สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร...กุญแจสำคัญสู่การพลิกโฉมภาคเกษตรอย่างยั่งยืน

16 พฤษภาคม 2566 50,001

มาร่วมหาคำตอบว่า เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร หรือ AgBioTech สร้างความหวังใหม่ให้เกษตรกรได้อย่างไร

 

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร หรือ Agricultural BioTechnology ที่ใช้ตัวย่อว่า “AgBioTech” เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรทั้งทางด้านพืช สัตว์ และ จุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรภายในฟาร์ม เช่น การสร้างพันธุ์พืชใหม่ให้มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้น การพัฒนาท่อนพันธุ์พืชที่ปราศจากโรคเพื่อการลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีลักษณะที่ดี การขยายพันธุ์โคนมที่ให้น้ำนมสูงโดยการปฏิสนธิในหลอดแก้วและการย้ายฝากตัวอ่อน การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคในกุ้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การใช้เชื้อจุลินทรีย์มาใช้สำหรับการกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นต้น

 

จะเห็นว่า AgBioTech สามารถนำไปใช้งานแก้ปัญหาในภาคเกษตรได้อย่างหลากหลาย โดยที่เกษตรกรน่าจะคุ้นเคยการใช้งานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือการทำสารชีวภัณฑ์ต่างๆ เพื่อการใช้งาน โดยที่ในช่วงที่ผ่านมามีผลงานวิจัยและพัฒนา ทำให้มีการเพิ่มเทคนิคของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปแก้ปัญหาในภาคการเกษตรได้มากขึ้น อย่างเช่น จากปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน ที่ต้องเผชิญการเพาะปลูกทั้งภาวะแห้งแล้งหรือน้ำท่วม โรคระบาดใหม่ที่เกิดขึ้น แร่ธาตุอาหารในดินลดลง รวมไปถึงความต้องการผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

จากความต้องการแก้ปัญหาการเกษตรดังกล่าว รวมถึงการตอบสนองความต้องการของการบริโภคอาหารจากการเพิ่มของจำนวนประชากร ซึ่งธนาคารโลกคาดว่า ในปี 2565 จะสูงถึง 8.24 พันล้านคน ด้วยพื้นที่การทำเกษตรลดลงจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลักดันการเติบโตของตลาด AgBioTech ทั้งนี้ Technavio ได้ประมาณการเติบโตของธุรกิจระหว่างปี 2022 – 2025 มีมูลค่าสูงถึง 891 พันล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากและเป็นที่ต้องการของหลายประเทศทั่วโลก

 

มูลค่าการระดมทุนของ AgBioTech Startup กับโอกาสและความท้าทายของไทย

จากรายงานผลการศึกษาของ Hello Tomorrow (Deep Tech: The Great Wave of Innovation) พบว่าเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์เป็นสาขาเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงที่มีการเติบโตและดึงดูดนักลงทุนได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ และ สตาร์ทอัพเกษตรระดับยูนิคอร์น ระหว่างในปี 2021 – 2022 พบว่าเป็น AgBioTech Startup จำนวน 3 ราย จากทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ 1) อินอาริ ใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต ลดการใช้น้ำและปุ๋ย 2) พิวอทไบโอ พัฒนาปุ๋ยจุลินทรีย์จากการดักจับไนโตรเจนจากบรรยากาศ ทำให้ลดความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยปิโตรเคมี ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการทำฟาร์ม และ 3) อินสคริปต้า พัฒนาเทคโนโลยีการตัดต่อยีนจากข้อมูลของจีโนมจำนวนมาก ทำให้สามารถออกแบบ สร้างวิศวกรรม ประเมิน และติดตามผลลัพธ์ได้รวดเร็วและต้นทุนต่ำ

 

โดยในปี 2022 ข้อมูลจาก AgFunder พบว่า มูลค่าการระดมทุนของ AgBioTech ทั่วโลก มีมูลค่า 79 พันล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีมูลค่าการลงทุนในด้านเกษตรสูงเป็นอันดับ 2 มีความใกล้เคียงกับอันดับหนึ่งอย่าง Novel Farming แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการได้รับการลงทุนของไทย มีมูลค่าเพียง 90 ล้านบาทหรือ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.10 เท่านั้น

 

ทำให้ AgBioTech โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึกยังมีโอกาสการเติบโตได้อีกมาก และมีปัจจัยสนับสนุนเกื้อหนุนที่เป็นโอกาสและความท้าทายของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงในอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 3 ของอาเซียน รวมถึงมีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มากกว่า 900 ท่าน และมีผลงานวิจัยและพัฒนาในระยะ 5 ปี มากกว่า 2,500 ผลงาน ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงมาก

 

กลุ่มประเภทของ AgBioTech พร้อมตัวอย่างสตาร์ทอัพ

ต่อไปเรามาดูการแบ่งประเภทของ AgBioTech ในกล่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและแนวทางการพัฒนาในประเทศไทย ได้แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มดังนี้

AgBioTech Categories

กลุ่มที่ 1 Input by Crops ปัจจัยการผลิตพืชผลจะมีผลอย่างมากกับการเพาะปลูกพืช ไม่ว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง ที่จะไปแย่งสารอาหารจากพืช ผลการค้นคว้าวิจัยเพื่อเข้าใจโรคของพืช เพื่อหาสาเหตุที่ตรงจุด โดยใช้สารชีวภัณฑ์ ที่จะเกิดความแม่นยำที่ตรงจุด จากเข้าใจธรรมชาติ ป้องกันและทำลายโดยธรรมชาติ รวมไปถึงความต้องการของทุกคนที่ต้องการ ผัก ผลไม้ ที่มีความปลอดภัย ปราศจากสารเคมี ดังนั้นสารชีวภาพ ต่างๆ ที่มาใช้กับพืชจึงมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างสูงมาก

 

ขอแนะนำ ไบโอม สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ Spin off มากจาก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ “อลิซ – จุลินทรีย์คึกคักล้างสารพิษตกค้างในดินและเพิ่มผลผลิต” เป็นการคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ในธรรมชาติที่ให้สามารถการย่อยสลายสารพิษตกค้างในดิน ช่วยละลายแร่ธาตุอาหารในดิน ปรับโครงสร้างของดิน ทำให้ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มผลผลิตของพืช และสิ่งแวดล้อมปลอดภัย

 

กลุ่มที่ 2 Input by Animal Agriculture ปัจจัยการผลิต เช่น อาหารสัตว์ วัคซีน ยารักษาโรค สารส่งเสริมสุขภาพยังมีความจำเป็นในการเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดการฟาร์มปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

สตาร์ทอัพไทยอีกรายที่ไทยที่ Spin off มากจาก คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ ยูนิฟาส์ท ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สารเสริมชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตโดยลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดในฟาร์มสัตว์ปีก โดยประสบความสำเร็จในจากโรคท้องร่วงในไก่ และกำลังพัฒนาขยายในกลุ่มอื่นๆ ตามมา เช่น โรคท้องร่วง โรคในสัตว์น้ำ

 

กลุ่มที่ 3 Diagnostic ชุดตรวจสอบและทดสอบต่างๆ เพื่อให้ทราบการเกิดของโรค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้างให้เกิดขึ้นได้

จากผลงานวิจัยได้ต่อยอดสู่ พีบีดี ไอโอเทค ของประเทศอังกฤษ ได้พัฒนาชุดตรวจสอบสำหรับวัณโรค ที่บอกว่ามีความรวดเร็วและละเอียดมากที่สุดเป็นครั้งแรกของโลก

 

กลุ่ม 4 Breeding / Gene Editing การปรับปรุงพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ ให้มีลักษณะพิเศษตามต้องการและสร้างความแตกต่าง หรืออีกวิธี Gene Editing ที่มีความแม่นยำมากขึ้น ในการแทรก แก้ไข หรือลบ DNA ที่มีประสิทธิภาพใช้เวลาและต้นทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อีกเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ที่ไม่ใช่ GMO อย่าง อิพิครอป เทคโนโลยี ใช้ epigenetics เพื่อปรับปรุงผลผลิต ความทนทานต่อความเครียด และความแข็งแรงของพืชผลหลายชนิด

 

กลุ่ม 5 Data Driven Biology ในโลกของเทคโนโลยีชีวภาพ มีข้อมูลพื้นฐานอยู่มากมาย ในการนำข้อมูลจำนวนมากผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะช่วยสร้างประโยชน์ในวงการเกษตรกรรม และเกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ได้

การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เป็นเหมือนแหล่งน้ำมันแห่งใหม่ Breedit สตาร์ทอัพอิสราเอล ได้ให้บริการซอฟต์แวร์ที่ช่วยนักปรับปรุงพันธุ์พืชในการจัดการ การวิเคราะห์ข้อมูล และการคัดเลือกพันธุ์ผสมที่มีคุณสมบัติตามต้องการอย่างรวดเร็ว

 

กลุ่ม 6 Others ยังมีอีกหลากหลายเทคโนโลยีชีวภาพที่จะมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาด้านการเกษตร

 

 

ปั้น AgBioTech Startups รายใหม่เข้าสู่ระบบนิเวศสู่การเติบโต

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นกุญแจสำคัญในการพลิกโฉมในภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ที่ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันได้ ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรทั้งย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ สถาบันนวัตกรรมเกษตรเพื่ออุตสหากรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ จึงร่วมดำเนินงาน โครงการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในระยะเริ่มต้นธุรกิจ หรือ AgBioTech Incubation 2023 ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อพัฒนาให้นักศึกษา นักวิจัย และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ที่มีทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ให้มีความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาภาคการเกษตรของประเทศ โดยอาศัยกระบวนการบ่มเพาะแบบเข้มข้นผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีการจัดสรรพื้นที่ในการเรียนรู้และทำงานจริง ร่วมกับเครือข่ายและนักลงทุน เพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรใช้เทคโนโลยีชีวภาพให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

โดยขณะนี้ได้เปิดรับสมัครทีมสตาร์ทอัพ ที่สามารถรวมทีมกันมา 3-5 คน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ป.ตรี โท เอก นักวิจัย สตาร์ทอัพ หรือผู้ประกอบการ SME ที่จะต้องการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นสตาร์ทอัพ ที่มีแนวทางในการนำ AgBioTech มาสร้างธุรกิจในรูปแบบสตาร์ทอัพ โดยในทีมต้องมีอย่างน้อย 1 คนที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AgBioTech ส่งรายละเอียดผู้สมัคร และ Pitch Desk เพื่อเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ - 16 มิถุนายน 2566 ผ่าน http://agbiotech.nia.or.th  โดยทีมสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือก จะได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและต้นแบบสินค้าหรือบริการให้พร้อมนำออกสู่ตลาดและสามารถขยายผลธุรกิจได้อย่างเติบโต 

 

ถ้าคุณมีฝันที่ยิ่งใหญ่ในการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาให้ภาคเกษตร...มาร่วมเป็น AgBioTech Startups ให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรของประเทศให้เติบโตไปด้วยกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

บทความโดย
มณฑา ไก่หิรัญ (นก)
ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)