สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
ขึ้นเขาง่ายเหมือนเป็นคนพื้นที่! ด้วย “Doi Chiang Dao Biosphere” แอปฯ ที่มีทุกข้อมูลให้กับผู้ที่รักในดอยหลวงเชียงดาว
ถ้าเราเหนื่อยล้าจงเดินเข้าป่า ... แต่ถ้าเราคิดถึงเขามากนัก ก็ไปหาเขากันเลยสิ!
ช่วงฤดูหนาวที่อากาศดีๆ แบบนี้ หนึ่งในกิจกรรมที่หลายคนมักจะคิดถึงก็คือการออกไปปีนเขาเดินเข้าป่า ใช้เวลาชื่นชมธรรมชาติสุดลูกหูลูกตา ดอยหลวงเชียงดาวหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ. เชียงใหม่ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ในลิสต์ที่ผู้คนมากมายอยากจะลองขึ้นไปกันดูสักครั้ง เพราะไม่ใช่เพียงแค่ยอดเขาที่สูงสุดอันดับที่ 3 ของประเทศ แต่ที่นี่ในปัจจุบัน UNESCO ก็ยังยกให้เป็น "พื้นที่สงวนชีวมณฑล" แห่งที่ 5 ของประเทศไทย
ซึ่งทำให้สถานที่นี้มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์ มีความมหัศจรรย์ซ่อนอยู่บนเขาหินปูนลูกใหญ่สุดตระการตา และอีกความหวังของผู้มาเยือนก็คือการได้พบกับกวางผาหรือม้าเทวดา ที่อาจจะโผล่ออกมาให้เห็นท่ามกลางชะง่อนหิน ซึ่งตอนนี้ประเทศเรามีประชากรกวางผาเหล่านี้อยู่ประมาณ 2 ร้อยกว่าตัวจากทั้งหมด 2 พันกว่าตัวทั่วโลก
แต่การจะขึ้นไปที่นี่ในแต่ละครั้ง นอกจากจะต้องมีการฟิตร่างกายและเตรียมตัวเตรียมใจมาอย่างดีแล้ว สิ่งสำคัญคือจะต้องศึกษาข้อมูลของสถานที่เพื่อวางแผนการเดินทางและความปลอดภัยของผู้ไปเยือน ด้วยเหตุนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ หจก. เดคโคโมดา สตูดิโอ ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้พัฒนาแอปฯ ที่ชื่อว่า “Doi Chiang Dao Biosphere” ที่รวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับดอยหลวงเชียงดาวมาไว้ในแอปฯ เดียว เพื่อให้นักท่องเที่ยวและนักศึกษาธรรมชาติ สามารถทำความรู้จักกับธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แถมยังช่วยให้สามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างสะดวก ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ถ้าอยากรู้ว่าภายในแอปฯ จะมีข้อมูลดีๆ อะไรบ้างก็มาตามไปดูกันได้เลย
แผนที่ออฟไลน์เพื่อผจญภัยตลอด 8.5 กิโลเมตร แถมรับบทเป็นนายพรานผู้รู้จักทุกสิ่งที่เห็น
ความท้าทายอย่างแรกของการเดินป่าก็คือ ต้องมั่นใจว่าทุกก้าวที่กำลังเดินไปนั้นคือเส้นทางที่ถูกต้อง ยิ่งสำหรับการไปเยือนในครั้งแรกที่อาจเกิดความสับสนหลงทิศ เลี้ยวโค้งนู้นนี่ผิดได้ง่ายๆ หากไม่ได้เกาะกลุ่มไปกับเพื่อนพี่ขาประจำหรือลูกหาบผู้เชี่ยวชาญในเส้นทาง นักเดินทางมือใหม่จึงต้องการแผนที่เพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง และยังช่วยให้สามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างรัดกุม แอปฯ “Doi Chiang Dao Biosphere” จึงมีแผนที่อย่างละเอียด พร้อมบอกระยะห่างของแต่ละจุด พิกัดสถานที่สำคัญ และจุดบริการห้องน้ำ โดยที่เราสามารถใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ ในแอปฯ ได้แบบออฟไลน์ เพราะอย่าลืมว่าบนเขานั้นสัญญาณมือถือถือเป็นสิ่งหายากที่สุด
และอย่างที่บอกไปว่าดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ถูกจัดให้เป็น "พื้นที่สงวนชีวมณฑล" ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สังคมพืชและสัตว์ในระบบนิเวศ ดังนั้นตลอดเส้นทางกว่า 6-8 ชั่วโมงนี้ เราจะได้เจอกับบรรดาดอกไม้ ต้นไม้ หรือหินลักษณะแปลกๆ ที่แทบไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต และในเมื่อครั้งหนึ่งที่เราได้ขึ้นมามองดูธรรมชาติเหล่านี้กับตาของตัวเอง จะให้เดินผ่านไปเลยโดยไม่รู้จักก็คงน่าเสียดายแย่ แอปฯ นี้จึงรวบรวมข้อมูลดีๆ ไว้ไม่ว่าจะเป็น พรรณพืช สภาพภูมิประเทศ ภูเขาไฮไลต์หรือข้อมูลฟอสซิลต่างๆ ซึ่งบางชนิดจะมีเฉพาะที่ดอยหลวงเชียงดาวเท่านั้น
ข้อมูลเหล่านี้สามารถดูได้จากการสแกนผ่าน QR Code ตามจุดต่างๆ ระหว่างทางทั้ง 28 จุด ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เราได้รู้จักธรรมชาติอันแสนสมบูรณ์ แต่การได้ซึมซับบรรยากาศและศึกษาการพึ่งพิงอาศัยกันของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็จะช่วยสร้างความหวงแหนให้กับนักเดินทางและนักศึกษาธรรมชาติด้วยความสมัครใจอย่างแท้จริง
จะอัปสตอรี่หรือแจ้งเหตุด่วนก็โทรได้ เพราะรู้จุดที่มีสัญญาณโทรศัพท์
แม้สัญญาณมือถือจะหายาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี ในเมื่อได้ขึ้นไปเชยชมความสวยงามของธรรมชาติทั้งที ก็ต้องขออัปรูป ลงสตอรี่ไอจีให้เพื่อนๆ ที่คอยติดตามได้มาเห็นไปด้วยกัน หรือบางคนที่จำเป็นต้องโทรศัพท์ติดต่อลงมาด้านล่าง ไม่ว่าจะโทรหาครอบครัว คนรัก หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพราะในแอปฯ จะมีการแจ้งไว้ว่าจุดไหนที่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ทีนี้ก็ช่วยให้เราไม่ต้องมาลุ้นว่าถ้าเดินไปข้างหน้าจะมีสัญญาณหรือไม่ ถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่ถูกใจนักเดินทางยุคใหม่เป็นที่สุด
แต่คำถามต่อมาก็คือ ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างทางเราจะต้องติดต่อไปที่เบอร์อะไรกันล่ะ? เชื่อว่าหลายคนอาจจะลืมหรือไม่ได้นึกถึงการขอเบอร์ติดต่อของเจ้าหน้าที่กันไว้เท่าไรนัก แอปฯ Doi Chiang Dao Biosphere จึงมีการบันทึกเบอร์โทรฉุกเฉินของหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานีตำรวจ กู้ภัย เจ้าหน้าที่อุทยานไว้สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางและนักศึกษาธรรมชาติ ในกรณีที่จำเป็นต้องติดต่อฉุกเฉินลงมา ก็แค่ส่งตัวแทนหรือพาตัวเองไปยังจุดที่มีสัญญาณโทรศัพท์ แล้วกดดูข้อมูลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ผ่านทางแอปฯ เพื่อติดต่อลงมาแจ้งปัญหา ช่วยให้การเดินทางในแต่ละครั้งรู้สึกอุ่นใจได้มากขึ้นกว่าเดิม
มากกว่าการมาเยือนเพื่อพิชิต…ดอยหลวงเชียงดาวที่สูงเฉียดฟ้าแห่งนี้ต้องการผู้พิทักษ์
หลังจากที่ดอยหลวงเชียงดาวได้รับเลือกให้เป็น "พื้นที่สงวนชีวมณฑล" ซึ่งเป็นหมุดหมายของนักเดินทางจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบในการเข้าไปศึกษาให้มากขึ้น เพื่อเป็นการดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และภูมิทัศน์ต่างๆ ทำให้เหล่านักท่องเที่ยว นักศึกษาธรรมชาติต้องเคารพต่อข้อควรปฏิบัติ เพื่อให้การขึ้นมายังที่แห่งนี้ในแต่ละครั้งส่งผลกระทบกับสมดุลธรรมชาติให้น้อยที่สุด ซึ่งก่อนออกเดินทางทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรมเพื่อเป็นการปลูกฝังสร้างจิตสำนึก ทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติทั้ง 16 ข้ออย่างเคร่งครัด โดยเราสามารถดูข้อควรปฏิบัติทั้งหมดอย่างละเอียดได้ในแอปพลิเคชัน Doi Chiang Dao Biosphere
และนี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่ครอบคลุมทั้งในแง่ของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติจนเกิดความยั่งยืนโดยแท้จริง ซึ่งนวัตกรรมดีๆ แบบนี้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและการพัฒนาแอปพลิเคชันจากโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City & Community Innovation Challenge) ของ NIA โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หจก. เดคโคโมดา สตูดิโอ ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนเกิดเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยสร้างประสบการณ์ดีๆ ให้กับนักท่องเที่ยว ปรับเปลี่ยนทัศนคติของการเดินทางที่เคยมี มาเป็นหนึ่งเสียงที่จะคอยพิทักษ์ดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ให้คงคุณค่า สง่างาม และตั้งอยู่เพื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไปอีกแสนนาน
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ที่ :
สำหรับ iOS : https://apps.apple.com/app/doi-chiang-dao-biosphere/id1640061559?platform=iphone
สำหรับ Android: https://play.google.com/store/apps/details?id=com.doichiangdao.biosphere
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.doichiangdaobiosphere.com/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/307949
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/960824
https://mgronline.com/travel/detail/9640000093712