สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

สิทธิและโอกาสแห่งการเพาะเมล็ดพันธุ์ “นวัตกร” สู่โลกอนาคต

20 พฤศจิกายน 2565 2,361

สิทธิและโอกาสแห่งการเพาะเมล็ดพันธุ์ “นวัตกร” สู่โลกอนาคต

 
รู้หรือไม่? ข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลกมากถึง 196 ประเทศ คือ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” โดยองค์การสหประชาชาติได้มีการประกาศรองรับและกำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันเด็กสากล” (Universal Children's Day) ซึ่งนอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่เด็กทั่วโลกแล้ว อีกเป้าหมายสำคัญคือต้องการกระตุ้นให้ทุกประเทศตระหนักถึงปัญหาที่เด็กต้องเผชิญ รวมถึงการให้ความคุ้มครองดูแลเด็กอย่างเต็มความสามารถและเท่าเทียมกัน
 

ทำความรู้จักกับสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

เด็ก หมายถึง บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะในประเทศของตน ส่วนใหญ่กำหนดที่อายุ 18 ปี เด็กที่เกิดมาล้วนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่ากับผู้ใหญ่ เพียงแต่ยังไม่สามารถที่จะเผชิญกับสภาวะภายนอกได้อย่างเต็มที่ด้วยสภาพร่างกาย จิตใจ ความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ จึงมีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 54 ข้อ ครอบคลุม 4 ด้าน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ ได้แก่
 
  1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) ไม่ว่าเด็กจะเกิดมาแบบใด ควรได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม
  2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) จากการล่วงละเมิดและการทารุณกรรมทุกรูปแบบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การใช้แรงงานเด็กเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงการคุ้มครองเด็กจากสารอันตรายหรือสิ่งเสพติด
  3. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation) ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี การแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำ
  4. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การสนับสนุนด้านการศึกษาตามมาตรฐาน รวมถึงทักษะที่เป็นประโยชน์ในอนาคต
 

การลงทุนเพื่อสร้างเด็กแห่งอนาคต

หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ชีวิต คือ การลงทุน” แล้วมีด้านไหนบ้างที่เราต้องลงทุน ? การลงทุนในชีวิตมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงิน การลงทุนเพื่อสุขภาพ หรือการลงทุนเพื่อการศึกษา แล้วจะดีกว่าไหม หากเราลงทุนเพื่ออนาคตที่ดีโดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า นอกเหนือจากการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานให้กับเด็กตามสิทธิที่เด็กจะได้รับแล้ว การพัฒนาทักษะที่จำเป็น เช่น การคิดเป็นเหตุเป็นผล การสื่อสาร การปรับตัว จะทำให้เด็กเกิดประสบการณ์การเรียนรู้และสามารถใช้ทักษะเหล่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงสิ่งรอบตัวให้ดีขึ้นได้ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ไปในการลงทุนครั้งนี้คือ “เวลา” การใช้เวลาอยู่ร่วมกันจะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ทำให้เรารู้จักตัวตนของเด็กมากขึ้น เข้าใจที่มาที่ไปของพฤติกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ การให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดและแสดงออก โดยฝึกให้เด็กได้ลองคิดลองทำจะเป็นการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้แก่เด็ก และให้ตระหนักเสมอว่าสิทธิการมีส่วนร่วมในการแสดงออกทั้งการกระทำและความคิดเป็นสิทธิอย่างเสรีแต่จะไม่ทำร้ายใคร ดังนั้น ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกต รับฟัง แนะนำและส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีหรือแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีด้วยวิธีที่เหมาะสมและถูกเวลา
 
 

ปั้น “นวัตกรน้อย” ผ่านกระบวนการเรียนรู้

STEAM4INNOVATOR เป็นอีกหนึ่งโปรแกรมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่เสริมสร้างกระบวนการคิดและเปิดพื้นที่ในการพัฒนาทั้งความรู้และทักษะให้กับเด็ก โดยมีเครื่องมือการเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กได้เปิดกว้างทางความคิดโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องที่สนใจ ได้สร้างสรรค์ไอเดียในสิ่งที่คิด ได้ลงมือทำ และนำเสนอความคิดเหล่านั้นออกมา สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านต่าง ๆ ของเด็กเพิ่มขึ้น เช่น ความคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการสื่อสาร เป็นต้น
 
NIA มีการจัดนิทรรศการฐานการเรียนรู้ (Learning Station) ทั้งในรูปแบบ Onsite และแบบ Online ที่เหมาะสำหรับเด็กประถมปลายเป็นต้นไป เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้แบบสร้างสรรค์ผ่านการเล่าเรื่องราวและกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กได้เกิดกระบวนการคิดและได้ลงมือทำจริงผ่านการเรียนรู้แบบ Learning by Doing เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้จากการกระทำของตนเอง ได้ลองผิดลองถูกเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ และช่วยสร้างความมั่นใจจากการลงมือทำที่จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในระยะยาว นอกจากนี้ STEAM4INNOVATOR ยังถูกนำไปปรับใช้ในการจัดทำโครงการอีกหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเด็กที่มีแตกต่างกันไป เช่น Founder Apprentice โครงการที่พัฒนาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมให้กลุ่มคนรุ่นใหม่, Thailand Innovation Awards โครงการประกวดให้เด็กระดับมัธยมปลาย/ปวช.เป็นต้นไป ได้มาพัฒนาผลงานในมุมมองด้านธุรกิจมากขึ้น
 
ถ้าน้อง ๆ หรือพ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดสนใจอยากศึกษาโปรแกรมการพัฒนาต่าง ๆ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ NIA Academy (https://academy.nia.or.th) หรือ Page Facebook : NIA Academy (https://www.facebook.com/NIAAcademyTH)
 
ข้อมูลอ้างอิง:
 
บทความโดย
วรางคณา ฐิติธนาวัฒนกุล (แพท)
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมนวัตกรรม