สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
FoodTech Matters: กระแสการลงทุนในนวัตกรรมด้าน ‘เทคโนโลยีอาหาร’
นวัตกรรมด้าน ‘FoodTech’ แบบไหน มาแรงในสายตานักลงทุน ?
ตลาดนวัตกรรมด้าน ‘เทคโนโลยีอาหาร’ (FoodTech) เป็นหนึ่งตลาดน่าเล่น ที่ยังคงมีการเติบโตและสามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก แม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจาก COVID-19 ถึงขนาด Research and Markets คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2025 ตลาด FoodTech จะมีมูลค่าอุตสาหกรรมสูงถึง 7.76 ล้านล้านบาท (2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เลยทีเดียว
กราฟการลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน FoodTech กำลังพุ่งสูงขึ้นจากปีที่แล้ว (เพิ่มขึ้นราว 40% จากปี 2019) โดยเม็ดเงินส่วนหนึ่งไหลเข้ามาจากเงินลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน TravelTech ที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 ไปเต็มๆ แต่จากบทวิเคราะห์สถานการณ์การลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน FoodTech ทั่วโลก ที่ศึกษาโดย Tracxn ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาดสตาร์ทอัพ พบว่า ภายในตลาดสตาร์ทอัพด้าน FoodTech เอง ก็มีกระแสการปรับเปลี่ยนสัดส่วนเงินลงทุนอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจัยหลักนั้นมาจาก ‘พฤติกรรมผู้บริโภค’ ที่เปลี่ยนไปในช่วงวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้
กลุ่มนวัตกรรมที่กำลังมาแรงสุดๆ หนีไม่พ้นกลุ่มอาหารดิลิเวอรี่ โดยอันดับ 1 ได้แก่ “แพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร” (Platform Delivered) เช่น Uber EATS และ GrabFood ที่เราคุ้นเคย และอันดับ 2 อย่าง “แพลตฟอร์มค้นหาร้านอาหารและสั่งอาหาร” (On-demand Food Discovery & Ordering) เช่น Yelp Curefit และ Wongnai ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันมีรายงานว่ายอดออเดอร์อาหารออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่าตัว และคาดว่าสิ้นปี 2020 จะมีมูลค่าสูงถึง 4.23 ล้านล้านบาท (1.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ตามมาด้วยอันดับที่ 3 อย่างนวัตกรรม “เครื่องครัวอัจฉริยะ” (Smart Kitchen Appliance) ตั้งแต่เครื่องจักรผลิตอาหาร ระบบการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการทำอาหารดิลิเวอรี่โดยไม่ต้องมีหน้าร้าน (Cloud Kitchen) รวมถึงแกดเจ็ตใหม่ๆ ที่ช่วยให้การทำอาหารสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเข้ามาตอบโจทย์ยุคการทำธุรกิจร้านอาหารแบบไร้สัมผัส (Contactless) เช่น Zume Pizza สตาร์ทอัพร้านพิซซ่าที่ใช้หุ่นยนต์เกือบทุกขั้นตอน หรืออย่าง McDonald’s เชนอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใช้หุ่นยนต์เตรียมอาหารให้กับลูกค้า Drive-thru
“เนื้อสัตว์ทดแทน” (Meat Substitute) เป็นอีกกลุ่มนวัตกรรมซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงในตลาด สาเหตุมาจากความต้องการอาหารที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นราว 70% สวนทางกับกำลังการผลิตที่ทำได้ในปัจจุบัน ปริมาณของผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอีก 20% และเทรนด์คนรักสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม “โปรตีนจากพืช” (Plant-based Protein) ที่กระโดดขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 (สูงขึ้นจากเดิม 11 อันดับ)
ขณะที่ นวัตกรรมด้าน FoodTech บางกลุ่ม ได้รับความนิยมลดลงเล็กน้อย เช่น “ระบบขายหน้าร้านอาหาร” (POS: Point of Sale) จากแนวโน้มสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจกินเวลาไปอีกสักระยะ และทำให้ผู้คนไม่สามารถไปทานอาหารตามร้านอาหารได้ รวมถึงกลุ่ม "วัตถุดิบอาหาร" (Meal Kits) ที่ต้องนำมาปรุงอาหารต่อ ซึ่งไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์เร่งรีบของผู้บริโภคยุคใหม่
แล้วสถานการณ์สตาร์ทอัพด้าน FoodTech ในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง ? หากเปรียบเทียบกันด้านปริมาณแล้ว จำนวนสตาร์ทอัพ FoodTech ในเอเชียมีแค่เพียง 5% ขณะที่ไทยเราคิดเป็นสัดส่วนแค่เพียง 0.43% (ประมาณ 44 บริษัท จาก 10,245 บริษัททั่วโลก) และจัดอยู่ในกลุ่ม “วัตถุดิบอาหาร” เสียส่วนใหญ่
ที่ผ่านมา NIA จึงได้ริเริ่มโครงการ SPACE-F ที่มีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร (FoodTech) ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดและสามารถแข่งขันได้ไม่แพ้นวัตกรรมจากต่างประเทศ โดยมีตัวอย่างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น Sesamilk Eden และ Artificial Anything (อ่านรายละเอียดนวัตกรรมเพิ่มเติมได้ที่: www.facebook.com/NIAThailand/posts/3229492280421409)
หากคุณมีไอเดียธุรกิจด้าน FoodTech และสนใจต่อยอดให้เกิดขึ้นจริง อย่าลืมก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการ SPACE-F ได้ที่ https://www.space-f.co/... ไม่แน่ว่าวันหนึ่งนวัตกรรมของคุณอาจจะมีโอกาสโลดแล่นอยู่ในเวทีสากลก็เป็นได้
ที่มา:
https://jumpstartmag.com/getting-a-taste-for-trends-in-foodtech/
https://thespoon.tech/finistere-food-tech-investment-reached-4-8b-in-the-first-half-of-2020/