สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร” แนวโน้มการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต…พลิกโฉมการเกษตร

23 ตุลาคม 2566 3,481

“เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร” แนวโน้มการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต…พลิกโฉมการเกษตร

จากรายงานการลงทุนทั่วโลกด้านสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเกษตรและอาหารในปี 2565 ของ AgFunder ที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 888 พันล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 44 เมื่อเปรียบเทียบในปี 2564 สอดคล้องกับตลาดร่วมลงทุนทั่วโลกที่ลดลงเช่นเดียวกันในสตาร์ทอัพสาขาอื่นๆ อย่างไรก็ตามสำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร หรือ AgBioTech กลับสวนทาง โดยมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.5 จาก 75.3 พันล้านบาทในปี 2564 เป็น 81.9 พันล้านบาท นั่นเป็นเพราะเทคโนโลยีชีวภาพมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตในฟาร์มสำหรับการเพาะปลูกในฟาร์ม ปศุสัตว์ และประมง ยังรวมไปถึงการปรับปรุงทางพันธุกรรม การป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั้งพืชและสัตว์ รวมไปถึงการลดการใช้สารเคมีที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ ที่ส่งผลให้การทำการเกษตรมีประสิทธิภาพและผลผลิตเพิ่มมาขึ้นได้ สอดรับการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านอาหารของโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

การลงทุนในเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก

ในกลุ่มประเทศอเมริกาและเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการระดมทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางเกษตรมากที่สุดในปี 2565 โดยแต่ละภูมิภาคสามารถระดมทุนได้ 39 พันล้านบาท โดยในกลุ่มของของยุโรป ระดมทุนได้ประมาณครึ่งหนึ่งของอเมริกา ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 16 พันล้านบาท และสตาร์ทอัพในกลุ่มโอเชียเนีย หมายถึงกลุ่มประเทศและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทวีปออสเตรเลีย ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ระดมทุนได้เพียง 570 ล้านบาท สตาร์ทอัพที่ได้รับการลงทุนขนาดใหญ่อยู่ทวีปอเมริกาเหนือ จีน และอินเดีย

3 อันดับสูงสุดของ AgBioTech Startup ที่ได้รับเงินระดมทุน

อันดับหนึ่งได้แก่ สตาร์ทอัพเกษตรของจีนที่ชื่อ Zhongxin Breeding ได้รับการระดมทุนสูงถึง 9.8 พันล้านบาท ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น โดยใช้การคัดเลือกจีโนมเพื่อปรับปรุงพ่อพันธุ์สุกร ให้เหมาะสมในการรักษาคุณภาพของเนื้อหมู ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนสี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของประเทศที่ต้องการพึ่งพาการผลิตอาหารด้วยตนเอง ที่มีอุตสาหกรรมผลิตสุกรขนาดใหญ่ ซึ่งมีการบริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยต่อสูงสุดในโลกและส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก

อันดับสอง DNA Script เป็นสตาร์ทอัพของประเทศฝรั่งเศส ด้วยมูลค่าการระดมทุน 6 พันล้านบาท ในการพัฒนาเทคโนโลยีการสังเคราะห์ดีเอ็นเอด้วยเอนไซม์ ซึ่งจะช่วยเร่งการค้นพบทางพันธุศาสตร์ จีโนมิกส์ และชีววิทยาสังเคราะห์ ของการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ได้รวดเร็วขึ้น

อันดับสาม ได้แก่ Inari สตาร์ทอัพเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้รับเงินระดมทุน 3.7 พันล้านบาท ใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์แก้ไขยีนในการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต ลดการใช้น้ำและปุ๋ย

 

จากแนวโน้มการลงทุนในเทคโนโลยีชีวภาพทางเกษตร จะเห็นว่าส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปในด้านการพัฒนาทางพันธุกรรมพืชและสัตว์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่มากขึ้น และการพัฒนาปัจจัยการผลิตให้มีการทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารของโลก ซึ่งสิ่งสำคัญเบื้องหลังสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ จะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกผ่านงานวิจัยและพัฒนามาในระยะเวลานาน และมีรายงานผลการวิจัยที่รองรับที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อแสดงผลการใช้งานสามารถทำได้จริง ซึ่งแนวทางการพัฒนาผ่านเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่ได้รับเงินระดมทุนสูงนั้น ยังขึ้นอยู่กับกฎหมายและกฎระเบียบของการยอมรับในแต่ละประเทศ รวมไปถึงนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจนผนวกรวมไปด้วย

 

การพัฒนา AgBioTech Startup รายใหม่ในประเทศไทย

ในปัจจุบันระบบสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของไทยยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังต้องการการพัฒนาทั้งทางด้านเทคโนโลยีและกลยุทธ์ในการดำเนินกิจการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเติบโตต่อไปได้ ในการนี้จึงได้มุ่งเน้นส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรเทคโนโลยีเชิงลึกให้เพิ่มทั้งจำนวนและมีคุณภาพ ให้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาอันซับซ้อนทางการเกษตรได้อย่างหลากหลาย และสามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันได้

 

ในปี 2566 ได้มุ่งเน้นไปที่สตาร์ทอัพเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (AgBioTech Startups) เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในส่วนทรัพยากรพื้นฐานเนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจัดอันดับเป็นที่ 8 ของโลก และอันดับ 3 ของอาเซียน รวมถึงทรัพยากรบุคคลและโครงสร้างพื้นฐาน มีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มากกว่า 900 ท่าน และมีผลงานวิจัยและพัฒนาในระยะ 5 ปี มากกว่า 2,500 ผลงาน ที่ต้องสร้างสรรค์ให้เกิดการต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรต่อไป

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรทั้งย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ สถาบันนวัตกรรมเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ หรือ SynBio Consortium ริเริ่มการดำเนินโครงการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในระยะเริ่มต้นธุรกิจ หรือ AgBioTech Incubation 2023 ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่

1) กิจกรรมพัฒนาที่ปรึกษาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร หรือ Train the Trainer to be AgBioTech Advisors โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพอาจารย์ นักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสร้างแนวคิดและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และเข้าใจในการดําเนินการพัฒนาบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรให้กับอาจารย์ 42 ท่านจาก 15 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

 

2) กิจกรรมพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (AgBioTech Incubation) โดยมุ่งเน้นการบ่มเพาะผ่านกิจกรรมฝึกอบรม ซึ่งประกอบด้วยภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การให้คำปรึกษาเชิงลึก และการเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษา นักวิจัยภาครัฐ หรือศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยมี 10 ทีมสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกมานำเสนอรูปแบบธุรกิจของผลิตภัณฑ์และบริการ

 

3) กิจกรรมสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (Ecosystem Builder) ประสานงานและเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และนักลงทุน ในการร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพ

 

สตาร์ทอัพด้านการเกษตร 10 ทีม ที่เข้าร่วมบ่มเพาะในโครงการ AgBioTech Incubation 2023 ประกอบไปด้วย

กลุ่มที่ 1 Input by Crops ปัจจัยการผลิตพืชผลจะมีผลอย่างมากกับการเพาะปลูกพืช ไม่ว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง มีสตาร์ทอัพทั้ง 4 ราย มุ่งเน้นการแก้ปัญหาทางการเกษตรทดแทนการใช้สารเคมี ได้แก่

1. Bio Solution : ควบคุมศัตรูพืชด้วยศัตรูธรรมชาติ

2. Happy Plant : ไมคอร์ไรซ่าที่มีความบริสุทธิ์สูงจากระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มอัตราการรอดเมื่อปลูกลงดิน

3. MYCO GARDEN HOME : สารเสริมการเติบโตในพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงและไม้ดอกไม้ประดับ จากอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่า

4. Pure Plus : หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยลำแสงไอออนพลังงานต่ำเพื่อยับยั้งและป้องกันเชื้อโรคเหี่ยวเน่าในพืชเศรษฐกิจ

 

กลุ่มที่ 2 Input by Animal Agriculture ปัจจัยการผลิต เช่น อาหารสัตว์ วัคซีน ยารักษาโรค สารส่งเสริมสุขภาพ โดยสตาร์ทอัพทั้งสองรายมุ่งเน้นในกลุ่มของการแก้ไขปัญหาการเกิดโรคในการเพาะเลี้ยงกุ้งเป็นหลัก ที่ได้แก่

5. MaxBoost : สารป้องกันเชื้อวิบริโอและเชื้อไวรัสหัวเหลืองจากกลุ่มแอนไทเซนส์เสถียร

6. Sentech Plus : สารชีวภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อแบบองค์รวมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจาก Bacteriophages

 

กลุ่มที่ 3 Diagnostic ชุดตรวจสอบและทดสอบต่างๆ เพื่อให้ทราบการเกิดของโรค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้างให้เกิดขึ้นได้ จะดีกว่าไหมที่เกษตรจะรู้และคาดการณ์ ป้องกันไว้ก่อน ก่อนที่จะไม่ต้องเสียทั้งเงินและเวลา สตาร์ทอัพจึงเสนอโซลูชั่นนี้

7. Gen- A-Tech : ระบบตรวจสอบเพศของพืชและลักษณะพิเศษด้านการเกษตรด้วย DNA Maker

 

กลุ่มอื่นๆ

  • แก้ปัญหาเพาะเลี้ยงเห็ด การทำก้อนเห็ดแล้วมีสิ่งปนเปื้อน ใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาแก้ปัญหานี้

8. So Mush : การผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์แบบน้ำ

การทำให้ผักและผลไม้เก็บอายุได้งานขึ้น และส่งออกไปต่างประเทศได้ไกล เทคโนโลยีชีวภาพจะไปแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร โดยโซลูชั่นของ

9. EverFresh : ผลิตภัณฑ์ไบโอโมเลกุลเปปไทด์สำหรับยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าเกษตร

การปลูกพืชที่ต้องการสารสำคัญที่ต้องใช้เวลาและไม่ทราบว่ามีคุณภาพและปริมาณอย่างไร มาหาคำตอบกับคำตอบนี้กับผลิตภัณฑ์และบริการของ

10. PLANTBIO : การผลิตสารสำคัญเชิงหน้าที่เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช

 

โดยจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพแก้ไขปัญหาการเกษตรในกิจกรรม Demo Day ในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 นี้!! เพื่อเป็นเวทีโชว์ศักยภาพจากการผ่านกระบวนการบ่มเพาะแบบเข้มข้น ทั้งกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งทั้ง 10 ทีมมีเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชั่นที่โดดเด่น และสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับภาคการเกษตรได้อย่างแท้จริง ที่เป็นความหวังของภาคการเกษตรไทย ให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรของประเทศให้เติบโตต่อไป

หากท่านใดมีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม
  • [On-site] ณ ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ Link: https://shorturl.asia/FzoM9 
  • [Online] Facebook live : NIA & MAID

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

บทความโดย
มณฑา ไก่หิรัญ (นก)
ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)