สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
“เนเธอร์แลนด์” แดนกังหันลม ประเทศเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงคนทั้งโลกด้วยเกษตรกรรม
“เนเธอร์แลนด์” แดนกังหันลม ประเทศเล็กๆ ที่สามารถหล่อเลี้ยงคนทั้งโลกด้วยเกษตรกรรม
ทุ่งหญ้าอันสวยสดงดงาม กังหันลมสูงเด่นเป็นสง่า ทุ่งดอกไม้สารพัดสี ภาพเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่หลายๆ คนคงคิดถึงเมื่อพูดถึงเนเธอร์แลนด์ แต่ภายใต้ความงดงามทางธรรมชาติของประเทศเล็กๆ ที่มีขนาดพื้นที่เพียง 41,526 ตารางกิโลเมตร ทุกคนทราบไหมว่า เนเธอร์แลนด์กลับเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกเลยนะ เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น เนเธอร์แลนด์ก่อร่างสร้างประเทศให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรได้อย่างไร วันนี้ NIA จะเล่าให้ฟัง
ทวงคืนแผ่นดินด้วย “ระบบชลประทาน” ฟื้นรากฐานที่สำคัญของประเทศ
กว่าเนเธอร์แลนด์จะเดินมาถึงในจุดนี้ได้ ผ่านการล้มลุกคลุกคลานมาอย่างยาวนาน เพราะแค่ชื่อประเทศเนเธอร์แลนด์ ยังแปลว่า “ดินแดนแผ่นดินต่ำ” เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นน้ำทะเลมาก่อน ลักษณะประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม กว่า 20 เปอร์เซ็นต์อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และอีก 50 เปอร์เซ็นต์สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตรเท่านั้น ทำให้เจอปัญหาด้านอุทกภัยมาโดยตลอด เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง คนในพื้นนี้จึงต้องอยู่กันอย่างยากลำบาก ทั้งในแง่การใช้ชีวิต การทำเกษตรกรรม และในอีกหลายๆ ด้าน
เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและให้ประชาชนมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกและทำการเกษตรเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแล้ว ประเทศเนเธอร์แลนด์จึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในเชิงกายภาพให้พร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับแผนการจัดการน้ำ เช่น การสร้างเขื่อน ทางระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมากทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนากังหันลมแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการระบายน้ำ และใช้ในการเพาะปลูกตลอดจนการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คน จนกลายเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศที่คนทั่วโลกจดจำได้
จนกระทั่งในปี ค.ศ.1953 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 2,000 คน ทำให้
มีการฟื้นฟูระบบชลประทานครั้งใหญ่อีกครั้งในโครงการ “Delta Works” เป็นการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมด้วยงบประมาณกว่า 2.4 แสนล้านบาทจากรัฐบาล ส่งผลให้ประเทศมีระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีแหล่งน้ำใช้อย่างเพียงพอ วางแผนการเพาะปลูกได้ตามต้องการ ทำให้ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์สามารถทวงคืนพื้นที่กว่า 54.11% ที่เคยมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมให้กลายเป็นพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน จนกลายเป็นอาชีพหลักของคนในประเทศ
เนรมิตแดนเกษตรของโลกด้วยการศึกษาและการส่งเสริมด้านนวัตกรรม
น้ำพร้อม พื้นที่พร้อม คนก็ต้องพร้อมด้วย! นอกจากประเทศเนเธอร์แลนด์จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่และระบบชลประทานแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีองค์ความรู้ โดยเฉพาะด้านพฤกษศาสตร์ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประเทศมีความโดดเด่นด้านเกษตรกรรม
จุดเริ่มต้นมาจากเมืองไลเดิน (Leiden) ได้ทำการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ.1575 ในชื่อมหาวิทยาลัยไลเดิน (Universiteit Leiden) ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีสวนพฤกษศาสตร์สมัยใหม่แห่งแรกของโลกและเริ่มมีการปลูกพืชในเรือนกระจกเพื่อใช้ปลูกพืชเขตร้อน อีกทั้งยังมีการศึกษาเรื่องต้นไม้อย่างเป็นระบบทั้งส่วนประกอบของพืช การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการดูแลดอกไม้ต่างๆ
และในปี ค.ศ.1876 ก็มีการก่อตั้งวิทยาลัยเกษตรแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่า มหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงิน (Wageningen University & Research) เป็นอีกมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงดังไกลไปทั่วโลก ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการศึกษาเรื่องการปศุสัตว์และไม้ดอกไม้ประดับมาตั้งแต่อดีต จนปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการเกษตรของโลกไปเรียบร้อยแล้ว
โดยมหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงินยังเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศนำงานวิจัยมาปรับใช้ในพื้นที่จริง จนเกิดเป็นนวัตกรรมหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การปลูกพืชเรือนกระจก ไปจนถึงการพัฒนาสายพันธุ์ในระดับโมเลกุล ทำให้เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในการช่วยกันขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น การศึกษาจึงเปรียบเหมือนปุ๋ยที่ช่วยเร่งให้การเกษตรในเนเธอร์แลนด์ออกดอกออกผลอย่างสวยงามจนถูกเรียกว่าเป็น Food Valley ของโลก
ต่อยอดไอเดีย! กับสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่โดดเด่นที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์
เมื่อพูดถึงวงการสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็ย่อมสอดคล้องกับความโดดเด่นของประเทศ โดยมีเมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) เป็นจุดศูนย์กลางของ AgTech Statup Ecosystem ที่แข็งแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีสตาร์ทอัพด้านการเกษตรกว่า 131 บริษัท ซึ่งปัจจุบันเน้นพัฒนานวัตกรรมที่ส่งเสริมด้านการเกษตรหมุนเวียน (Circular Agriculture) และอาหารแห่งอนาคต (Future Food) สำหรับสตาร์ทอัพที่น่าจับตามองในตอนนี้ เราก็มีมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก ดังนี้
1.“Solynta” สตาร์ทอัพจากเมืองวาเคอนิงเงินที่มีความเชี่ยวชาญด้านไบโอเทคโนโลยี ซึ่งกำลังศึกษาการเพาะพันธุ์มันฝรั่งลูกผสมที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ใช้น้ำน้อยกว่า ทนทานต่อโรคและศัตรูพืชหลากหลายชนิด นับว่าเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะมันฝรั่งเป็นผลผลิตที่มีความต้องการสูง คนทั่วโลกนิยมนำไปทำอาหารในหลากหลายเมนู
2. "Connecterra" สตาร์ทอัพที่เน้นพัฒนานวัตกรรมในสายโคนม โดยใช้ AI ช่วยในการบริหารฟาร์ม ทำให้เรารู้ได้ว่าวัวแต่ละตัวมีความพร้อมในการตั้งครรภ์ตอนไหน เมื่อไหร่ที่เริ่มรีดนมได้ ไปจนถึงวิเคราะห์ได้ว่าวัวแต่ละตัวตอบสนองกับการให้อาหารในแต่ละครั้งมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการบริหารฟาร์มโดยใช้ข้อมูลแบบนี้ก็จะช่วยให้ผลผลิตมีศักยภาพมากกว่าการสังเกตด้วยตัวเอง
3.“Duijvestijn Tomaten” สตาร์ทอัพผู้คิดค้นการปลูกมะเขือเทศในเรือนกระจกโดยใช้ระบบไฮโดรโปนิกส์หรือการปลูกพืชแบบไร้ดิน ช่วยลดการใช้น้ำได้เป็นอย่างดีและสามารถปลูกได้ในหลายฤดูกาล โดยความพิเศษของสตาร์ทอัพนี้ก็คือการควบคุมอุณหภูมิในเรือนกระจกด้วยความร้อนจากใต้พื้นดิน ทำให้การทำการเกษตรเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้นและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้เต็มศักยภาพ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเส้นทางการเดินทางของผู้นำด้านเกษตรกรรมของโลกอย่างเนเธอร์แลนด์ จะเห็นได้ว่าขนาดของพื้นที่ที่แม้จะเล็กกว่าประเทศอื่นๆ หลายเท่า หรือสภาพภูมิศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกนั้น แทบไม่มีผลต่อการทำเกษตรกรรมเลย แต่การวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งในเชิงกายภาพและองค์ความรู้ต่างหาก ที่เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างแท้จริง จนนำพาให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ ถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลกนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://dutchreview.com/culture/innovation/second-largest-agriculture-exporter/
https://urbancreature.co/flood-netherlands/
https://www.hortusleiden.nl/en/the-hortus/history
http://vegansustainability.com/dutch-horticulture-industry-leads-the-world/
https://www.wur.nl/en/About-WUR/History-of-Wageningen-University-Research.htm
https://startupgenome.com/ecosystems/amsterdam
https://startupill.com/42-best-the-netherlands-agtech-startups-the-future-of-farming/
https://www.solynta.com/about-solynta/
https://www.forbes.com/sites/oliversmith/2017/11/17/how-connecterra-is-getting-thousands-of-cows-online/
https://www.longtunman.com/26520