สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ถอดบทเรียน ARV จากความสงสัยสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรม” ระดับโลก

15 กันยายน 2566 3,332

ถอดบทเรียน ARV จากความสงสัยสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรม” ระดับโลก


🤖 จากชมรมหุ่นยนต์มาสู่การเป็นบริษัทหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะชั้นนำ กับการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า “คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” 

แม้จะเพิ่งเริ่มแยกตัวออกจากบริษัทแม่ มาตั้งเป็นบริษัทได้เพียงแค่ 5 ปี แต่ ARV หรือ AI and Robotics Ventures หนึ่งธุรกิจในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กลับมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่โดดเด่นสร้างการเติบโตจนคว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ในปี 2565 ที่ผ่านมา และล่าสุดยังได้นำหุ่นยนต์ Nautilus ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับซ่อมแซมและบำรุงรักษาท่อใต้ทะเลตัวแรกของโลก ไปประกาศศักดาคว้ารางวัล Spotlight on New Technology Award ในงาน Offshore Technology Conference Asia (OTC Asia) 2022

แล้วอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จที่เกิดขึ้น วันนี้ NIA ขอพาไปทำความเข้าใจ DNA ความเป็น “กบฏ” ที่ทำให้ ARV มีวัฒนธรรมองค์กรแตกต่างจากที่อื่นๆ และเป็นหนึ่งในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย (Thailand Innovation Alliance) ที่ร่วมกับ NIA และพันธมิตรผลักดันนวัตกรรมไทยสู่ระดับสากล

จุดเริ่มต้นทั้งหมดเกิดขึ้นภายในห้องเล็กๆ ของชมรมหุ่นยนต์ ของ PTTEP ที่มีนโยบายสนับสนุนให้พนักงานมีกิจกรรมนอกเวลาทำงานมาแบ่งปันความรู้ร่วมกัน เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยให้พนักงานสามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาตามความสนใจ ซึ่งเหล่าสมาชิกชมรมได้ไอเดียมาจากการที่ได้เห็นข้อจำกัดของงานที่มีความเสี่ยง อย่างงานซ่อมบำรุงท่อส่งปิโตรเลียมที่ต้องดำน้ำลงไปใต้ทะเลลึก จึงหยิบมาเป็นโจทย์ในการพัฒนานวัตกรรม โดย PTTEP ไม่เพียงแค่เปิดพื้นที่ให้พนักงานได้คิดเท่านั้น แต่ยังมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมด้วยการสร้างสนามประลองไว้สำหรับรองรับการขยายไอเดียต่างๆ อย่างเป็นระบบ ที่ทำให้ชมรมจุดประกายไอเดียสร้างธุรกิจ AI & Robotics แตกยอดให้แก่ PTTEP

โดยบริษัทได้สร้าง 3 ขั้นตอน ได้แก่ การเปิดพื้นที่ให้ทีมเข้ามาพูดคุยว่าไอเดียที่ตั้งใจจะทำคืออะไร ต่อด้วยการวิเคราะห์ความเป็นไปได้พร้อมกับทำ Mock Up เพื่อให้เห็นตัวอย่างในการนำเสนอ สุดท้ายหากมีความเป็นไปได้บริษัทก็จะสนับสนุนให้สามารถปั้นนวัตกรรมออกมา เหมือนอย่างที่ไอเดียของชมรมหุ่นยนต์ชนะใจบอร์ดบริหาร จนทำให้ได้ก่อตั้งบริษัทลูกที่ PTTEP  ถือหุ้นในชื่อบริษัท AI and Robotics Ventures (ARV) ในปี 2561 เป็นธุรกิจที่สร้าง New S-Curve ในน่านน้ำใหม่ให้กับบริษัทแม่ต่อไป

หลังจากจัดตั้งบริษัท สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้ ARV เติบโตได้ราวกับติดจรวดคือ ภาพเป้าหมายที่ทุกคนเห็นเหมือนกัน นั่นก็คือทุกคนต้องการสร้างองค์กรไทยให้สามารถเติบโตออกไปแข่งขันในระดับโลก ภายใต้มุมมองการทำงานที่ทีม ARV ได้ให้นิยามความเป็นตัวเองไว้ว่า “เป็นเหมือนนักแข่งที่เหยียบคันเร่งที่ไม่ต้องการให้ใครตามหลัง” ซึ่งปัจจุบันนี้หุ่นยนต์ Nautilus ที่ใช้สำหรับซ่อมแซมและบำรุงรักษาท่อใต้ทะเล นับว่าเป็นนวัตกรรมที่ยังไม่มีคู่แข่งในตลาด

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ARV เป็นองค์กรที่มีความโดดเด่นกว่าคู่แข่งนั้น คือ การที่คนในองค์กรเป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าแตกต่าง หรือมี DNA ความกบฏในตัวเอง จนเกิดเป็นการตั้งคำถามที่ทลายข้อปฏิบัติหรือวิธีการเก่าๆ เพื่อสิ่งที่ดีกว่า จนเกิดเป็นหุ่นยนต์ Nautilus ที่ไม่เพียงแค่ช่วยลดความเสี่ยงในการทำงาน แต่การใช้หุ่นยนต์ยังมีความแม่นยำ ช่วยลดความเหนื่อยล้าเพื่อให้คนสามารถทำงานส่วนอื่นที่มีประสิทธิภาพ โดย ARV ยังมองว่านวัตกรรมคือโอกาสและกุญแจสำคัญที่จะช่วยเร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไทยให้สามารถก้าวพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง 

อีกทั้งพวกเขายังคิดต่างว่า การทำธุรกิจไม่ควรโฟกัสแค่ผลกำไร แต่ยังต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทำให้มีการต่อยอดพัฒนาหุ่นยนต์ไปช่วยในเรื่องของการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีโครงการบูรณาการเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายจากโดรน เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีเขียวในโครงการ OUR Khung BangKachao จนนำมาสู่การอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ปอดของกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนสีเขียวของประเทศไทย 

โดยความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการเติบโต (DeepTech Company) คือ การบริหารทรัพยากรบุคคลและองค์ความรู้ เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่านวัตกรรมขั้นสูง เป็นงานที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากการวิจัยและพัฒนารวบรวมองค์ความรู้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการที่เรียกว่า ‘การกระทบทางความคิด’ ที่ทุกคนต้องเปิดใจกว้างในการชาเลนจ์กันและกันในทีม เพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมานี้ประสบความสำเร็จ 

ARV เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นการสร้าง Innovation Culture ในองค์กร ที่ต้องมีผู้นำอย่าง CIO ที่มองเห็นเป้าหมายและสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในแต่ละฝ่าย ซึ่งแนวทางนี้แม้จะไม่ได้เป็นองค์กรผลิตหุ่นยนต์ก็สามารถนำรูปแบบการทำงานไปปรับใช้ได้ เพียงแค่ต้องเปิดพื้นที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ และสำคัญที่สุดคือ Mindset ของผู้นำและทีมที่จะต้องกล้าตั้งคำถาม ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างก้าวกระโดด 

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://award.nia.or.th/th/award-winner/2553-ai-and-robotics-ventures-co-ltd-arv 
https://2022.otcasia.org/spotlight-on-new-technology-award-winners 
https://www.youtube.com/watch?v=Bj1i1roYt7E 
https://www.youtube.com/watch?v=VAOttUwlY0Y 
https://arv.co.th/news/คิดแบบคน-arv-กับการจุดติ/ 
https://arv.co.th/news/ai-and-robotics-ventures-ธุรกิจปัญญาประดิษฐ์/