สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ปันเตียง…ปันโอกาส เปิดโครงการ “Bed Sharing” จาก YMID กับ 4 โรคสำคัญที่ร่วมกันรักษา

24 สิงหาคม 2565 1,624

ปันเตียง…ปันโอกาส เปิดโครงการ “Bed Sharing” จาก YMID กับ 4 โรคสำคัญที่ร่วมกันรักษา



เดินหน้านำร่อง! ปันเตียง ปันโอกาส กับโครงการแบ่งปันเตียงผู้ป่วยจากย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี

ไม่ใช่แค่วิกฤติโรคระบาดเท่านั้น ที่มีการบริหารจัดการเตียงข้ามสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ยังมีโรคอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตผู้คน และต้องการการรักษาหรือการรองรับผู้ป่วยที่ทันท่วงทีเช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่สถานพยาบาล ใน “ย่านนวัตกรรมการแพทย์ หรือ YMID” ซึ่งนับเป็นต้นแบบย่านนวัตกรรมการแพทย์ของกรุงเทพฯ ที่ประกอบด้วยสถานพยาบาลในเครือข่ายหลายแห่งได้แก่ รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ราชวิถี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ฯลฯ ได้เดินหน้าทำงานร่วมกัน ภายใต้โครงการ “Bed Sharing” ด้วยการแบ่งปันเตียงผู้ป่วยข้ามสถานพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยในกลุ่มโรคเปราะบางที่มีจำนวนมากขึ้นมา

โดยมีแนวทางการปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานเครือข่ายอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่สถานพยาบาล บุคลากร ผู้ใช้บริการภายในย่าน โดยเฉพาะผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ปลอดภัย และช่วยลดความแออัดของเตียงในหลายสถานพยาบาล เป็นการยกระดับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูล และมีการแบ่งปันทรัพยากรด้านอื่นๆ ภายในย่านอย่างสอดคล้องกัน ไม่ใช่แค่การแชร์เตียงเท่านั้น แต่คือการแชร์องค์ความรู้ ความชำนาญทางด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้ป่วยนั่นเอง

ซึ่งในระยะเริ่มต้น YMID ได้สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยผ่านตัวอย่างที่เคยดำเนินการภายใต้กรมการแพทย์ จนเป็นการจัดการเตียงใน 4 โรคสำคัญที่ร่วมกันรักษาดังนี้

1. ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (Acute Appendicitis) เป็นอาการป่วยที่ถ้ารู้ก่อน รู้ทัน ก็จะช่วยรักษาและผ่าตัดได้อย่างปลอดภัยได้ แต่ถ้ารู้ช้า เข้ารับการผ่าตัดช้า ก็อันตรายถึงชีวิต เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ยากต่อการรักษา YMID จึงได้มีการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเพื่อร่วมกันรักษาใน  2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือโรงพยาบาลที่ผ่าตัด ซึ่งเน้นการตรวจวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบและผ่าตัดไส้ติ่ง ได้แก่ รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ราชวิถี และ รพ.รามาธิบดี จากนั้นก็ได้ส่งต่อไปในกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่รับดูแลหลังผ่าตัด ได้แก่ รพ.สงฆ์  และ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน

2. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (Stroke Fast Track) เรียกได้ว่าเป็นโรคอันตรายที่พร้อมคร่าชีวิตคนได้ในทุกนาที เพราะอาการของโรคนี้นั้นเกิดมาจากการขาดเลือดมาเลี้ยงสมอง ทำให้สมองเสียหายจนเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาในทันที เราจึงมีการรองรับผู้ป่วยในกลุ่มอาการนี้ด้วย โดยแบ่งเป็นโรงพยาบาลหลักที่ให้การรักษา ก็คือสถาบันประสาทวิทยา รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า และรพ.ราชวิถี ในการบริการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดหรือรักษาด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง และมีโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยหลังให้การรักษา ซึ่งจะทำหน้าที่ในการช่วยรักษาด้วยการกายภาพบำบัดหรือดูแลผู้ป่วยหลังได้รับยาละลายลิ่มเลือด ได้แก่ รพ.สงฆ์ รพ.ราชวิถี รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน และสถาบันมะเร็ง

3. โรคมะเร็ง (Cancer) โรคนี้ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากการรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ปี 2564 คนไทยเป็นผู้ป่วยมะเร็งใหม่สูงถึง 139,206 คนต่อปี และมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 84,073 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก YMID จึงมีการแบ่งรูปแบบการรักษาใน 2 กลุ่มโรงพยาบาลด้วยกัน กลุ่มแรกคือกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งได้แก่ รพ.รามาธิบดี และ รพ.พระมงกุฎเกล้า เมื่อได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วก็จะถูกส่งต่อมายัง กลุ่มโรงพยาบาลที่สองได้แก่ รพ.สงฆ์ และ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน ที่จะทำหน้าดูแลรักษาหลังผ่าตัดและได้รับเคมีบำบัดในลำดับถัดมา

4. โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน(STEMI) เป็นโรคสุดท้ายที่ YMID ร่วมกันรักษา โรคนี้ถือเป็นโรคที่อันตรายไม่แพ้ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (Stroke Fast Track) ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บแน่นกลางอก หน้ามืดเป็นลม จนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ในไม่กี่นาที การรักษาจึงต้องเร่งเปิดหลอดเลือดที่อุดตันให้เร็วที่สุด เพื่อให้เลือดกลับไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้เหมือนเดิม YMID จึงมีการจับคู่โรงพยาบาลเพื่อให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน (STEMI) ดังนี้
- รพ.รามาธิบดี คู่กับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันประสาทวิทยา
- รพ.พระมงกุฎเกล้า คู่กับ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน
- รพ.ราชวิถี คู่กับ รพ.สงฆ์

แม้ทั้งหมดนี้จะเป็นโครงการนำร่องและเพิ่งดำเนินการในบางโรงพยาบาล แต่กำลังสะท้อนให้เห็นว่า การเชื่อมโยงและแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เป็นอีกกุญแจหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างปัญหาระบบสาธารณสุขได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้มีการจัดการที่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยต่อลมหายใจให้กับอีกหลายชีวิตด้วยเช่นกัน