สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เป็นเจ้าของโรงแรม 2.5 พันล้านด้วยเงินแค่ 32 บาท

บทความ 16 มีนาคม 2564 5,098

เป็นเจ้าของโรงแรม 2.5 พันล้านด้วยเงินแค่ 32 บาท


ไม่ต้องกำเงินเป็นแสน คุณก็มีโอกาสเป็นเจ้าของโรงแรม 5 ดาวได้!


กลายเป็นเรื่องฮือฮาของแวดวงการเงินและอสังหาริมทรัพย์ เมื่อ St. Regis เครือโรงแรมชื่อดัง นำ St. Regis Aspen รีสอร์ตหรูระดับ 5 ดาว ในแอสเพน เมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีทิวทัศน์สวยงามที่สุดในรัฐโคโลราโด มูลค่าสูงถึง 2.5 พันล้านบาท มาแปลงเป็นเหรียญดิจิทัล และประกาศขายให้คนทั่วโลกสามารถเข้าไปซื้อได้ ในราคาเริ่มต้นแค่เพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 32 บาท ถูกยิ่งกว่าราคาอาหารกลางวันหรือชานมไข่มุกยุคนี้เสียอีก


กระบวนการที่ St. Regis ทำอยู่นี้ เรียกว่า ‘Asset Tokenization’ หรือก็คือการนำตัวรีสอร์ตมาประเมินมูลค่า ก่อนจะแตกสินทรัพย์ดังกล่าวให้กลายเป็นหน่วยดิจิทัลย่อยๆ ที่เรียกว่า ‘โทเคน’ (Token) จำนวนมากถึง 18 ล้านโทเคน เก็บอยู่บนระบบ Ethereum Blockchain โดยตั้งชื่อเจ้าสิ่งนี้ว่า Aspen Coin และเปิดให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าไปซื้อขายเป็นเจ้าของเหรียญได้ตามจำนวนที่ต้องการ 


เจ้า Token ที่ว่านี้ ดูแล้วอาจมีความใกล้เคียงกับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แต่ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ ‘Asset Tokenization’ จำเป็นต้องนำ ‘สินทรัพย์’ ที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริง มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงจะออกเป็น Token ได้ (Asset-backed token) ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ที่ซื้อ Token ไปไม่จำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงสูงเท่าการซื้อหุ้นหรือ cryptocurrency เพราะในกรณีที่ St. Regis เกิดปัญหาล้มละลายไป ก็ยังมีรีสอร์ตทั้งหลังให้ขายทอดและจ่ายเงินคืนให้เจ้าของ Token ได้


ผลประโยชน์ที่ผู้ซื้อ Token จะได้รับ จะเป็นไปตามสัญญาที่เรียกว่า Smart Contract ที่ถูกเขียนขึ้นและผูกติดอยู่กับ Token ไว้ตั้งแต่แรก โดยอาจเป็นได้ทั้งเงินปันผลคล้ายการซื้อหุ้น หรือเป็นสิทธิประโยชน์อื่นๆ อย่างในกรณี Aspen Coin นี้ คนที่ซื้อไปก็จะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากยอดจองที่พัก และได้รับสิทธ์เป็นส่วนลดโรงแรมในเครือของ St. Regis แต่ไม่มีอำนาจออกเสียงในเรื่องทิศทางการดำเนินธุรกิจโรงแรมแต่อย่างใด และด้วยตัวสัญญาถูกเขียนขึ้นบนระบบ Blockchain ที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัย ทำให้แม้แต่ St. Regis เองก็ไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขสัญญาหรือโกงผลประโยชน์ไปจากเจ้าของ Aspen Coin ได้เลย


แน่นอนว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ แบบนี้ ผู้ขาย Token อย่าง St. Regis จะไม่สามารถเปิดเอง ขายเอง เขียนสัญญาเองได้ แต่จำเป็นต้องมีหน่วยงานภาครัฐอย่าง ก.ล.ต.สหรัฐฯ (US SEC) และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทด้านกฎหมาย บริษัทประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เข้ามาช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องเป็นธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการโก่งราคาสินทรัพย์เกินความเป็นจริง หรือมีการเขียนสัญญาที่ผิดกฎหมาย เอารัดเอาเปรียบผู้ซื้อจนเกินพอดี


แล้วด้าน St. Regis จะได้อะไรตอบแทน จากการแบ่งขายสิทธิ์ความเป็นเจ้าของออกไปล่ะ ? คำตอบก็คือ ‘เงินสด’ กว่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เท่าจำนวน Token ที่เปิดขายไป) ที่โรงแรมสามารถนำมาใช้ปรับปรุง ต่อเติม ขยับขยายกิจการได้ล่วงหน้า โดยไม่จำเป็นต้องไปกู้ ‘สินเชื่อ’ ธนาคาร ซึ่งจะมาพร้อมดอกเบี้ยจำนวนมหาศาล และไม่ต้องไประดมเงินผ่านการประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน ที่จะทำให้ราคาหุ้นตกต่ำตามกลไกตลาด และสร้างความไม่พึงพอใจให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมนั่นเอง


นอกจากจะช่วยให้คนมีเงินน้อย มีโอกาสลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดีแต่ราคาแพงได้แล้ว ระบบ Asset Tokenization ยังถูกจับตาว่าจะเข้ามาตอบโจทย์การซื้อขายแลกเปลี่ยนและการทำธุรกิจในอนาคตไปอย่างสิ้นเชิง เช่นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ที่โดยปกติจะต้องเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 2% ให้กับตัวกลางภาครัฐ ในการทำเรื่อง “โอนสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ” นั่นหมายความว่าหากเกิดการซื้อขายบ้านราคา 10 ล้านบาท คนซื้อและคนขายจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 2 แสนบาท และนี่ยังไม่รวมถึงค่าเสียเวลาต้องไปทำเรื่องยุ่งยากที่สำนักงานเขตอีก


ในทางกลับกัน ถ้าทำผ่านระบบ Asset Tokenization เจ้าของบ้านก็เพียงแค่เปลี่ยนสิทธิ์การเป็นเจ้าของโฉนดบ้านทั้งหลังให้กลายเป็นโทเคน และขายโทเคนนั้นในราคาที่ตกลงกันไว้ผ่านระบบ Blockchain โดยตรง สะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาแค่เพียงหลักวินาที แถมยังเสียค่าธรรมเนียมน้อยมากๆ ซึ่งมีตัวอย่างเกิดขึ้นจริงแล้วในสหรัฐฯ โดยเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรรายใหญ่ ประกาศขายบ้านราคาหลายสิบล้าน แต่เสียเงินค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์แค่เพียง 3 บาทเท่านั้น


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่าง use-case ของการนำระบบ Asset Tokenization มาใช้จริง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่แค่อสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่นำมา Tokenization ได้ แต่หมายถึงสินทรัพย์ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีมูลค่าและจับต้องได้จริง ตั้งแต่รถยนต์ งานศิลปะราคาแพง ไปจนถึงทองคำ หุ้น และน้ำมันอีกด้วย โดย World Economic Forum คาดการณ์ว่าภายในอีก 10 ปีข้างหน้า สินค้าการเงินและการบริการของโลกมากถึง 10% (มูลค่าราว 307 ล้านล้านบาท) จะถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนในรูปของ Token นี้


มองย้อนกลับมาในประเทศไทย เราเองเพิ่งมีพ.ร.บ. หลักทรัพย์ ที่รับรองการซื้อขายแลกเปลี่ยน ‘Asset-backed Token’ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยจะต้องซื้อขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ผ่านมาตรฐานของก.ล.ต. เท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่มากและยังไม่มีตัวอย่างการใช้งานจริงเหมือนกรณี St. Regis คงต้องจับตาดูต่อไปว่าแวดวงอุตสาหกรรมไทยจะเริ่มหยิบเอา ‘Asset Tokenization’ มาประยุกต์ใช้กันแบบไหน… ไม่แน่ในอนาคตเราอาจเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายไปอยู่บนระบบการเงินที่ว่านี้ก็เป็นได้