็น Destination ที่ใครๆ ก็อยากมาเยี่ยมเยือน

อ้างอิงภาพจาก : hbo.com

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.wipo.int/directory/en/details.jsp?country_code=MT
https://timesofmalta.com/articles/view/maltas-film-sector-2022-money.1004842
https://timesofmalta.com/articles/view/maltas-11m-budget-attract-international-films-soar-50m.996138
https://timesofmalta.com/articles/view/98-million-generated-by-the-local-film-industry-despite-the-pandemic.927106
https://en.wikipedia.org/wiki/Architecture_of_Malta
https://theculturetrip.com/europe/malta/articles/a-guide-to-the-spectacular-film-and-tv-locations-of-malta/
https://en.wikipedia.org/wiki/Cinema_of_Malta
https://www.imdb.com/search/title/?locations=Malta
https://www.artscouncilmalta.org/pages/guidance-advice/acm-publications/strategy-2025/
https://maltafilmcommission.com/financial-incentives/