สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
NIA จับมือภาคีเครือข่าย 11 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือ AgTech Connext สนับสนุนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทยเสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตร นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน (AgTech Connext) เพื่อสานต่อที่ได้ทำงานมาแล้วให้เกิดความต่อเนื่องและสร้างเครือข่ายใหม่เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA ได้กล่าวว่า “ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ ภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” จึงมุ่งพัฒนาและเร่งสร้างสตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตรและระบบนิเวศที่เหมาะสม โดยได้ริเริ่ม “โครงการ AgTech Connext ขึ้นตั้งแต่ปี 2564 ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างสะพานเชื่อมให้กลุ่มสตาร์ทอัพด้านพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตรและกลุ่มเกษตรกรเกิดการจับคู่ทดสอบการใช้งานจริงร่วมกัน ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นพื้นที่ทดสอบและต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศไทย ตลอดจนสร้างเป็น “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือโครงการ AgTech Connext” จำนวน 11 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานพัฒนาและสนับสนุนสตาร์ทอัพ 1. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 2. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หน่วยงานเชื่อมโยงเกษตรกรภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 3. กรมส่งเสริมการเกษตร 4. กรมการข้าว 5. กรมประมง 6. กรมปศุสัตว์ 7. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 8. สภาเกษตรกรแห่งชาติ หน่วยงานสนับสนุนด้านเงินทุน 9. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 10. บริษัท อินโนสเปรซ (ประเทศไทย) จำกัด หน่วยงานเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 11. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”
ด้าน นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปัจจบันการเกษตรได้มีนโยบายชัดเจนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์ภาคการเกษตรมากขึ้น ดังนั้นโครงการ AgTech Connext เป็นการนำคนสองกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ สตาร์ทอัพด้านการเกษตร ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาตอบโจทย์การเกษตร ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงของการเกษตร และเกษตรกร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านทำการเกษตร พร้อมที่จะเปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้ปัญหาเดิมๆ ดังนั้นการร่วมสนับสนุน AgTech Connext ให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทยให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรไทยได้มีการทำการเกษตรที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุน และเพิ่มช่องทางการตลาด ที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีได้เพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย”
อีกทั้งผู้แทนจากภาคเอกชนที่พร้อมร่วมมือเพื่อเปลี่ยนการเกษตรของไทยให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ โดยการให้สตาร์ทอัพได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่สนามจริง ให้เกิดการแพร่ขยายไปให้กับพี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบการเกษตร โดยคุณธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร จึงได้กล่าวสนับสนุนว่า “ทางสภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมช่วยสนับสนุนเชื่อมโยงไปยังภาคธุรกิจเกษตร อย่างกลุ่มอุตสาหกรรมข้าว น้ำตาล สัตว์น้ำ ปาล์ม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแพร่ขยายใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีด้าน Deep Tech ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้สตาร์ทอัพเอง และแก้ปัญหาด้านการเกษตรที่มีอยู่อย่างซับซ้อน ทำให้สตาร์ทอัพเกษตรไทยเติบโตขึ้น มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรไทยก็มีแนวทางใหม่ๆ ในการทำการเกษตร ที่จะทำให้เกิดการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”
ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA รวมทั้งคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากทั้ง 11 หน่วยงานภาคีเครือข่าย สตาร์ทอัพด้านการเกษตร เกษตรกร สื่อมวลชน และผู้ประกอบการ เข้าร่วมงาน
AgTech Connext สร้างสะพานเชื่อมสร้างความร่วมมือ เป็นภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไปสู่เกษตรกร...นำไปสู่การพลิกโฉมภาคการเกษตร (AgricultureTransformation) ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
#NIA #Innovation #AgTechConnext #MOU #AgTechStartup #AgricultureTransformation #SmartFarmer #สตาร์ทอัพเกษตร #นวัตกรรมเกษตร #เกษตรกร