สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ส่องกระแสความเคลื่อนไหว 'สตาร์ทอัพเกษตรไทย' ปี 2022

21 สิงหาคม 2565 8,482

ส่องกระแสความเคลื่อนไหว 'สตาร์ทอัพเกษตรไทย 2022' โชว์ผลงานเด่นปิดดีลระดมทุนสูง
เติบโตสวนกระแสในยุคโควิด

 


ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรดังที่รู้จักคุ้นเคยกันดีว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เนื่องจากมีพื้นที่ทำการเกษตรสูงถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ อีกทั้งตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีความเหมาะสมในการทำเกษตรกรรม ทำให้ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรติดอันดับหนึ่งของโลกหลายรายการเมื่อปี พ.ศ. 2564 ได้แก่ ยางพารา ทุเรียน แป้งมันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง สัปปะรด และเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก ด้วยมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท ด้วยพละกำลังของเกษตรกรที่อยู่เบื้องหลังในการผลิตสินค้าเกษตร แต่ถึงแม้จะส่งออกได้มากจนติดอันดับโลกแต่เกษตรกรไทยก็ยังคงประสบกับปัญหาความยากจน รายได้ต่ำไม่คุ้มค่าการลงทุน เนื่องจากประสิทธิภาพการทำเกษตรต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด จึงเป็นปัญหาท้าทายที่รอแนวทางใหม่ๆ จากเหล่าสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับและสร้างคุณค่าใหม่ให้กับภาคเกษตรไทย

 

สตาร์ทอัพด้านการเกษตรโตสวนกระแสก้าวสู่ระดับ "ยูนิคอร์น" เพิ่มขึ้นทั่วโลก


จากรายงานการร่วมระดมทุนในสตาร์ทอัพเกษตรและอาหารทั่วโลกในปี พ.ศ. 2564 ของ AgFunder มีมูลค่าสูงถึง 51.7 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,500 พันล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการลงเงินกับอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีการเกษตร และความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับระบบการผลิตอาหารและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ได้รับการระดมทุนมากที่สุดหนึ่งในสามจะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่ให้บริการด้านการซื้อขายของสดออนไลน์ (E-Grocery) สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทั่วโลกต้องการซื้อขายแบบไร้สัมผัสผ่านระบบออนไลน์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตร เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้คนจำนวนมากตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึงมีรอบในการเก็บเกี่ยววัตถุดิบ ตลอดจนมีปัจจัยภายนอกอีกมากมายที่ยากต่อการควบคุม ทั้งฤดูกาล สภาพแวดล้อม คุณลักษณะและคุณสมบัติของพืช ดังนั้นสตาร์ทอัพที่ต้องการจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับความสามารถของเกษตรกรจึงจะต้องคิดนอกกรอบ ระเบิดปัญหาที่มีอยู่อย่างเรื้อรังบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการผนวกรวมความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่จะทำให้เกิดการนำไปใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์เกษตรกร และทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นร่วมสนับสนุนและระดมทุนกับสตาร์ทอัพเพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด

 

ตัวอย่างสตาร์ทอัพรายแรกที่ก้าวสู่ระดับ "ยูนิคอร์น"

อินดิโก้ (Indigo Ag) สตาร์ทอัพเกษตรจากเเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้จุลินทรีย์ในการเพิ่มผลผลิต ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง และมีการออกแบบให้เกิดความแม่นยำให้เหมาะสมกับเมล็ดพันธุ์ฝ้าย ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง และข้าว ซึ่งสามารถระดมทุนได้ถึง 156 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4,680 ล้านบาท ทำให้มีมูลค่ารวม 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 42,000 ล้านบาท เป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเกษตรรายแรกที่ก้าวสู่ระดับ "ยูนิคอร์น" ได้เมื่อปี พ.ศ. 2560

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จนมาถึงปัญหาสงครามระหว่างประเทศ ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และเกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรระดับยูนิคอร์นเพิ่มขึ้นอีก 3 ราย


โดยรายแรกนั้นได้แก่ โบวิรี่ (Bowery) สตาร์ทอัพจากเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งมั่นสร้างให้เกิดอาชีพใหม่ซึ่งเป็น “เกษตรกรปลูกพืชแนวตั้งในเขตเมือง” ด้วยการทำฟาร์มแนวตั้งที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ นำการวิเคราะห์ภาพถ่ายร่วมกับใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมโรงเรือนปลูกพืชที่เป็นระบบอัตโนมัติ ด้วยการเติบโตมากกว่าร้อยละ 75 นำผลิตภัณฑ์จากฟาร์มแนวตั้งไปจำหน่ายแล้วในร้านค้ามากกว่า 850 แห่ง ที่เป็นร้านค้าขนาดใหญ่อย่างวอลมาร์ทหรืออัลเบิร์ทซันส์ ทำให้เกิดการระดมทุนขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2564 จำนวน 472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 14,000 ล้านบาท มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 2,300 ล้านดอลลาร์ หรือ 69,000 ล้านบาท

ตามมาในระยะเวลาใกล้ๆ กัน อินารี่ (Inari) สตาร์ทอัพจากเมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ที่ใช้เทคโนโลยีการแก้ไขยีนในเมล็ดพันธ์ุ เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์พืชให้สามารถเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่แตกต่างกัน และมีการเพิ่มผลผลิต รวมถึงมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับเงินทุนเมื่อเดือนพฤษภาคมจำนวน 208 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6,200 ล้านบาท ทำให้มูลค่ารวมของบริษัทอยู่ที่ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 36,000 ล้านบาท

และสตาร์ทอัพรายสุดท้าย อินฟาร์ม (Infarm) สตาร์ทอัพจากเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ผู้ให้บริการนำตู้ปลูกพืชแนวตั้งในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สามารถจำหน่ายสินค้าผักและสมุนไพรให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง ได้รับเงินระดมทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6,000 ล้านบาทเมื่อช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2564 ทำให้มูลค่ารวมของบริษัทอยู่ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 30,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายแผนการขยายธุรกิจระหว่างประเทศในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และส่วนอื่นๆ ของยุโรป นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าที่จะขยายไปสู่ตลาดเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลางอีกด้วย

 

ส่องกระแสครึ่งปีแรก 2565 สตาร์ทอัพเกษตรไทยเติบโตไปอย่างไร

ขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับ 4 สตาร์ทอัพเกษตรไทยที่ได้รับการร่วมลงทุน สร้างความตื่นตัวให้กับวงการสตาร์ทอัพเกษตรของไทย จากที่สามารถแสดงความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนให้เห็นว่า ภาคการเกษตรก็สร้างเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์และเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด พร้อมทั้งขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศได้เช่นกัน

 

เริ่มต้นด้วย “ไบโอม” สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการระดมทุนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ด้วยผลงานวิจัยด้านเอนไซม์พิเศษ และชีววิทยาสังเคราะห์ ร่วมลงทุนกับ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผลิตภัณฑ์ชีวภาพด้วยนวัตกรรมสีเขียว และดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางอย่างยั่งยืน ในสัดส่วนร้อยละ 20 มูลค่า 83 ล้านบาท โดยเริ่มต้นขยายธุรกิจใน 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สารช่วยยืดอายุผักและผลไม้ โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติให้เก็บไว้ได้นานขึ้น 7-10 วัน และผลิตภัณฑ์เอนไซม์ล้างผักและผลไม้ ที่มีคุณสมบัติในการทำลายโครงสร้างทางเคมีของสารพิษฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักและผลไม้ ทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง และยังไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาในอุตสาหกรรมเกษตรกลางน้ำด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ต้องการเทคโนโลยีมาสนับสนุนอย่างสูงมาก

ส่วนอีกราย “เสโนเวท เอไอ” สตาร์ทอัพจากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นกัน ได้รับได้การลงทุนจากบริษัท RV Connex บริษัทผู้พัฒนาและผลิตอากาศยานไร้คนขับ (ยูเอวี) ด้วยมูลค่าการลงทุน 10 ล้านบาท ในการพัฒนาเทคโนโลยีติดตามความถี่หรือระยะเวลาของการเกิดพฤติกรรมการเป็นสัดในโคนม สู่ระบบการตรวจจับการเป็นสัดในโคนมที่แม่นยํามากขึ้น ที่ใช้ข้อมูลโคนมในเขตร้อนชื้น ทําให้เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อการใช้ในพื้นที่และภูมิภาค นําไปสู่การส่งเสริมการจัดการฟาร์มโคนมที่มีความแม่นยําสูงในระดับโครายตัว จนถึงในระดับพื้นที่ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งฟาร์มโคนมขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานสูง ต้นทุนต่ำ และสามารถรับรู้ประโยชน์ในการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เฟรชเก็ต” แพลตฟอร์มเทคโนโลยีจำหน่ายวัตถุดิบอาหารออนไลน์ให้กับร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงลูกค้าทั่วไป ที่รวบรวมวัตถุดิบทั้งของสดของแห้ง เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ และของใช้สำหรับร้านอาหาร ด้วยการคัดเลือกสินค้าเกษตรจากเกษตรกรที่มีคุณภาพ ตามจำนวนยอดการสั่งซื้อ เชื่อมต่อกับระบบซัพพลายเชนตั้งแต่รับยอดการสั่งซื้อ ที่เก็บสต็อค และระบบขนส่ง โดยให้ประมาณสั่งของที่พอเหมาะกับคำสั่งซื้อ ที่จะทำให้ราคาสินค้าเหมือนเลือกซื้อในตลาด และส่งของได้ตรงตามเวลานัดหมาย ทำให้สร้างยอดการสั่งวัตถุดิบผ่านแพลตฟอร์มอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน เติบโตมากกว่า 3 เท่า จึงทำให้เกิดการระดมทุนในรอบซีรีส์ B จำนวน 800 ล้านบาท เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 จากบริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ลงทุนมูลค่า 500 ล้านบาท ร่วมด้วย บริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด, โอเพ่นสเปซ เวนเจอร์, และอีก 2 กองทุนชั้นนำ โวลต้า เซอร์เคิล และ ออร์ซอน เวนเจอร์ส เพื่อนำพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีการจัดการสินค้าที่มีการคาดการณ์ได้ตรงตามความต้องการและขยายการบริการไปยังต่างจังหวัดให้มากขึ้น

สตาร์ทอัพอีกรายที่ก้าวมาติดๆ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 “รีคัลท์” ปิดรอบระดมทุนซี่รี่ย์ A ส่งผลให้มีมูลค่าธุรกิจ 1,000 ล้านบาท โดยกองทุน Asia Impact Investment Fund ของธนาคาร UOB จากประเทศสิงคโปร์ และธนาคาร Credit Suisse จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นกองทุนระดับโลกที่ลงทุนในธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมและสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กัน ในปัจจุบันมีเกษตรกรใช้งานในระบบกว่า 8 แสนราย ในพื้นที่มากกว่า 10 ล้านไร่ ในการนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาประมวมผลจาก AI และ Machine Learning ช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลในการตัดสินใจ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเพาะปลูก โดยมีการเชื่อมต่อกับโรงงานแปรรูปเพื่อวางแผนการรับซื้อผลผลิต การช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเครือข่ายเกษตรกร ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% ต่อครัวเรือน และมีการขยายธุรกิจไปประเทศเวียดนามและปากีสถานแล้ว

นอกจากนี้คาดว่ายังมีสตาร์ทอัพเกษตรอีกหลายรายที่ได้รับการระดมทุน แต่ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบในวงกว้างเนื่องจากอาจจะเป็นการได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนอิสระ หรือในลักษณะความร่วมมือในการลงทุนขยายการผลิต อีกทั้งการได้รับเงินทุนจากแหล่งรัฐบาล รวมถึงการได้เงินลงทุนมาจากครอบครัว (family) เพื่อน (friends) และ คนที่เชื่อมั่นในคุณค่า (fools) ซึ่งเมื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้จริงและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้แล้ว ทุกภาคส่วนก็จะเริ่มเข้ามาร่วมกันสนับสนุน เพราะประเทศไทยมีพื้นฐานภาคเกษตรเป็นทุนเดิม มีพื้นที่การทดสอบอยู่มากมาย ดังนั้นจะยิ่งทำให้ดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้อย่างแน่นอน

 

ระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรของประเทศไทย

ปัจจุบันการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันระบบนิเวศสตาร์ทอัพการเกษตรที่เอื้อต่อการเติบโต ผ่านการเชื่อมโยงและประสานให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้งนักวิจัย หน่วยงานวิจัย หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน เพื่อร่วมสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันผ่านกิจกรรมการบ่มเพาะและเร่งสร้างสตาร์ทอัพเกษตร และขยายการใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการเข้าร่วมลงทุนเพื่อขยายธุรกิจของสตาร์ทอัพเกษตรให้เติบโตทั้งในและต่างประเทศ

ดังเช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ในปี พ.ศ. 2565 เร่งผลักดันสตาร์ทอัพเกษตรให้สามารถนำเทคโนโลยีเชิงลึกจากงานวิจัยมาพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มจากพัฒนาทักษะและความรู้การสร้างนวัตกรรมการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AgTech AI สำหรับเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเกษตรรายใหม่นำแนวคิดมาสร้างสรรค์กับเทคโนโลยี AI ให้เกิดเป็นรูปแบบธุรกิจ พร้อมด้วยโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Inno4Farmers ในการต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจ พร้อมทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียนรู้และเข้าใจโจทย์ของภาคการเกษตรได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถนำไปต่อยอดความร่วมมือสู่การขยายธุรกิจได้จริง รวมถึงโครงการ AgTech Connext ที่เชื่อมต่อสตาร์ทอัพให้ขยายสู่ตลาดกับกลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้งานได้มากขึ้น โดยจะส่งผลให้มีสตาร์ทอัพเกษตรในระบบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายหน่วยงานที่มาร่วมสนับสนุนเร่งสร้างการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพเกษตร แหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาให้กับภาครัฐและภาคเอกชนของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. การสร้างย่านนวัตกรรมเกษตรแม่โจ้ให้เป็น “วัลเลย์นวัตกรรมการเกษตรของไทย” การรวมกลุ่มของสตาร์ทอัพเกษตร เกิดเป็นสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย (Thai AgTech Startup Association; TASA) หรือ “ทาซ่า” และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. จัดตั้งวงเงินร่วมลงทุนมูลค่า 600 ล้านบาทขึ้น เพื่อสนับสนุนด้านการเงินในลักษณะการร่วมลงทุนให้กับสตาร์ทอัพเกษตร

ทั้งนี้ ได้รวบรวมข้อมูลธุรกิจสตาร์ทอัพเกษตร จำนวน 59 ราย สามารถแบ่งเป็นระยะเริ่มต้น (Pre-seed) ร้อยละ 30.5 ระยะทดสอบไอเดีย (Seed State) ร้อยละ 47.5 และระยะเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth) ร้อยละ 22.0 โดยส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nia.or.th/bookshelf/view/228

จากแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรของไทยจะมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ดีขึ้น สตาร์ทอัพมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบนิเวศคือ “ผู้ใช้หรือเกษตรกร” ซึ่งเรากลับพบว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของผู้ใช้ยังเป็นจุดที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยต้องเร่งผลักดันให้เกิดการเข้าถึงและใช้งานกันอย่างแพร่หลายให้มากขึ้น โดยอาจจะเสนอโจทย์ความต้องการให้กับสตาร์ทอัพที่จะนำมาคิดต่อยอดรูปแบบธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว รวมถึงการออกแบบมาตรการเพิ่มเติมของภาครัฐที่จะเป็นกลไกในการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรของประเทศ

ข้อมูลอ้างอิง

  1. https://agfundernews.com/agfunder-agrifoodtech-investment-report-startups-net-52bn-in-2021-doubling-2020-total
  2. https://www.failory.com/startups/agriculture-unicorns#toc-10-agriculture-unicorns-companies 
  3. https://www.indigoag.com/ 
  4. https://techcrunch.com/2021/05/25/indoor-farming-company-bowery-raises-300m/
  5. https://www.builtinboston.com/2021/05/13/inari-raises-208m
  6. https://www.posttoday.com/finance-stock/stock/680180
  7. บริษัท เสโนเวท เอไอ จำกัด Start Up จากจุฬาฯ ได้บริษัทเอกชนร่วมลงทุน 10 ล้าน พัฒนาสู่ผู้นำเทคโนโลยี DEEP Tech AI ในอุตสาหกรรมโคนม
  8. https://www.longtunman.com/38357 
  9. https://techsauce.co/news/ricult-funding-series-a 

บทความโดย
มณฑา ไก่หิรัญ (นก)
ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)