สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เปิด 5 มิตินวัตกรรมที่ใช้ AI ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

7 สิงหาคม 2566 38,094

เปิด 5 มิตินวัตกรรมที่ใช้ AI ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

แม้แต่คุณบิลล์ เกตส์ (William Henry Gates III) ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft และผู้ครองตำแหน่งมหาเศรษฐีของโลกอันดับต้น ๆ มาอย่างยาวนาน ยังตื่นเต้นกับการความสามารถและการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) ในปัจจุบัน ที่มีความก้าวล้ำสมัย และยังให้ความคิดเห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์นี้มีการพัฒนาไปเร็วกว่าที่ตนเคยคาดการณ์ไว้ และที่สำคัญในมุมมองของคุณบิลล์ เกตส์ นั้น ยังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “AI มีความสามารถในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้”

 

ในบางมุมมอง การเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึง “ปัญญาประดิษฐ์” ว่ามันเป็นสิ่งที่กำลังจะมาแทนที่มนุษย์ ในหลาย ๆ บทบาท แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยวิธีการคิดและประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง AI ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างโลกที่น่าอยู่มากขึ้นได้

 

ในขณะที่เทคโนโลยีพื้นฐานอย่างเช่น Smart Phone นั้นมีราคาย่อมเยามากขึ้น จนเป็นเรื่องที่ประชากรประมาณ 54 ล้านคนของประเทศไทยสามารถครอบครองได้ และเมื่อคุณมี Smart Phone หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้น คลังความรู้เกือบทุกศาสตร์ในโลกใบนี้จึงอยู่ในมือคุณ และทำให้การเข้าถึงเครื่องมือ AI เป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น การใช้งาน AI ยอดฮิตอย่าง “ChatGPT” อับดุลผู้รู้ทุกสิ่งโดยอ้างอิงข้อมูลถึงปี ค.ศ. 2021 (“รู้” ไม่ได้ได้แปลว่า “ถูกต้อง” ผู้ใช้งานควรใช้วิจารณญาณ และสืบค้นเพิ่มเติม) หรือ “Midjourney” แพลตฟอร์มสร้างภาพวาดเหนือจิตนาการด้วย AI ที่สามารถใช้คำสั่งเพียงไม่กี่คำ

midjourney

ภาพประกอบบทความ ตัวอย่างการออกแบบด้วย AI ผ่านเว็บไซต์ Midjourney

 

มนุษย์มีอินเทอร์เน็ตมานาน ในยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตนั้น คือช่วงปี ค.ศ. 1991-2004 ซึ่งการพัฒนาแรกเริ่มนั้น เกิดขึ้นในกลุ่มนักวิฉัย นำโดยคุณทิม เบอร์เนิร์ส-ลี (Timothy John Berners-Lee) ผู้คิดค้น World Wide Web และนักวิชาการให้คำนิยามยุคนี้ว่า “WEB 1.0” ต่อมาคุณทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ได้พัฒนาแนวคิดต่อเรื่อยมาสำหรับโลกอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งเรียกว่ายุค “WEB 3.0” ซึ่งสิ่งนี้เทียบได้กับ Generation ของอินเทอร์เน็ต

 

ถ้ามนุษย์มี Gen X, Y, Z,… แล้ว โลกอินเทอร์เน็ตก็มี Generation เช่นกัน ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ AI คือหนึ่งในปัจจัยที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการเข้าสู่ยุค “WEB 3.0” หรืออีกอย่างคือ ยิ่ง AI ฉลาดมากขึ้นเท่าไร หรือการที่เราใช้ AI มาเป็นผู้ช่วยในการทำงานได้อย่างไร้รอยต่อมากขึ้นเท่าไร (Seamless) ก็แปลว่าเรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “WEB 3.0” อย่างเต็มตัว

 

ความสามารถขั้นสูงสุดของ AI นั้นยากจะคาดเดา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว AI ไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวเท่านั้น แต่ AI ยังมีความสามารถที่จะนำมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จัดการกับความท้าทายใหม่ทางสังคม จัดหา Solutions ที่ส่งเสริมความยุติธรรม การไม่แบ่งแยก และการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีอคติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

 

เมื่อทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึง AI เท่า ๆ กัน จึงไม่มีคนได้เปรียบ ... แต่สิ่งที่จะช่วยเพิ่มความได้เปรียบให้แก่คนธรรมดาในการสร้างธุรกิจเพื่อสังคมที่มีการใช้ AI เข้ามาช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ คือ “การเลือกใช้เครื่องมืออย่างชาญฉลาด” และ “การมีแนวความคิดแบบนวัตกร” โดยสามารถใช้แนวคิดการเป็นนวัตกรที่ดี ผ่านการยึดหลัก “5I” ซึ่งได้แก่ แรงบันดาลใจ (Inspiration) จินตนาการ (Imagination) ความคิดสร้างสรรค์ (Ideation) การบูรณาการ (Integration) และ การลงมือทำจริง (Implementation)

5I

 

ตัวอย่างความเป็นไปได้ในด้านต่าง ๆ ที่ AI จะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

1. การเข้าถึงการศึกษา: เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถปรับเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ ให้เป็นรูปแบบใหม่ เทียบเท่ากับคุณมีครูผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ คอยให้คำปรึกษาส่วนตัวผ่านอุปกรณ์พกพาของคุณ ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้หลายหลาย และมีรูปแบบที่กระชับรวดเร็วขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ นอกจากนี้ AI ยังช่วยเข้ามาจัดการงานเอกสารด้านการบริการนักเรียน และงานธุรการอื่นให้เป็นไปโดยอัตโนมัติ ทำให้คุณครูมีเวลาไปสนใจกับความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น

 

“โครงการแฟมิลี่เดฟ: แพลตฟอร์มการเรียนรู้ภาษามือด้วย AI เพื่อเพิ่มโอกาสทางสังคมของผู้พิการทางการได้ยิน”

 

2. การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ: AI สามารถช่วยในการตรวจหาและวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตสำหรับทุกคน การใช้ AI เข้ามาช่วยในกระบวนการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และ ChatBot ด้านการดูแลสุขภาพที่เปิดกว้างในการใช้งาน วิธีการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้สามารถเข้าถึงประชากรที่ด้อยโอกาสและพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ ทำให้แนวโน้มค่าบริการทางการแพทย์มีราคาถูกลง และความสามารถของ AI ยังสามารถพัฒนาไปถึงขั้นสามารถปรับปรุงการให้บริการเสมือนคนมากขึ้น ลดภาวะการขาดแคลนบุคคลกรทางการแพทย์ในอนาคต

botboi

“โครงการ BOTNOI: สมาร์ทแชทบอทสำหรับปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต”

 

3. การพัฒนาอาชีพ การจับคู่งาน และการฝึกอบรม: AI สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ตลาดแรงงานและจับคู่ผู้สมัครกับโอกาสการจ้างงานที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดอัตราการว่างงาน และอัตราการลาออกจากงานได้ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มการฝึกอบรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI ยังสามารถช่วยเพิ่มทักษะให้กับพนักงานในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเกิดใหม่ได้รวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยสร้างความเท่าเทียมในการทำงานของกลุ่มเปราะบางด้วย

Vulcan

“โครงการ Vulcan: Live Chat Agent เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่สำหรับคนพิการ”

 

4. การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง และการจัดการทางการเงิน: โมเดลการประเมินเครดิต (Credit Valuation) ที่ขับเคลื่อนโดย AI สามารถให้คะแนนเครดิตที่แม่นยำ และเป็นกลาง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบุคคลที่มีประวัติเครดิตจำกัด นอกจากนี้ AI ยังช่วยในการสร้างบริการทางการเงินที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและมีราคาย่อมเยาสำหรับผู้ที่มีฐานรายได้น้อย ดังนั้น เรื่องการลงทุน “ที่เหมาะสม” ซึ่งในอดีตต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนบริหารความเสี่ยงให้ส่วนบุคคล และบริการนี้เป็นบริการที่คนรวยเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ แต่ปัจจุบันการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนเป็นเครื่องมือที่บุคคลทั่วไปสามารถนำมาใช้ได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ด้วยการพัฒนาของ AI ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ส่งเสริมการเติบโตให้กับเศรษฐกิจฐานรากและการสร้างงานในภูมิภาคหรือจังหวัดที่ยังขาดโอกาสในการพัฒนา

nonuro

“โครงการ Noburo Grow: ระบบสำหรับพัฒนาบุคลากรด้านการเงิน การงาน และการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน”

 

5. การบริหารจัดการข้อมูลเมือง การตัดสินใจนโยบายสาธารณะ การบรรเทาภัยพิบัติ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม: การนำ AI มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและจัดการข้อมูลเมืองที่มีอยู่มากมายแต่กระจัดกระจาย จะช่วยให้ผู้ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายต่าง ๆ สามารถเห็นความเชื่อมโยงของข้อมูล อีกทั้งความสามารถของ AI ที่ใช้ข้อมูลสถิติและความสามารถในการประมวลผลที่รวดเร็วนั้น ยังสามารถช่วยเฝ้าระวัง หรือคาดการณ์เหตุการณ์อันตราย รวมถึงเสนอแนวทางป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้สามารถบรรเทาทุกข์และสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ ส่งเสริมวิธีการแก้ปัญหาระดับเมืองด้วยแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

24-hi-care-center

“โครงการ 24 HI-CARE CENTER: ระบบสายตรวจอัจฉริยะ”

 

จะเห็นได้ว่าความสามารถของ AI ส่วนใหญ่ออกแบบมาเพื่อการตัดสินใจผ่านข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อลดอคติในกระบวนการต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลัง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่า “AI ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม” แต่ “AI คือ เครื่องมือ” ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้บรรลุการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้พัฒนาและผู้ใช้เครื่องมือนี้ ต้องคำนึงถึงจริยธรรม และต้องทำภายใต้ความรับผิดชอบ ด้วยอัลกอริทึมที่โปร่งใส และมีการประเมินอย่างต่อเนื่องสำหรับการลดอคติและสร้างความเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการกำหนดกรอบนโยบายเพื่อควบคุมการใช้ AI และตรวจสอบให้แน่ใจว่า เรากำลังดำเนินการพัฒนาอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มิเช่นนั้น AI อาจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ถ่างออกไปมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับผู้ที่มีแนวคิดและนวัตกรรมในการนำ AI เข้ามาช่วยพัฒนาให้สังคมดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในมิติใด ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) พร้อมสนับสนุนท่าน เปลี่ยนไอเดียเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยสังคมได้จริง โดยสามารถติดตามรายละเอียดการประกาศให้ทุนสนับสนุนโครงการได้ที่ https://social.nia.or.th/ 

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

รูปภาพประกอบบทควม

 

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)