สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Erin Smith สตาร์ทอัพสาววัย 15 กับไอเดีย AI เช็กอาการป่วยพาร์กินสัน ตัวแรกของโลก!

บทความ 21 พฤษภาคม 2563 3,318

Erin Smith สตาร์ทอัพสาววัย 15 กับไอเดีย AI เช็กอาการป่วยพาร์กินสัน ตัวแรกของโลก! 


‘อายุ’ ไม่ใช่ข้อจำกัดของการสร้างสรรค์ ‘นวัตกรรม’


แม้การพัฒนานวัตกรรมสักชิ้นหนึ่ง ดูจะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์เป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันกลับมีเยาวชนคนรุ่นใหม่มากมายที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ถ้ามีแรงบันดาลใจ ก็ไม่มีอะไรยากเกินกว่าที่จะเรียนรู้” เช่นเดียวกันกับ Erin Smith เด็กสาวสัญชาติอเมริกัน ที่เริ่มต้นพัฒนา “FacePrint” นวัตกรรมช่วยตรวจผู้ป่วยโรคพาร์กินสันขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ด้วยวัยเพียง 15 ปีเท่านั้น


ความจริงแล้วชีวิตวัยเรียนของ Erin Smith ก็เหมือนกับเด็กทั่วๆ ไป โดยหลังกลับมาจากโรงเรียน เธอมักจะใช้เวลาไปกับการไล่ดูภาพยนตร์และผลงานของนักแสดงคนโปรดอย่าง Michael J Fox แต่สิ่งที่เธอเริ่มสังเกตเห็นคือการแสดงอารมณ์บนใบหน้าซึ่งดูผิดปกติ แข็งเกร็ง ไร้ชีวิตชีวา และเมื่อเธอลองไปค้นคว้าเพิ่มเติมบนอินเตอร์เน็ต ก็ได้รู้ความจริงที่น่าตกใจว่า นักแสดงคนโปรดของเธอนั้นป่วยเป็น “โรคพาร์กินสัน” ตั้งแต่เริ่มเข้าวงการใหม่ๆ


ด้วยความคลั่งไคล้ในตัวนักแสดงเป็นอย่างมาก Erin ใช้เวลาร่วมเดือนในการศึกษาข้อมูลโรคและดูคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมากมาย จนพบว่า ผู้ป่วยระยะแรกเริ่มมักมีอาการที่เห็นได้ชัดเหมือนๆ กัน นั่นคือ มุมปากตกลงขณะยิ้ม หัวคิ้วกระตุกยกขึ้น และเมื่อสังเกตใกล้ๆ จะเห็นว่ากล้ามเนื้อบนใบหน้ามีการสั่นเกร็งเล็กน้อย แต่ในทางการแพทย์แล้ว การจะบอกว่าใครสักคนป่วยเป็นโรคนั้น กลับขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ และยังไม่มีเครื่องมือที่ช่วยวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ จนเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากเริ่มต้นพัฒนานวัตกรรม ที่จะสามารถเป็นตัวช่วยให้กับคุณหมอและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอย่างจริงจัง


Erin เริ่มต้นความตั้งใจของเธอด้วยการเขียนอีเมลติดต่อไปยังคอมมูนิตี้ผู้ป่วยพาร์กินสันใกล้บ้าน เพื่อขอบันทึกวิดีโอใบหน้าและสีหน้าอารมณ์ของผู้ป่วยจำนวน 15 คน และใช้เวลาร่วมปี เรียนรู้วิธีการเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง จากคอร์สเรียนออนไลน์ หรือแม้กระทั่ง Tutorial บน YouTube จนทำให้เธอสามารถพัฒนา “โปรแกรมระบบการจดจำใบหน้า” (Facial Recognition Software) ตัวแรกขึ้นมาได้สำเร็จ


จากนั้นเธอได้นำนวัตกรรม “FacePrint” ไปเสนอกับ Michael J Fox Foundation มูลนิธิของนักแสดงผู้เป็นแรงบันดาลใจ ที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในอเมริกา และด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิ ทำให้เธอมีเงินทุนในการวิจัยและเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ได้ทำงานร่วมกับแพทย์และทีมโปรแกรมเมอร์เพื่อปรับปรุงนวัตกรรมให้ดีขึ้น และมีโอกาสพบปะกับนักลงทุนมากมาย ที่สนใจนวัตกรรมของเธอ จนทำให้เธอตัดสินใจก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพเป็นของตัวเองในที่สุด 


4 ปีผ่านไป ปัจจุบัน “FacePrint” อยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกขั้นสุดท้ายและคาดว่าจะเริ่มต้นใช้งานจริงในช่วงกลางปี 2020 นี้ โดย “FacePrint” เวอร์ชั่นล่าสุดสามารถวินิจฉัยอาการป่วยเป็นโรคพาร์กินสันได้ใน 5 นาที โดยใช้แค่ฟุตเทจวิดีโอสีหน้าอารมณ์ และมีความแม่นยำถึง 88% ซึ่งสามารถใช้วิเคราะห์ได้ แม้จะเป็นการวิดีโอคอลทางไกลหรือวิดีโอที่ถูกอัปโหลดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงได้รับการเพิ่มเติมเทคโนโลยี Machine Learning ควบคู่กับการวิเคราะห์ Big Data ซึ่งจะทำให้โปรแกรมสามารถเรียนรู้และพัฒนาเองได้ และจะยิ่งมีความแม่นยำเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ใช้งาน


เป้าหมายต่อไปของ Erin Smith คือการพัฒนานวัตกรรมของเธอให้สามารถใช้ตรวจในวงกว้างได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางประสาทอื่นๆ ความเครียด และภาวะซึมเศร้า รวมถึงวางแผนนำนวัตกรรมนี้ เข้าไปเสริมอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เช่น Snapchat และ Facebook เพื่อเปลี่ยนให้เทคโนโลยีใกล้ตัวคนรุ่นใหม่ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสร้างสุขภาพที่ดีให้กับทุกคน


นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเยาวชนรุ่นใหม่ที่ใช้ Passion และความมุ่งมั่นในการเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่ง NIA เชื่อว่าเยาวชนไทยเองก็มีศักยภาพไม่แพ้ใคร และพร้อมสนับสนุนให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ สำหรับใครที่สนใจเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/NIAThailand/posts/2935694009801239